พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 529) พ.ศ. 2554

ข่าวการเมือง Wednesday December 21, 2011 12:10 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒๙)

พ.ศ. ๒๕๕๔

--------------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

เป็นปีที่ ๖๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ บางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒๙) พ.ศ. ๒๕๕๔”

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ดังต่อไปนี้

(๑) สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา ๔๗ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) แห่งประมวลรัษฎากรเป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของเงินที่บริจาค โดยคิดคำนวณเพิ่มขึ้นจากจำนวนเงินบริจาคตามมาตรา ๔๗ (๗) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเงินบริจาคที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามข้อ ๒ (๗๐) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๕๓ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร หรือเงินบริจาคตามมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๔ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา ๔๗ (๗) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น

(๒) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของเงินหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาค โดยคิดคำนวณเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือการสาธารณประโยชน์ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๓) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเงินหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาค ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๔ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือการสาธารณประโยชน์ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๓) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสองของกำไรสุทธิ

มาตรา ๔ การบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตามมาตรา ๓ ต้องเป็นการบริจาค

(๑) แก่ส่วนราชการ หรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามมาตรา ๔๗ (๗) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ

(๒) ที่เป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือการสาธารณประโยชน์ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๓) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ

(๓) ที่มีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๔

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีอุทกภัยร้ายแรงเกิดขึ้น ในหลายจังหวัดของประเทศไทย ทำให้ประชาชนต้องประสบความเดือดร้อนในการดำรงชีพเป็นอย่างมากและจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในด้านความเป็นอยู่และเยียวยาฟื้นฟูในด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้มีการให้ความช่วยเหลือเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่จะนำไปใช้ ในการนี้ สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยดังกล่าวที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๙๓ ก ราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๔)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ