เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาการบริจาคเพื่อ
การยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเงินได้ ทรัพย์สิน หรือสินค้าที่บริจาค
เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓
ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น
เป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าที่บริจาค เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
_____________________________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 513) พ.ศ. 2554 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาการบริจาคเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าที่บริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สินหรือสินค้าที่บริจาค เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประกาศนี้
ข้อ 2 การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา ๔๗ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) แห่งประมวลรัษฎากร เท่าจำนวนเงินที่บริจาคแต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา ๔๗ (๗) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ข้อ 3 การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๓) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วต้องไม่เกินร้อยละสองของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ข้อ 4 การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่ผู้ประกอบการได้นำไปบริจาคโดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นตัวแทนเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553
ข้อ 5 การบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ ๒ ข้อ 3 และข้อ 4 ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาการบริจาค ดังต่อไปนี้
(๑) ต้องเป็นการบริจาคโดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
(๒) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่เป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตาม (๑) ต้องดำเนินการในลักษณะเป็นสื่อกลางอย่างเปิดเผยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
(๓) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่ดำเนินการในลักษณะเป็นสื่อกลางในการเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ตาม (๒) ที่มิใช่ส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล หรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามมาตรา ๔๗ (๗) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แจ้งชื่อต่ออธิบดีกรมสรรพากร (ผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี หรือผ่านสรรพากรพื้นที่) แสดงว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการในลักษณะเป็นสื่อกลางในการเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าดังกล่าว
กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ได้ร่วมกันเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าที่บริจาค เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และผู้ที่ทำหน้าที่ออกหลักฐานการรับบริจาค หรือผู้ที่ดำเนินการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อรับบริจาค เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล หรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามมาตรา ๔๗ (๗) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นนั้นเป็นผู้แจ้งชื่อของตนเองต่ออธิบดีกรมสรรพากร (ผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษีหรือผ่านสรรพากรพื้นที่) แต่ถ้าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นนั้นได้แจ้งชื่อในฐานะที่เป็นตัวแทนการรับบริจาคแยกต่างหากตามวรรคหนึ่งแล้ว ก็ไม่ต้องดำเนินการแจ้งชื่อในกรณีนี้อีก
การแจ้งชื่อตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้แจ้งตามแบบคำขอแจ้งเป็นตัวแทนรับบริจาคที่มีข้อความอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศนี้ เว้นแต่ กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล หรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามมาตรา ๔๗ (๗) (ข)แห่งประมวลรัษฎากร ได้แจ้งชื่อการเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยต่ออธิบดีกรมสรรพากรแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553 ถึงวันที่ก่อนวันที่ที่ลงในประกาศนี้ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นนั้นได้แจ้งชื่อตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้วโดยไม่ต้องแจ้งชื่ออีก
(๔) หลักฐานการบริจาคที่ผู้บริจาคจะนำมาใช้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน และเพื่อการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคสินค้า แล้วแต่กรณี ได้แก่
(ก) หลักฐานการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวแทนในการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าที่บริจาค ได้จัดทำขึ้นเพื่อแสดงการรับเงิน ทรัพย์สินหรือสินค้า ที่ระบุข้อความที่มีสาระสำคัญว่า เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ ๑กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ หรือข้อความอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน หรือ
(ข) หลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารระหว่างวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวแทนในการรับบริจาคดังกล่าวได้เปิดบัญชีธนาคารขึ้นเพื่อรับเงินบริจาค โดยผู้บริจาคต้องมีหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารดังกล่าวที่พิสูจน์ได้ว่าตนเองเป็นผู้บริจาค
กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่เป็นตัวแทนรับบริจาคเป็นผู้บริจาคด้วยให้แสดงหลักฐานตาม (ก) และ (ข) เป็นหลักฐานการบริจาคเพื่อใช้ยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วแต่กรณี โดยจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีการบริจาคจริง
ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคทรัพย์สินหรือสินค้า ต้องมีหลักฐานการได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือสินค้าที่บริจาค ที่ระบุจำนวนและมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้าที่บริจาคนั้น เช่น ใบกำกับภาษี ใบรับเงินที่ได้ซื้อทรัพย์สินหรือสินค้ามาบริจาค เป็นต้น หรือหลักฐานอื่นที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าหรือเป็นผู้ขายสินค้าที่บริจาคที่แสดงต้นทุนสินค้านั้นได้ ซึ่งจะต้องเป็นทรัพย์สินหรือสินค้ารายการเดียวกับที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่เป็นตัวแทนในการรับทรัพย์สินหรือสินค้าออกเป็นหลักฐานในการรับบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้านั้นให้แก่ผู้บริจาค
(๕) ภายหลังจากการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หากยังมีเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าเหลืออยู่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่ได้แจ้งชื่อต่ออธิบดีกรมสรรพากรตาม (๓) ต้องส่งมอบเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าดังกล่าวให้แก่ส่วนราชการ หรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามมาตรา ๔๗ (๗) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๖ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่ได้แจ้งชื่อต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามข้อ 5 (๓) ต้องจัดส่งเอกสารหลักฐานให้แก่อธิบดีกรมสรรพากร (ผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี หรือผ่านสรรพากรพื้นที่) ได้แก่ สำเนาบัญชีการรับเงินบริจาคซึ่งต้องแยกออกจากบัญชีการดำเนินงานตามปกติ สำเนาบัญชีแสดงรายการจ่ายค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และสำเนารายชื่อผู้บริจาคที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าดังกล่าว ได้ออกหลักฐานการรับบริจาคให้ โดยให้จัดส่งภายในวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕4
สาธิต รังคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
อธิบดีกรมสรรพากร