ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๘๖)
พ.ศ. ๒๕๕๘
--------------------------
ภูมิพลอดุลยเดชป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นปีที่ ๗๐ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ และยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ บางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๘๖) พ.ศ. ๒๕๕๘”
มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้
“คนต่างด้าว” หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
“สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ” หมายความว่า บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเพื่อประกอบกิจการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน หรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือหรือสาขาของตน ไม่ว่าวิสาหกิจในเครือหรือสาขานั้นจะตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ และ ให้หมายความรวมถึงบริษัทการค้าระหว่างประเทศซึ่งได้รับอนุมัติให้เป็นสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ตามพระราชกฤษฎีกานี้ด้วย
“การให้บริการสนับสนุน” หมายความว่า การให้บริการสนับสนุนในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การบริหารงานทั่วไป การวางแผนทางธุรกิจ และการประสานงานทางธุรกิจ
(๒) การจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วน
(๓) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
(๔) การสนับสนุนด้านเทคนิค
(๕) การส่งเสริมด้านการตลาดและการขาย
(๖) การบริหารด้านงานบุคคลและการฝึกอบรม
(๗) การให้คำปรึกษาด้านการเงิน
(๘) การวิเคราะห์และวิจัยด้านเศรษฐกิจและการลงทุน
(๙) การจัดการและควบคุมสินเชื่อ
(๑๐) การให้บริการสนับสนุนอื่น ๆ ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
“การบริหารเงิน” หมายความว่า การบริหารเงินในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การบริหารเงินของศูนย์บริหารเงินซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุม การแลกเปลี่ยนเงิน
(๒) การกู้ยืมและให้กู้ยืมเงินบาท ในกรณีดังต่อไปนี้
(ก) การกู้ยืมเงินบาทจากสถาบันการเงินในประเทศไทยหรือวิสาหกิจในเครือในประเทศไทย
(ข) การนำเงินบาทที่ได้รับจากการดำเนินการตาม (๑) หรือ (ก) มาให้กู้เป็นเงินบาท แก่วิสาหกิจในเครือในประเทศไทย
“บริษัทการค้าระหว่างประเทศ” หมายความว่า บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเพื่อประกอบกิจการจัดซื้อและขายสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน หรือให้บริการเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
“การให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ” หมายความว่า การให้บริการในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การจัดหาสินค้า
(๒) การเก็บรักษาสินค้าระหว่างรอการส่งมอบ
(๓) การจัดทำหีบห่อและบรรจุภัณฑ์
(๔) การขนส่งสินค้า
(๕) การประกันภัยสินค้า
(๖) การให้คำปรึกษาแนะนำและบริการด้านเทคนิคและฝึกอบรมเกี่ยวกับสินค้า
(๗) การให้บริการอื่น ๆ ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
“วิสาหกิจในเครือ” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีความสัมพันธ์กับสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ในลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งถือหุ้นในสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศทั้งทางตรง หรือทางอ้อมรวมกันคิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของทุนทั้งหมด
(๒) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วน ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมรวมกันคิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของทุนทั้งหมด
(๓) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม (๑) ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนทั้งทางตรงหรือทางอ้อมรวมกันคิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของ ทุนทั้งหมด
(๔) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจควบคุมกิจการหรือกำกับดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานของสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ
(๕) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศมีอำนาจควบคุมกิจการ หรือกำกับดูแลการดำเนินงานและการบริหารงาน
(๖) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม (๔) มีอำนาจควบคุมกิจการหรือกำกับดูแลการดำเนินงานและการบริหารงาน
มาตรา ๔ ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ในการหักภาษี ณ ที่จ่ายและคงจัดเก็บในอัตราร้อยละสิบห้าของ เงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่คนต่างด้าวได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ซึ่งเมื่อคำนวณตามมาตรา ๕๐ (๑) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สูงกว่าร้อยละสิบห้าของเงินได้
ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามวรรคหนึ่ง เมื่อคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา ๕๐ (๑) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายน้อยกว่าร้อยละสิบห้าของเงินได้ ให้คนต่างด้าวผู้มีเงินได้มีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา ๕ เมื่อคนต่างด้าวนั้นยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละสิบห้าของเงินได้นั้น
มาตรา ๕ ให้คนต่างด้าวซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้แล้วในอัตราร้อยละสิบห้า ของเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา ๔ เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้น มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่คนต่างด้าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
ในกรณีที่คนต่างด้าวมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) และ (๘) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา ๕๐ แห่งประมวลรัษฎากรไว้แล้ว และมีสิทธิเลือกเสียภาษี ตามมาตรา ๔๘ (๓) และ (๔) แห่งประมวลรัษฎากร คนต่างด้าวจะมีสิทธิได้รับการยกเว้นตามวรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าในการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน คนต่างด้าวมิได้นำเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา ๔๐ (๔) และ (๘) แห่งประมวลรัษฎากรดังกล่าว และเงินได้พึงประเมินที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา ๔ มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยต้องไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
ในการได้รับยกเว้นตามมาตรานี้ คนต่างด้าวต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย
มาตรา ๖ คนต่างด้าวซึ่งจะได้รับสิทธิตามมาตรา ๔ และมาตรา ๕ ต้องเป็นคนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศที่มีคุณสมบัติตามมาตรา ๙ และได้รับเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา ๔๐ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่วันที่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศได้รับสิทธิประโยชน์ ทางภาษีตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘ จนถึงวันที่สิ้นสุดการทำงานประจำสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘ ของสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศสิ้นสุดลง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
มาตรา ๗ ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (๒) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตรา ร้อยละสิบของกำไรสุทธิ ให้แก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ สำหรับรายได้ดังต่อไปนี้
(๑) รายได้จากการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน หรือ การบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
(๒) ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
รายได้ที่จะได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่งเฉพาะที่มีจานวนรวมกันไม่เกินกว่ารายได้ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๘ (๑) และ (๒)
มาตรา ๘ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ สำหรับรายได้ดังต่อไปนี้
(๑) รายได้จากการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน หรือ การบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
(๒) ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
(๓) เงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
(๔) รายได้จากการโอนหุ้นของวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะการโอนหุ้นที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
(๕) รายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศ โดยสินค้าดังกล่าวมิได้ถูกนำเข้ามา ในประเทศไทย หรือเข้ามาในประเทศไทยในลักษณะการผ่านแดนหรือการถ่ายลาตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ได้รับจากหรือในต่างประเทศ
มาตรา ๙ สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศที่จะได้รับสิทธิตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(๑) มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป
(๒) มีการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน หรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
(๓) มีรายจ่ายในการดำเนินงานซึ่งเกี่ยวกับกิจการของสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศที่จ่ายให้แก่ผู้รับในประเทศไทยไม่น้อยกว่าสิบห้าล้านบาทในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
(๔) ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติให้เป็นสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศจากอธิบดีกรมสรรพากร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
(๕) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ในกรณีที่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศขาดคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งข้อหนึ่งข้อใดในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นอันระงับเฉพาะในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
มาตรา ๑๐ สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศที่มีคุณสมบัติตามมาตรา ๙ จะได้รับสิทธิลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘ เป็นระยะเวลาสิบห้ารอบระยะเวลาบัญชีนับแต่ วันถัดจากวันที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังต่อไปนี้
(๑) กรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติให้เป็นสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศตามมาตรา ๙ ให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก หรือ
(๒) กรณีที่มีการยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติให้เป็นสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศตามมาตรา ๙ ระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก แม้ว่าจะมีระยะเวลาน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ตาม
มาตรา ๑๑ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการ ในประเทศไทย สำหรับรายได้ดังต่อไปนี้
(๑) เงินปันผลที่ได้รับจากสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะเงินปันผลที่จ่ายจากรายได้ ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๘
(๒) ดอกเบี้ยที่ได้รับจากสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมที่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศได้กู้มาเพื่อให้กู้ยืมต่อแก่วิสาหกิจในเครือที่เป็นการบริหารเงิน
มาตรา ๑๒ ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด ๕ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ สำหรับรายรับจากการให้กู้ยืมแก่วิสาหกิจในเครือ ทั้งนี้ เฉพาะการให้กู้ยืมที่เป็นการบริหารเงิน
มาตรา ๑๓ สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๐๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๐๘) พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่ประสงค์จะจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ให้ยื่นคำร้องขอเป็นสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศตามมาตรา ๙ แห่งพระราชกฤษฎีกานี้ และให้แจ้งเลิกสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๑๑/๑๐ แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
มาตรา ๑๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนโดยการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มแรงจูงใจและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ สมควรกำหนด ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศและคนต่างด้าวที่ปฏิบัติงานในสำนักงานใหญ่ ข้ามประเทศดังกล่าว จึงจาเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ (ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๓๗ ก วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘)