พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒๘)
พ.ศ. ๒๕๕๔
--------------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔
เป็นปีที่ ๖๖ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒๘) พ.ศ. ๒๕๕๔”
มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกินห้าล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน เป็นจำนวนเท่ากับภาษีเงินได้ที่คำนวณจากเงินได้สุทธิหรือที่ต้องชำระก่อนการคำนวณเครดิตภาษี แต่ไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์นั้น
มาตรา ๔ ผู้มีเงินได้ที่จะได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๓ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้มีเงินได้ต้องจ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดในระหว่างวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ และมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นให้แล้วเสร็จภายในช่วงเวลาดังกล่าว
(๒) ผู้มีเงินได้ต้องใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ครั้งแรกภายในห้าปีภาษีนับแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ และต้องใช้สิทธิดังกล่าวเป็นเวลาห้าปีภาษีต่อเนื่องกันโดยให้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละปีภาษี
(๓) ผู้มีเงินได้ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยมาก่อน
(๔) ผู้มีเงินได้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องไม่เคยมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาก่อน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(๕) ผู้มีเงินได้ต้องไม่เคยเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อเช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย
(๖) ผู้มีเงินได้ต้องไม่เคยเป็นผู้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่อยู่อาศัยเดิมและซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยใหม่ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๔๑ (พ.ศ. ๒๕๔๖) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และต้องไม่เคยเป็นผู้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๗๑ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๕ ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้มีเงินได้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา ๔ ในปีภาษีใด ให้สิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สิ้นสุดลง ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษีแรกที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ และให้ถือว่าไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลา และให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งจุดห้าต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งสำหรับภาษีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมาแล้วด้วย
มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนที่ไม่เคยมีที่อยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตน สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกินห้าล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน ในระหว่างวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นจำนวนเท่ากับภาษีเงินได้ที่คำนวณจากเงินได้สุทธิหรือที่ต้องชำระก่อนการคำนวณเครดิตภาษี แต่ไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์นั้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๘๒ ก วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔)