พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๗๐) พ.ศ. ๒๕๕๖

ข่าวทั่วไป Monday December 23, 2013 16:24 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๗๐)

พ.ศ. ๒๕๕๖

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖

เป็นปีที่ ๖๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ บางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๗๐) พ.ศ. ๒๕๕๖”

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินที่ได้รับจากรัฐบาล เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยอันมีลักษณะถาวร ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

มาตรา ๔ ผู้มีเงินได้ต้องไม่นำมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่ได้ทำขึ้นเพื่อป้องกันอุทกภัย วาตภัยอัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอันมีลักษณะถาวร ในส่วนที่เท่ากับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา ๓ ไปรวมเป็นมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินเพื่อหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมาตรา ๖๕ ทวิ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือด้านการเงินให้แก่ภาคเอกชนในการดำเนินการเพื่อป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนที่จะดำเนินการดังกล่าว สมควรยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินที่ได้รับจากรัฐบาลเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการเพื่อป้องกันอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยอันมีลักษณะถาวร จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๑๒๓ ก วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๖)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ