กฎกระทรวงฉบับที่ 285(พ.ศ. 2554) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

ข่าวการเมือง Tuesday December 13, 2011 15:21 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

กฎกระทรวง

ฉบับที่ ๒๘๕ (พ.ศ. ๒๕๕๔)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

-----------------------------------

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๑๓ และมาตรา ๔๒ (๑๗)แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๘๓) ของข้อ ๒ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

“(๘๓) เงินได้ที่คำนวณได้จากมูลค่าที่ลูกจ้างได้รับจากการนำบุตรชอบด้วยกฎหมายของตนแต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมไปอยู่ในความดูแลของสถานรับเลี้ยงเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กที่นายจ้างได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างสำหรับ สถานประกอบการนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป”

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพการศึกษาของเด็กปฐมวัยตามแผนปฏิรูปประเทศไทยโดยการสนับสนุนให้ลูกจ้างได้นำบุตรของตนไปอยู่ในความดูแลของสถานรับเลี้ยงเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กที่นายจ้างได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างสำหรับสถานประกอบการนั้น สมควรกำหนดให้เงินได้ที่คำนวณได้จากมูลค่าที่ลูกจ้างได้รับจากการนำบุตรของตนไปอยู่ในความดูแลของสถานรับเลี้ยงเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กที่นายจ้างได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างสำหรับสถานประกอบการนั้น เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูบุตรของลูกจ้าง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๘๙ ก วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๔)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ