ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๘๒)
พ.ศ. ๒๕๕๘
-----------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ มีนาคมพ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ยืมและผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ บางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๘๒) พ.ศ. ๒๕๕๘”
มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืม” ในมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๓๑) พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๐๐) พ.ศ. ๒๕๕๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ “ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืม” หมายความว่า ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ซึ่งเป็นบุคคลดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(๒) ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(๓) สำนักหักบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(๔) ธนาคารแห่งประเทศไทย
(๕) ผู้ซึ่งมอบหมายให้บุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) เป็นตัวแทนหรือนายหน้าในการทำสัญญายืม หรือให้ยืมหลักทรัพย์
(๖) ผู้ซึ่งทำสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์กับบุคคลตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)”
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้มีมติอนุมัติให้สำนักหักบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์รับโอนงานธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์จากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เฉพาะการทำหน้าที่ยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ และให้ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ยังคงทำหน้าที่ให้บริการการทำสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ให้แก่สมาชิกทั้งในฐานะตัวการและในฐานะตัวแทนหรือนายหน้าต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบการส่งมอบหลักทรัพย์ดำเนินต่อไปได้และเป็นการเพิ่มปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ สมควรลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่สำนักหักบัญชีผู้ซึ่งมอบหมายให้สำนักหักบัญชีเป็นตัวแทนหรือนายหน้าในการทำสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ และผู้ซึ่งทำสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์กับสำนักหักบัญชี สำหรับเงินได้จากการทำธุรกรรมอันเนื่องมาจากการยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์โดยกำหนดให้สำนักหักบัญชี ผู้ซึ่งมอบหมายให้สำนักหักบัญชีเป็นตัวแทนหรือนายหน้าในการทำสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ และผู้ซึ่งทำสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์กับสำนักหักบัญชีอยู่ในความหมายของบทนิยามคำว่า “ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืม” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๓๑) พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๐๐) พ.ศ. ๒๕๕๓ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนของประเทศในระยะยาว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ (ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๒๑ ก วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๘)