กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--สวทช.
เปิดฉากแล้วสำหรับฤดูกาลการประกาศรางวัลโนเบล ประจำปี 2553 เริ่มต้นด้วยสมัชชาโนเบลที่สถาบันแคโรลินสกา (The Nobel Assembly at the Karolinska Institute) ประกาศมอบรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ให้แก่ ศ.โรเบิร์ต เอ็ดเวิดส์ (Robert Edwards) นักสรีรวิทยา จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ในฐานะผู้วิจัยร่วมกับแพทริกค์ สเต็ปโท (Patrick Steptoe) คิดค้นวิธีการผสมเทียมในจานทดลองหรือ เด็กหลอดแก้ว พร้อมทั้งประสบความสำเร็จในการช่วยให้กำเนิดเด็กเพศหญิงที่ชื่อ หลุยส์ บราวน์ เด็กหลอดแก้วคนแรกของโลก เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 โดยปัจจุบันทั่วโลกมีเด็กหลอดแก้วเกิดขึ้นแล้วถึง 4 ล้านราย
สำหรับในประเทศไทยได้มีการนำเทคโนโลยีการทำเด็กหลอดแก้ว มาช่วยเหลือผู้มีบุตรยากจำนวนไม่น้อย และยังมีการวิจัยคิดค้นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ศ.นพ.ประมวล วีรุตมเสน ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ที่ประสบความสำเร็จทำเด็กหลอดแก้วคนแรกของประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเทคนิคการทำเด็กหลอดแก้วพัฒนาไปมาก ต่างจากเมื่อก่อนที่ทำค่อนข้างยาก สูตรน้ำยาเลี้ยงตัวอ่อนภายนอกยังเป็นข้อมูลที่ไม่เปิดเผย อีกทั้งการเตรียมน้ำยาเลี้ยงตัวอ่อนก็ทำได้ยาก คือน้ำที่ใช้ต้องมีความบริสุทธิ์จริงๆ หากเตรียมน้ำเลี้ยงได้ไม่ดี ตัวอ่อนจะตาย โอกาสเลี้ยงตัวอ่อนได้สำเร็จในอดีตจึงน้อยมาก นอกจากนี้ ทุกวันนี้เรายังมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการนำไข่ออกจากรังไข่โดยการส่องกล้อง ซึ่งสามารถคัดคุณภาพของตัวอ่อนและไข่ที่สมบูรณ์ได้ เด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีผสมเทียมนี้มีความปกติเหมือนกับเด็กที่เกิดธรรมชาติ ทำให้สังคมยอมรับ มีความเข้าใจและเชื่อมั่นในเทคโนโลยีเด็กหลอดแก้วมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีด้านนี้จะต้องพัฒนาต่อไปในอนาคตอีกมาก
"ผมคิดว่ามนุษย์เราสามารถเอาชนะธรรมชาติในเรื่องการเจริญพันธุ์ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก ซึ่งผู้ที่เกิดจากเทคโนโลยีเด็กหลอดแก้ว ก็ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ สามารถมีลูกได้ ใช้ชีวิตได้ตามปกติ และบางคนมีไอคิวดีกว่าเด็กที่เกิดแบบธรรมชาติด้วยซ้ำ แต่ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าจะให้คนมาทำเด็กหลอดแก้วเพื่อให้ลูกมีไอคิวที่ดี เพราะสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูด้วย" ศ.นพ. ประมวล กล่าวและว่า ทั้งนี้ในส่วนของคู่รักที่แต่งงานกันแล้วมีปัญหาเรื่องมีบุตรยาก อยากให้คิดถึงความจำเป็นในการมีบุตรด้วย เพราะค่าใช้จ่ายการทำเด็กหลอดแก้วจะสูง แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ต้องมองเรื่องของอายุของผู้หญิงตามมา โดยไม่ควรให้อายุเกิน 35 ปี หากเกินจากนี้จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำเด็กหลอดแก้วนั้นลดลงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
สำหรับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ปีนี้ ที่ให้กับศ.โรเบิร์ต เอ็ดเวิดส์ ในฐานะเป็นผู้คิดค้นวิธีการทำเด็กหลอดแก้วนั้น ศ.นพ.ประมวล กล่าวว่า "ที่จริงท่านน่าจะได้รางวัลนี้มาตั้งนานแล้ว เพราะถือเป็นความหวังสำหรับผู้ที่มีบุตรยากเป็นสิบๆ ล้านคน ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ก็มีเด็กหลอดแก้วที่เกิดขึ้นกว่า 2 ล้านคน ซึ่งรางวัลนี้จะมีส่วนให้นักวิทยาศาสตร์ รุ่นหลังมีความพยายามและมีแรงบันดาลใจในการทำงานจากการได้เห็นแบบอย่างที่ดี"
ด้าน นพ.สมชาย สุวจนกรณ์ สูติ-นรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า การที่ ศ.โรเบิร์ต เอ็ดเวิดส์ ได้รับรางวัลโนเบลนับเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง ถือเป็นการค้นพบเทคโนโลยีที่เป็นการข้ามพ้นขีดจำกัดของธรรมชาติ เป็นเทคนิคพื้นฐานที่นำมาสู่การพัฒนาแนวทางการรักษาใหม่ๆ ให้คู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยากได้มีบุตรสมดังหวัง
“การทำเด็กหลอดแก้วของเอ็ดเวิดส์สมัยนั้น ใช้วิธีการเก็บไข่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ คือเมื่อถึงช่วงการตกไข่ จะมีการเปิดแผลที่หน้าท้องเล็กๆ แล้วใช้กล้องส่องเข้าไปเก็บไข่ออกมาปฏิสนธิกับอสุจิในจานแก้วนอกร่างกาย หลังจากนั้นจึงถ่ายไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วไปยังมดลูกของผู้ป่วย เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ ขณะที่การทำเด็กหลอดแก้วในปัจจุบันมีพัฒนาการมากขึ้น คือเราสามารถฉีดยาเพื่อกระตุ้นให้ไข่สุกหลายๆใบ (เฉลี่ยประมาณ 10 ใบต่อครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ถูกกระตุ้น) และใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ในการเก็บไข่ เพื่อนำมาปฏิสนธิกับอสุจิที่เตรียมไว้ให้เกิดตัวอ่อนจำนวนมากในครั้งเดียว จากนั้นเลี้ยงตัวอ่อนภายนอกร่างกายประมาณ 2-5 วัน เพื่อให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตจนถึงระยะพร้อมจะฝังตัว จึงนำไปใส่คืนในโพรงมดลูก ซึ่งวิธีนี้มีข้อดีคือทำให้การใส่ตัวอ่อนกลับในโพรงมดลูกสามารถทำได้มากกว่า 1 ตัวอ่อน(เฉลี่ยครั้งละ 2-3 ตัวอ่อน) เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์”
นพ.สมชาย กล่าวต่อว่า หากย้อนไปในช่วงการนำเทคโนโลยีเด็กหลอดแก้วมาใช้ใหม่ๆ ประชาชนยังไม่ยอมรับเท่าที่ควร เพราะหนึ่งในแง่ของความเชื่อหลายคนมองว่าอาจเป็นการฝ่าฝืนกฎธรรมชาติหรือเอาชนะพระเจ้า สองคือปัญหาในเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากการทำเด็กหลอดแก้วเป็นเทคโนโลยีที่อยู่นอกร่างกาย จึงกังวลว่าเด็กที่เกิดมาจะผิดปกติ ต่างจากเด็กที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือไม่ แต่จากการรวบรวมหลักฐานจนถึงวันนี้พบว่ายังไม่มีความแตกต่างกันระหว่างเด็กที่เกิดจากธรรมชาติกับเด็กที่เกิดจากกระบวนการเด็กหลอดแก้ว ดังจะเห็นได้จาก หลุยส์ บราวน์ เด็กหลอดแก้วคนแรกของโลกที่ยังมีร่างกายปกติและมีลูกแล้วถึงสองคน เทคโนโลยีการทำเด็กหลอดแก้วจึงเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกแล้วในขณะนี้
“ทุกวันนี้เราสามารถกระตุ้นไข่ได้ เก็บไข่ได้ ช่วยให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกได้ เลี้ยงตัวอ่อนได้ แต่อัตราความสำเร็จเพิ่มขึ้นจากในอดีตเล็กน้อยอยู่ที่ 25-30% เท่านั้น เพราะหนึ่งเรายังไม่สามารถพัฒนาคุณภาพไข่ได้ เนื่องจากคนไข้ที่เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุที่ค่อนข้างสูงประมาณ 38-42 ปี คุณภาพไข่จึงค่อนข้างต่ำ และสองเมื่อนำไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิใส่เข้าไปในมดลูกแล้ว บางครั้งตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวได้ การตั้งครรภ์จึงไม่ประสบความสำเร็จ ถือเป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังที่ต้องช่วยกันคิดค้นวิจัยไขคำตอบให้ได้ว่าตัวอ่อนมีกลไกการฝังตัวอย่างไร เพื่อให้การรักษาผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากมีความก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
อย่างไรก็ดีความสำเร็จในการคิดค้นเทคนิคการทำเด็กหลอดแก้วของเอ็ดเวิดส์นับเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการแพทย์ เพราะต้องยอมรับว่าไม่มีใครคาดคิดว่าจะทำการปฏิสนธิภายนอกร่างกายได้จริง และผลจากความสำเร็จครั้งนี้ได้ช่วยให้คู่สมรสนับล้านสามารถมีบุตรด้วยตนเองได้ สำหรับในประเทศไทยเองมีเด็กหลอดแก้วเกิดขึ้นเฉลี่ย 800-1,000 รายต่อปี ดังนั้น หากมีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ๆ คิดค้นแนวคิดแบบนี้ไปได้เรื่อยๆ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์อย่างยิ่ง นพ.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย