กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--กทม.
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร กำหนดจัดพิธีมหาพุทธาเทวาภิเษกพระเสาชิงช้า (พระศรีศากยมุนี — พระตรีมูรติ) ที่ระลึกในงานฉลองเสาชิงช้าใหม่ พ.ศ.2550 ในวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2550 เวลา 15.00 — 23.09 น. โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม เป็นประธานจุดเทียนชัย พระคณาจารย์ 108 รูป ที่นิมนต์มาจากทั่วประเทศนั่งปรกครั้งละ 36 รูป อาทิ หลวงพ่อสมเกียรติ วัดทินกรนิมิตร , หลวงพ่อเอื้อน วัดสามพระยา, หลวงพ่อชูชาติ วัดท่าไทร, หลวงพ่อสุทิน วัดธรรมมิการาม, หลวงปู่ทิม วัดพระขาว, หลวงพ่อเฉลิม วัดญาติการาม, หลวงพ่อน้ำฝน วัดไผ่ล้อม เป็นต้น จนถึงเวลา 23.09 น. พระวิสุทธิบดี เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ประกอบพิธีดับเทียนชัย และประพรมน้ำมนต์โดยใช้น้ำมนต์นครฐานสูตรกรุงรัตนโกสินทร์ 225 ปี ที่ กทม.จัดทำขึ้นในครั้งนี้ประพรมเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้แก่พระเสาชิงช้า พร้อมทั้งจัดเตรียมน้ำมนต์จำนวน 1 แสนหลอด เพื่อแจกจ่ายให้แก่มาร่วมพิธีด้วย
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประทานมวลสารมงคล เพื่อใช้ในการจัดสร้างพระเสาชิงช้า ซึ่งตนและคณะผู้บริหาร กทม. ได้เข้าเฝ้ารับประทานมวลสารเมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา ณ ตึกสามัคคีธรรม โรงพยาบาลจุฬา เขตปทุมวัน
นายอภิรักษ์ กล่าวด้วยว่า มวลสารที่ได้รับประทานมาจากสมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นมวลสารมงคลที่มีความศักดิ์สิทธ์เป็นอย่างยิ่ง โดยพระองค์ได้ตั้งอธิษฐานจิตจนครบ 3 วัน ก่อนจะประทานให้ กทม. นำมาจัดสร้างพระ สำหรับมวลสารหลักของพระเสาชิงช้า ประกอบด้วย มวลสารเสาชิงช้าต้นเก่า และมวลสารของเสาชิงช้าต้นใหม่ซึ่งเป็นไม้สักทองอายุกว่า 100 ปี รวมกับมวลสารที่เป็นมงคลอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งรวบรวมมาจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละ 9 วัด โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ร่วมกันเขียนยันต์ลงผง ผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงมหาราช และมวลสารจากการจัดสร้างวัตถุมงคลในวโรกาสที่สำคัญ ได้แก่ 90 พรรษาสมเด็จย่า, 60 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ, 72 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ 72 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ
การผลิตพระเสาชิงช้าจะเน้นความละเอียดประณีตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การบดมวลสารศักดิ์สิทธิเป็นผงละเอียด จากนั้นนำไปอบแห้ง ผสมมวลสารเข้าด้วยกันโดยใช้เครื่อง ผสมเข้ากับน้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว กล้วยน้ำว้าบด และกาวเพื่อสมานเนื้อพระผงให้เข้ากัน จากนั้นนำไปใส่เครื่องพิมพ์แบบอัดแห้ง โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการพิมพ์พระทุกองค์ให้มั่นใจว่ามีความสวยงามสมบูรณ์ จากนั้นผึ่งไว้ให้แห้งประมาณ 2 วัน แล้วนำไปปัดทอง และใส่กล่อง เพื่อรอเข้าพิธีปลุกเสกในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ ณ ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร