พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๕๔) พ.ศ. ๒๕๕๕

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday December 13, 2012 11:47 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๕๔)

พ.ศ. ๒๕๕๕

----------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕

เป็นปีที่ ๖๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ บางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๕๔) พ.ศ. ๒๕๕๕”

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้

“ศุกูก” หมายความว่า ตราสารการเงินที่เป็นหลักทรัพย์ประเภทใบทรัสต์ตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งออกโดยสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม

“ผู้ถือศุกูก” หมายความว่า ผู้ถือหลักทรัพย์ประเภทใบทรัสต์ที่จะได้รับประโยชน์จากกองทรัสต์เนื่องจากการออกศุกูกนั้น

“ทรัสต์” หมายความว่า นิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนที่เกี่ยวกับการออกศุกูก

“สัญญาก่อตั้งทรัสต์” หมายความว่า สัญญาก่อตั้งทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนที่เกี่ยวกับการออกศุกูก

“ทรัสตี” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตีตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

“กองทรัสต์” หมายความว่า กองทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

“ผู้ระดมทุน” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นที่ได้ใช้ประโยชน์จากเงินที่ได้จากการขายศุกูก ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ไม่ว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นดังกล่าวจะเป็นผู้ก่อตั้งทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนด้วยหรือไม่ก็ตาม

“เงินชดเชยเงินปันผล” หมายความว่า เงินที่ทรัสตีต้องจ่ายให้แก่ผู้ระดมทุน เนื่องจากบริษัทผู้ออกหุ้นได้จ่ายเงินปันผลของหุ้นในระหว่างที่ทรัสตีถือหุ้นนั้นไว้ตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์

มาตรา ๔ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ผู้ถือศุกูก สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการถือศุกูก และยอมให้ทรัสตีผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละสิบห้าของเงินได้ที่ได้รับ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้ถือศุกูกไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

มาตรา ๕ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ทรัสตี สำหรับเงินได้ที่ได้จากกองทรัสต์ในธุรกรรมที่เกี่ยวกับการออกศุกูก แต่ไม่รวมถึงค่าธรรมเนียมหรือประโยชน์อื่นใดที่ทรัสตีได้รับจากการให้บริการเป็นทรัสตีตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์

มาตรา ๖ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ระดมทุน สำหรับเงินได้ที่เป็นเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ระดมทุนซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่ได้รับโอนกลับคืนมาซึ่งหุ้นที่ได้มีการโอนให้แก่ทรัสตี ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ยกเว้นภาษีเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินปันผลที่ได้รับ

(๒) ผู้ระดมทุนซึ่งเป็นบริษัทตาม (๑) ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนหรือเป็นบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง โดยบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทนั้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ให้ยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่ากับเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินปันผลที่ได้รับผู้ระดมทุนตามวรรคหนึ่งต้องถือหุ้นที่ก่อให้เกิดเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินปันผลไว้ไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาจนถึงวันที่มีเงินได้ดังกล่าว และยังคงถือหุ้นนั้นต่อไปอีกไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้ โดยให้นับระยะเวลาระหว่างที่ผู้ระดมทุนได้โอนหุ้นให้แก่ทรัสตีจนถึงวันที่ผู้ระดมทุนได้รับโอนหุ้นนั้นกลับคืนรวมด้วย

มาตรา ๗ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด ๔ ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด ๕ และอากรแสตมป์ตามหมวด ๖ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ผู้ระดมทุนและทรัสตี สำหรับเงินได้ มูลค่าของฐานภาษี รายรับและการกระทำตราสาร ที่เกิดขึ้น หรือเนื่องมาจากการโอนหรือก่อทรัพยสิทธิหรือสิทธิใด ๆ ในทรัพย์สิน ระหว่างผู้ระดมทุนกับทรัสตีหรือระหว่างทรัสตีกับทรัสตีในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงทรัสตีตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์

มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่การดำเนินธุรกรรมที่เกิดขึ้นตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ที่เกี่ยวกับการออกศุกูก ซึ่งเป็นตราสารการเงินซึ่งออกเพื่อระดมทุนตามหลักศาสนาอิสลาม และเงินได้ที่เกิดขึ้นจากธุรกรรมดังกล่าวต้องอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรในหลายลักษณะ อันก่อให้เกิดภาระภาษีซ้ำซ้อนและไม่จูงใจให้มีการใช้ศุกูกเพื่อดำเนินธุรกรรมในตลาดทุน สมควรลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้ถือศุกูก ทรัสตี และผู้ระดมทุน สำหรับเงินได้มูลค่าของฐานภาษี รายรับ และการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากธุรกรรมที่เกี่ยวกับการออกศุกูกตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนและกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ บางกรณี เพื่อส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพิ่มขึ้นและสนับสนุนการก่อตั้งทรัสต์ที่เกี่ยวกับการออกศุกูก อันจะช่วยให้มีการระดมทุนในตลาดทุนมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๑๑๖ ก วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๕)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ