ที่ ป. ๑๔๕/๒๕๕๕
เรื่อง การคำนวณฐานภาษีสำหรับการนำเข้าและการขายยาสูบตามประเภท
และชนิดที่อธิบดีกำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรีตามมาตรา ๗๙/๕ แห่งประมวลรัษฎากร และ
การจัดทำใบกำกับภาษีกรณีการขายยาสูบตามมาตรา ๘๖/๕(๒) แห่งประมวลรัษฎากร
------------------------
เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้ประกอบการจดทะเบียน กรณีการคำนวณฐานภาษีสำหรับการนำเข้าและการขายยาสูบตามประเภทและชนิดที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ตามมาตรา ๗๙/๕ แห่งประมวลรัษฎากร และการจัดทำใบกำกับภาษีกรณีการขายยาสูบ ตามมาตรา ๘๖/๕(๒) แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.๘๕/๒๕๔๒เรื่อง การคำนวณฐานภาษีสำหรับการนำเข้าและการขายยาสูบตามประเภทและชนิดที่อธิบดีกำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรีตามมาตรา ๗๙/๕ แห่งประมวลรัษฎากร และการจัดทำใบกำกับภาษีกรณีการขายยาสูบตามมาตรา ๘๖/๕(๒) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒
ข้อ ๒ ในคำสั่งนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
(๑) “ค่าการตลาด” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร แต่ไม่รวมถึงอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา ๗๗/๑ (๑๙) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด และไม่รวมถึงกำไรของกิจการ โดยการคำนวณค่าการตลาดให้คำนวณเฉลี่ยตามสัดส่วนของยอดขายยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตแต่ละชนิดของรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะแสดงให้เห็นว่า มีวิธีการคำนวณอื่นที่เหมาะสมกว่าวิธีการคำนวณเฉลี่ยตามสัดส่วนของยอดขายยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตแต่ละชนิด
(๒) “ราคา ซี.ไอ.เอฟ.” หมายความว่า ราคาสินค้าบวกด้วยค่าประกันภัยสินค้าเสียหายในขณะขนส่ง และค่าขนส่งถึงด่านศุลกากรที่นำสินค้านั้นเข้ามาในราชอาณาจักร ตามมาตรา ๗๙/๒ (๑) วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร
(๓) “ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบ” หมายความว่า ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมยาสูบไม่รวมภาษี ตามมาตรา ๕ ตรี(๑) วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙
(๔) “ราคาเฉลี่ยของราคาตลาดที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น” หมายความว่า ราคาตลาดของยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตแต่ละชนิดที่ผู้บริโภคทั่วๆ ไปหรือเป็นส่วนใหญ่ซื้อจากผู้ค้ายาสูบที่มีการจัดจำหน่ายกันตามความเป็นจริงทั่วไป ณ วันที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบที่เป็นองค์การของรัฐบาลและผู้นำเข้า แจ้งราคาขายปลีกซึ่งใช้ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษี
ตัวอย่าง
(ก) ราคาเฉลี่ยของราคาตลาดของบุหรี่ยี่ห้อกรองทิพย์ ณ วันที่ โรงงานยาสูบต้องแจ้งราคาขายปลีกซึ่งใช้ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ได้แก่ ราคาขายปลีกของบุหรี่ยี่ห้อกรองทิพย์ที่ผู้ค้าปลีกทั่วๆ ไป เช่น ร้านสะดวกซื้อ หรือซุปเปอร์สโตร์ เป็นต้น ใช้เป็นราคาขายปลีกที่ขายให้แก่ผู้บริโภคทั่วๆ ไปหรือเป็นส่วนใหญ่
(ข) ราคาเฉลี่ยของราคาตลาดของบุหรี่ยี่ห้อมาร์โบโร ณ วันที่ บริษัทผู้นำเข้าต้องแจ้งราคาขายปลีกซึ่งใช้ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ได้แก่ ราคาขายปลีกของบุหรี่ยี่ห้อมาร์โบโรที่ผู้ค้าปลีกทั่วๆ ไป เช่น ร้านสะดวกซื้อ หรือซุปเปอร์สโตร์ เป็นต้น ใช้เป็นราคาขายปลีกของยาสูบที่ขายให้แก่ผู้บริโภคทั่วๆ ไปหรือเป็นส่วนใหญ่ราคาตลาดของยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตแต่ละชนิดตาม (ก) หรือ (ข) เป็นราคาขายปลีกที่โรงงานยาสูบหรือบริษัทผู้นำเข้า ใช้สำหรับแจ้งราคาขายปลีกต่อกรมสรรพากร เพื่อใช้ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีของยาสูบยี่ห้อดังกล่าว
ข้อ ๓ การนำเข้ายาสูบจากต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ไม่ว่าจะนำเข้าโดยผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือบุคคลอื่น ต้องคำนวณฐานภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๗๙/๒(๑) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ มูลค่าของยาสูบนำเข้าโดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. บวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา ๗๗/๑(๑๙) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กำหนดในหมวด ๔ ลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีการนำเข้าตามวรรคหนึ่งถ้าผู้นำเข้าได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือตามกฎหมายอื่น ให้นำอากรขาเข้าซึ่งได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีด้วย
คำว่า “กฎหมายอื่น” ตามวรรคสอง หมายความถึง กฎหมายอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
ข้อ ๔ กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นองค์การของรัฐบาลได้ขายยาสูบที่ผลิตให้แก่ผู้ซื้อ หรือผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ขายทุกทอด จะต้องคำนวณมูลค่าของฐานภาษี จากมูลค่าของยาสูบซึ่งเป็นบุหรี่ซิกาแรตที่ได้มาจากการหักจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีกของยาสูบ โดยให้คำนวณจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในจำนวนเต็มของราคาขายปลีก
ราคาขายปลีกตามวรรคหนึ่งคำนวณได้จากมูลค่าดังต่อไปนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
(ก) ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบ บวกด้วย ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา ๗๗/๑ (๑๙) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด และค่าการตลาด
(ข) ราคาเฉลี่ยของราคาตลาดที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
ตัวอย่าง
(ก) ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบ บวกด้วย ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา ๗๗/๑ (๑๙) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด และค่าการตลาด ซองละ ๔๖.๐๐ บาท
(ข) ราคาเฉลี่ยของตลาดของยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต ที่ผู้บริโภคทั่วๆ ไปหรือเป็นส่วนใหญ่ซื้อจากผู้ค้ายาสูบที่มีการจัดจำหน่ายกันตามความเป็นจริงทั่วไป ณ วันที่โรงงานยาสูบ แจ้งราคาขายปลีกซึ่งใช้ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ซองละ ๕๐.๐๐ บาท ดังนั้น ราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตต้องคำนวณจากราคาตลาด ซองละ ๕๐.๐๐ บาท อัตราภาษีร้อยละ ๗.๐ เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน ๓.๒๗ บาท (๕๐ (๗/๑๐๗) และเป็นมูลค่าของยาสูบที่ได้มาจากการหักจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีกของยาสูบจำนวน ๔๖.๗๓ บาท (๕๐.๐๐ — ๓.๒๗) โดยมูลค่าของฐานภาษีของยาสูบ จะใช้ราคาขายปลีกดังกล่าวเป็นมูลค่าของฐานภาษี สำหรับการขายบุหรี่ซิกาแรตทุกทอด
ข้อ ๕ กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ขายยาสูบที่นำเข้าจากต่างประเทศให้แก่ผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่นำเข้ายาสูบเอง หรือซื้อจากผู้นำเข้า หรือผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ขายทุกทอด จะต้องคำนวณฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังต่อไปนี้
(๑) กรณียาสูบที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นบุหรี่ซิกาแรต ได้แก่ มูลค่าของยาสูบที่ได้มาจากการหักจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีกของยาสูบ โดยให้คำนวณจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในจำนวนเต็มของราคาขายปลีก
ราคาขายปลีกตามวรรคหนึ่งคำนวณได้จากมูลค่าดังต่อไปนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
(ก) ราคา ซี.ไอ.เอฟ. บวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา ๗๗/๑(๑๙) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด และค่าการตลาด
(ข) ราคาเฉลี่ยของราคาตลาดที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
ตัวอย่าง
(ก) ราคา ซี.ไอ.เอฟ. บวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา ๗๗/๑ (๑๙) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด และค่าการตลาด ซองละ ๖๓.๐๐ บาท
(ข) ราคาเฉลี่ยของตลาดของยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต ที่ผู้บริโภคทั่วๆ ไปหรือเป็นส่วนใหญ่ซื้อจากผู้ค้ายาสูบที่มีการจัดจำหน่ายกันตามความเป็นจริงทั่วไป ณ วันที่ผู้นำเข้ายาสูบแจ้งราคาขายปลีกซึ่งใช้ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ซองละ ๗๐.๐๐ บาท
ดังนั้น ราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตต้องคำนวณจากราคาตลาด ซองละ ๗๐.๐๐ บาท อัตราภาษีร้อยละ ๗.๐ เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน ๔.๕๘ บาท(๗๐ x๗/๑๐๗) และเป็นมูลค่าของยาสูบที่ได้มาจากการหักจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีกของยาสูบจำนวน ๖๕.๔๒ บาท (๗๐.๐๐ — ๔.๕๘) โดยมูลค่าของฐานภาษีของยาสูบ จะใช้ราคาขายปลีกดังกล่าวเป็นมูลค่าของฐานภาษี สำหรับการขายบุหรี่ซิกาแรตทุกทอด
(๒) กรณียาสูบที่นำเข้าจากต่างประเทศนอกจาก (๑) ให้คำนวณมูลค่าของยาสูบตามมาตรา ๗๙ แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับหรือพึงได้รับจากการขายยาสูบ รวมทั้งภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา ๗๗/๑(๑๙) ถ้ามี ด้วย
ข้อ ๖ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบที่เป็นองค์การของรัฐบาล และผู้นำเข้า ซึ่งขายยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต ต้องดำเนินการแจ้งราคาขายปลีกแยกเป็นประเภทชนิดหรือยี่ห้อ ตามตัวอย่างแบบแจ้งราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตที่แนบท้ายคำสั่ง ดังต่อไปนี้
(๑) แจ้งราคาขายปลีกครั้งแรก พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดวิธีการคำนวณราคาขายปลีกดังกล่าวเป็นหนังสือต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ภายในกำหนดเวลา ๓๐ วัน นับถัดจากวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ หรือนับถัดจากวันที่ขาย และให้ใช้ราคาขายปลีกที่แจ้งไว้ ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตั้งแต่วันที่ ๑ ของเดือนถัดจากเดือนที่แจ้งถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายนของปีถัดไป
ตัวอย่าง
ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นโรงงานยาสูบและผู้นำเข้า ต้องแจ้งราคาขายปลีกครั้งแรก พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดวิธีการคำนวณราคาขายปลีกดังกล่าวเป็นหนังสือต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๕ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๕ (ภายในกำหนดเวลา ๓๐ วัน นับถัดจากวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๕) และให้ใช้ราคาขายปลีกที่แจ้งไว้ ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖
(๒) แจ้งราคาขายปลีกครั้งต่อๆ ไปทุกปี พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดวิธีการคำนวณราคาขายปลีกดังกล่าวเป็นหนังสือต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ภายในวันที่ ๑ มิถุนายนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายนของทุกปี และให้ใช้ราคาขายปลีกในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายนของปีถัดไป
ตัวอย่าง
ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นโรงงานยาสูบและผู้นำเข้า ต้องแจ้งราคาขายปลีกครั้งต่อไปในปี ๒๕๕๖ พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดวิธีการคำนวณราคาขายปลีกดังกล่าวเป็นหนังสือต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ภายในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ และให้ใช้ราคาขายปลีกที่แจ้งไว้ ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗
(๓) กรณีมีการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกซึ่งใช้ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีภายหลังจากการแจ้งราคาขายปลีกครั้งแรกหรือครั้งต่อๆ ไป แล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้
(ก) ราคาเฉลี่ยของราคาตลาดที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
(ข) อากรขาเข้า
(ค) ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา ๗๗/๑ (๑๙) แห่งประมวลรัษฎากร
(ง) ภาษีมูลค่าเพิ่ม
(จ) เงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
(ฉ) เงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
(ช) ภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ
(ซ) ค่าการตลาด
ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบที่เป็นองค์การของรัฐบาล และผู้นำเข้า แจ้งการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีก พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดวิธีการคำนวณราคาขายปลีกดังกล่าวเป็นหนังสือต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ในเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกนั้นและให้ใช้ราคาขายปลีกตามที่แจ้งการเปลี่ยนแปลงไว้ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตั้งแต่วันที่ ๑ ของเดือนถัดจากเดือนที่แจ้งเป็นต้นไปถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายนของปีถัดไป
ตัวอย่าง
กรณีมีการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกซึ่งใช้ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๖ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นโรงงานยาสูบและผู้นำเข้า ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีก พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดวิธีการคำนวณราคาขายปลีกดังกล่าวเป็นหนังสือต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ในเดือนมกราคม ๒๕๕๖ (แจ้งเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๖) และให้ใช้ราคาขายปลีกตามที่แจ้งการเปลี่ยนแปลงไว้ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ 2556 ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖
(๔) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบที่เป็นองค์การของรัฐบาล และผู้นำเข้า ได้มีการออกผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทชนิด หรือยี่ห้อใหม่ ให้แจ้งราคาขายปลีกครั้งแรก เป็นหนังสือต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ในเดือนที่มีการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทชนิด หรือยี่ห้อใหม่นั้น และให้ใช้ราคาขายปลีกที่แจ้งไว้ ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตั้งแต่วันที่ ๑ ของเดือนถัดจากเดือนที่แจ้งถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายนของปีถัดไป
(๕) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งขายยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต ไม่แจ้งราคาขายปลีก หรือแจ้งราคาขายปลีกต่ำกว่าราคาที่แท้จริง หรือแจ้งราคาขายปลีกต่อกรมสรรพากรเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามข้อ ๖(๑) (๒) และ (๓) โดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินราคาขายปลีกที่ใช้ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีของยาสูบในวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ให้เป็นไปตามราคาที่แท้จริงที่รู้เห็นว่าถูกต้องได้
ข้อ ๗ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ขายยาสูบ จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีดังต่อไปนี้
(๑) กรณียาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๕(๒) แห่งประมวลรัษฎากร
ใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่งต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(ก) คำว่า “ ใบกำกับภาษี ” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา ๘๖ วรรคสี่ หรือมาตรา ๘๖/๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
(ค) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้า
(ง) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี
(จ) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า ซึ่งระบุเป็นภาษาอังกฤษได้
(ฉ) ราคาขายปลีกหักด้วยจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งคำนวณตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในจำนวนเต็มของราคาขายปลีก
(ช) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าตาม (ฉ) โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าตาม (ฉ) ให้ชัดแจ้ง
(ซ) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
(๒) กรณียาสูบนอกจาก (๑) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีที่มีรายการตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร
ใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่งต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(ก) คำว่า “ ใบกำกับภาษี ” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา ๘๖ วรรคสี่ หรือมาตรา ๘๖/๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
(ค) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้า
(ง) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี
(จ) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า ซึ่งระบุเป็นภาษาอังกฤษได้
(ฉ) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้า โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าให้ชัดแจ้ง
(ช) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
ผู้ประกอบการจดทะเบียนตาม (๑) และ (๒) ต้องเก็บสำเนาใบกำกับภาษีเพื่อเป็นหลักฐานการลงรายงานภาษีขาย
ข้อ ๘ กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ ๔ และข้อ ๕ ขายยาสูบในลักษณะขายปลีก คือ เป็นการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง และได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภคโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไป ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา ๘๖/๖ แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
(๑) กรณียาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีที่มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(ก) คำว่า “ ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(ข) ชื่อ หรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
(ค) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี
(ง) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า ซึ่งระบุเป็นภาษาอังกฤษได้
(จ) ราคาขายปลีกหักด้วยจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งคำนวณตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในจำนวนเต็มของราคาขายปลีก
(ฉ) ราคาสินค้า โดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว กรณีราคาสินค้าซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วตาม (ฉ) มีจำนวนน้อยกว่ามูลค่าหรือราคาของสินค้าที่คำนวณตาม (จ) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่คำนวณตาม (จ)
(ช) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
(๒) กรณียาสูบที่นำเข้าจากต่างประเทศนอกจาก (๑)
ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีที่มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(ก) คำว่า “ ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(ข) ชื่อ หรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
(ค) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี
(ง) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า ซึ่งระบุเป็นภาษาอังกฤษได้
(จ) ราคาสินค้า โดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
(ฉ) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
ผู้ประกอบการจดทะเบียนตาม (๑) และ (๒) ต้องเก็บสำเนาใบกำกับภาษีเพื่อเป็นหลักฐานการลงรายงานภาษีขาย
ข้อ ๙ ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ ๔ และข้อ ๕ เมื่อมีการนำเข้ายาสูบ หรือซื้อและขายยาสูบ จะต้องลงรายการมูลค่าของสินค้าและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มในรายงานภาษีขายตามมาตรา ๘๗(๑) และรายงานภาษีซื้อตามมาตรา ๘๗(๒) แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ ๔ และข้อ ๕ ซึ่งนำเข้ายาสูบหรือซื้อยาสูบ จะต้องลงรายการมูลค่าของยาสูบและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มในรายงานภาษีซื้อ ตามหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากร หรือหลักฐานใบกำกับภาษีซื้อ
(๒) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ ๔ และข้อ ๕ ซึ่งขายยาสูบ โดยจัดทำใบกำกับภาษีตามข้อ ๗ และข้อ ๘ จะต้องลงรายงานภาษีขายและรายงานภาษีซื้อ ดังต่อไปนี้
(ก) การขายยาสูบตามข้อ ๔ และข้อ ๕(๑) ให้ลงรายการมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรตโดยการหักจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีกของบุหรี่ซิกาแรต และลงรายการจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในจำนวนเต็มของราคาขายปลีก ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ซื้อยาสูบตามข้อ ๔ และข้อ ๕(๑) ลงรายการมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรต และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในรายงานภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง
ตัวอย่าง
๑. ราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบ ซองละ ๕๐.๐๐ บาท แต่ราคาขายจริง ๔๘.๐๐ บาท อัตราภาษีร้อยละ ๗.๐ ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคา ๕๐.๐๐ บาท เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน ๓.๒๗ บาท (๕๐ x๗/๑๐๗) และเป็นมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรตจำนวน ๔๖.๗๓ บาท (๕๐.๐๐ — ๓.๒๗) ให้ลงรายการมูลค่าสินค้าจำนวน ๔๖.๗๓ บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน ๓.๒๗ บาท
๒. ราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตนำเข้า ซองละ ๗๐.๐๐ บาท แต่ราคาขายจริง ๖๘.๐๐ บาท อัตราภาษีร้อยละ ๗.๐ ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคา ๗๐.๐๐ บาท เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน ๔.๕๘ บาท (๗๐ x๗/๑๐๗) และเป็นมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรตจำนวน ๖๕.๔๒ บาท (๗๐.๐๐ — ๔.๕๘) ให้ลงรายการมูลค่าสินค้าจำนวน ๖๕.๔๒ บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน ๔.๕๘ บาท
(ข) การขายยาสูบตามข้อ ๕(๒) ให้ลงรายการมูลค่าของยาสูบตามจำนวนที่ได้รับจริงจากการขายยาสูบ และลงรายการจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของยาสูบที่ได้รับจริง ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ซื้อยาสูบตามข้อ ๕(๒) ลงรายการมูลค่าของยาสูบ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในรายงานภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง
ข้อ ๑๐ บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือหรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก
ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕
สาธิต รังคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
อธิบดีกรมสรรพากร