ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๕๑)
พ.ศ. ๒๕๕๕
-----------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕
เป็นปีที่ ๖๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๕๑) พ.ศ. ๒๕๕๕”
มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการรวมกันไม่เกินสามสิบล้านบาทต่อปีในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ เฉพาะที่ได้จากการขายทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ และได้ซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องจักรเก่าที่ขายไปภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
(๑) กรณีซื้อเครื่องจักรใหม่ก่อนการขายเครื่องจักรเก่า ต้องซื้อเครื่องจักรใหม่ภายในหนึ่งปีก่อนวันที่ขายเครื่องจักรเก่า
(๒) กรณีซื้อเครื่องจักรใหม่ภายหลังจากการขายเครื่องจักรเก่า ต้องซื้อเครื่องจักรใหม่ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ขายเครื่องจักรเก่า
เมื่อมีการขอยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าตามวรรคหนึ่งแล้ว ห้ามมิให้นำมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือของเครื่องจักรเก่าที่ได้ขายไปมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
การขายเครื่องจักรเก่าและการซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทนตามวรรคหนึ่งต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
มาตรา ๔ เครื่องจักรเก่าที่ขายไปตามมาตรา ๓ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) เป็นเครื่องจักรที่ได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงาน
(๒) เป็นเครื่องจักรที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม กฎหมายว่าด้วย การส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(๓) เป็นเครื่องจักรที่ใช้สิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา ๔ เอกาทศ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ ๑๔๕) พ.ศ. ๒๕๒๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ ๕๓๗) พ.ศ. ๒๕๕๕
(๔) เป็นเครื่องจักรที่เกิดจากรายจ่ายซึ่งได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๒๙๗) พ.ศ. ๒๕๓๙
(๕) เป็นเครื่องจักรที่เกิดจากรายจ่ายตามมาตรา ๖๕ ตรี (๕) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
มาตรา ๕ เครื่องจักรใหม่ที่ซื้อเพื่อทดแทนเครื่องจักรเก่าที่ขายไปต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) เป็นเครื่องจักรที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
(๒) เป็นเครื่องจักรประเภทเดียวกับเครื่องจักรเก่าที่ขายไปและมีประสิทธิภาพในการผลิตที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเครื่องจักรเก่าที่ขายไป
มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดหาเครื่องจักรใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าสูงขึ้น เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ สมควรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้ว และมีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการขายทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทน ทั้งนี้ เฉพาะการขายทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 129 ตอนที่ 106 ก วันที่ 14 พฤศจิกายน 2555)