เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๒๐๓)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้
ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบหรือความเสียหายจากหรือเนื่องมาจากการเกิดเพลิงไหม้
อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองในระหว่างวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
-----------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓ มาตรา ๔ และมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒๔) พ.ศ. ๒๕๕๔ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบหรือความเสียหายจากหรือเนื่องมาจากการเกิดเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองในระหว่างวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา ๓ มาตรา ๔ และมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒๔) พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประกาศนี้
ข้อ ๒ บุคคลธรรมดาที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๕) (๖) (๗) หรือ (๘) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔๘ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดานำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักตามมาตรา ๔๒ ทวิ ถึงมาตรา ๔๖ แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว
ข้อ ๓ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่คำนวณเสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิตามมาตรา ๖๕ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ ๔ บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิสูจน์การได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๓ มาตรา ๔ หรือ มาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒๔) พ.ศ.๒๕๕๔ แล้วแต่กรณี พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
สาธิต รังคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
อธิบดีกรมสรรพากร