เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๑๘๗)
เรื่อง กำหนดฐานภาษี ประเภท และชนิดยาสูบ ซึ่งการขายยาสูบตามประเภทและชนิดดังกล่าวต้อง
คำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามหลักเกณฑ์ในมาตรา ๗๙/๕ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร
----------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗๙/๕ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔ อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดฐานภาษี ประเภท และชนิดยาสูบ ซึ่งการขายยาสูบตามประเภทและชนิดดังกล่าวต้องคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามหลักเกณฑ์ในมาตรา ๗๙/๕(๒) แห่งประมวลรัษฎากรไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๑๐) เรื่อง กำหนดประเภทและชนิดยาสูบซึ่งการขายยาสูบตามประเภทและชนิดดังกล่าวต้องคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามหลักเกณฑ์ในมาตรา ๗๙/๕ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๒๖) เรื่อง กำหนดประเภทและชนิดยาสูบซึ่งการขายยาสูบตามประเภทและชนิดดังกล่าวต้องคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามหลักเกณฑ์ในมาตรา ๗๙/๕ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕
ข้อ ๒ ในประกาศนี้
“ค่าการตลาด” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร แต่ไม่รวมถึง อากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา ๗๗/๑ (๑๙) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยคำนวณเฉลี่ยตามสัดส่วนของยอดขายยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตแต่ละชนิดของรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะมีวิธีการคำนวณอื่นที่เหมาะสมกว่าวิธีการคำนวณเฉลี่ยตามสัดส่วนของยอดขายยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตแต่ละชนิด
“ราคา ซี.ไอ.เอฟ.” หมายความว่า ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ตามมาตรา ๗๙/๒ (๑) วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ ๓ กำหนดให้การขายยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ทั้งที่ผลิตโดยผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบที่เป็นองค์การของรัฐบาลและที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นการขายยาสูบที่ต้องคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามหลักเกณฑ์ในมาตรา ๗๙/๕ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ ๔ ฐานภาษีสำหรับการขายยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตโดยผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบที่เป็นองค์การของรัฐบาล ได้แก่ มูลค่าของยาสูบที่ได้มาจากการหักจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีกของยาสูบ โดยให้คำนวณจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในจำนวนเต็มของราคาขายปลีก ราคาขายปลีกตามวรรคหนึ่งคำนวณได้จากมูลค่าดังต่อไปนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
(๑) ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบ บวกด้วย ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา ๗๗/๑ (๑๙) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด และค่าการตลาด
(๒) ราคาเฉลี่ยของราคาตลาดที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
ข้อ ๕ ฐานภาษีสำหรับการขายยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตที่นำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ มูลค่าของยาสูบที่ได้มาจากการหักจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีกของยาสูบ โดยให้คำนวณจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในจำนวนเต็มของราคาขายปลีก ราคาขายปลีกตามวรรคหนึ่งคำนวณได้จากมูลค่าดังต่อไปนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
(๑) ราคา ซี.ไอ.เอฟ. บวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา ๗๗/๑ (๑๙) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด และค่าการตลาด
(๒) ราคาเฉลี่ยของราคาตลาดที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
ข้อ ๖ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบที่เป็นองค์การของรัฐบาล และผู้นำเข้า ซึ่งขายยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) แจ้งราคาขายปลีกตามข้อ ๔ หรือข้อ ๕ แล้วแต่กรณี พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดวิธีการคำนวณราคาขายปลีกดังกล่าวเป็นหนังสือต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ภายในวันที่ ๑ มิถุนายนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายนของทุกปี และให้ใช้ราคาขายปลีกตามข้อ ๔ หรือข้อ ๕ แล้วแต่กรณีในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายนของปีถัดไป
(๒) กรณีมีการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกซึ่งใช้ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามข้อ ๔ หรือข้อ ๕ เนื่องจากราคาเฉลี่ยของราคาตลาดที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น อากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา ๗๗/๑ (๑๙) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัดเปลี่ยนแปลงไป ให้แจ้งการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีก พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดวิธีการคำนวณราคาขายปลีกดังกล่าวเป็นหนังสือต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ภายในกำหนดเวลา ๓๐ วันก่อนวันที่มีการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีก และให้ใช้ราคาขายปลีกตามที่แจ้งการเปลี่ยนแปลงไว้ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตั้งแต่วันที่ ๑ ของเดือนถัดจากเดือนที่แจ้งเป็นต้นไป
(๓) แจ้งราคาขายปลีกที่ใช้เป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต ให้ผู้ประกอบการที่ซื้อยาสูบดังกล่าวเพื่อนำไปขายต่อทุกทอดทราบด้วย
ข้อ ๗ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีของยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบที่เป็นองค์การของรัฐบาลและผู้นำเข้า ซึ่งขายยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต แจ้งราคาขายปลีกตามข้อ ๖ ครั้งแรกภายในกำหนดเวลา ๓๐ วันนับถัดจากวันที่ที่ลงในประกาศนี้ และให้ใช้ราคาขายปลีกที่แจ้งไว้ ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตั้งแต่วันที่ ๑ ของเดือนถัดจากเดือนที่แจ้งถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายนของปีถัดไป
ข้อ ๘ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ที่ลงในประกาศนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
สาธิต รัคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
อธิบดีกรมสรรพากร