พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๐) พ.ศ. ๒๕๕๘

ข่าวทั่วไป Wednesday July 29, 2015 14:53 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชบัญญัติ

แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๐)

พ.ศ. ๒๕๕๘

_____________________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า"พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่๔๐)พ.ศ.๒๕๕๘"

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน(๑๐)ของมาตรา๔๒แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่๑๐)พ.ศ.๒๔๙๖และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๑๐)เงินได้ที่ได้รับจากการรับมรดก"

มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น(๒๖)(๒๗)(๒๘)และ(๒๙)ของมาตรา๔๒แห่งประมวลรัษฎากร

"(๒๖)เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น

(๒๗)เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการีผู้สืบสันดานหรือคู่สมรสเฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น

(๒๘)เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งนี้จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการีผู้สืบสันดานหรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินสิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น

(๒๙)เงินได้ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาที่ผู้ให้แสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนากิจการศึกษาหรือกิจการสาธารณประโยชน์ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง"

มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น(๔/๑)ของมาตรา๔๘แห่งประมวลรัษฎากร

"(๔/๑)ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ๕ของเงินได้ส่วนที่เกินยี่สิบล้านบาทโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม(๑)และ(๒)ก็ได้สำหรับเงินได้ตามมาตรา๔๐(๘)ที่เป็นเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมที่ไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา๔๒(๒๖)"

มาตรา ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น(๖)และ(๗)ของมาตรา๔๘แห่งประมวลรัษฎากร

"(๖)ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ๕ของเงินได้ส่วนที่เกินยี่สิบล้านบาทโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม(๑)และ(๒)ก็ได้สำหรับเงินได้ตามมาตรา๔๐(๘)ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการีผู้สืบสันดานหรือคู่สมรสที่ไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา๔๒(๒๗)

(๗)ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ๕ของเงินได้ส่วนที่เกินสิบล้านบาทโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม(๑)และ(๒)ก็ได้สำหรับเงินได้ตามมาตรา๔๐(๘)ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการีผู้สืบสันดานหรือคู่สมรสที่ไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา๔๒(๒๘)"

มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความใน(๖)ของมาตรา๕๐แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่๙)พ.ศ.๒๕๒๕และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๖)ในกรณีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้ถือว่าผู้โอนเป็นผู้จ่ายเงินได้โดยให้ผู้โอนหักภาษีตามเกณฑ์ใน(๕)เว้นแต่กรณีการโอนให้แก่ บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมให้ผู้โอนหักภาษีไว้ร้อยละ๕ของเงินได้เฉพาะในส่วนที่เกินยี่สิบล้านบาท"

มาตรา ๘ การเสียภาษีเงินได้ในส่วนของเงินได้พึงประเมินที่ไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา ๔๒ (๒๖)(๒๗)และ(๒๘)แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้คิดเฉพาะเงินได้ที่ได้รับมาภายหลังวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือโดยที่ได้มีการตรากฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีจากการรับมรดกแต่ประมวลรัษฎากรยังมีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีและเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมเป็นการไม่สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดกสมควรปรับปรุงบทบัญญัติ ในการจัดเก็บภาษีสำหรับการให้ในกรณีดังกล่าวให้สอดคล้องกันจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ