พระราชบัญญัติ ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ๒๕๕๘

ข่าวทั่วไป Wednesday July 29, 2015 15:15 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชบัญญัติ

ภาษีการรับมรดก

พ.ศ. ๒๕๕๘

_____________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยภาษีการรับมรดก

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า"พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดกพ.ศ.๒๕๕๘"

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่

(๑) มรดกที่เจ้ามรดกตายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

(๒) มรดกที่คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับจากเจ้ามรดก

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

"ภาษี"หมายความว่าภาษีการรับมรดกที่จัดเก็บตามพระราชบัญญัตินี้

"ประเทศไทย"หมายความรวมถึงเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิของประเทศไทย

"เจ้าพนักงานประเมิน"หมายความว่าบุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากข้าราชการเพื่อทำหน้าที่ประเมินภาษี

"อธิบดี" หมายความว่าอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย

"รัฐมนตรี"หมายความว่ารัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑

บททั่วไป

_______________

มาตรา ๖ การจัดเก็บภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร

มาตรา ๗ ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเป็นผู้เยาว์คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือน ไร้ความสามารถให้ผู้แทนโดยชอบธรรมผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการใดๆตามพระราชบัญญัตินี้แทนผู้เยาว์คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้วแต่กรณี

มาตรา ๘ กำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการหรือแจ้งรายการต่างๆการอุทธรณ์ และการเสียภาษีตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ถ้าผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกำหนดเวลาดังกล่าว มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้หรือมิได้อยู่ในประเทศไทยอธิบดีจะอนุญาต ให้เลื่อนกำหนดเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้

ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเป็นการทั่วไปที่จะทำให้ผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ไม่อาจปฏิบัติภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัตินี้ได้อธิบดีจะประกาศขยายกำหนดเวลาออกไปตามสมควรจนกว่าเหตุดังกล่าวจะหมดสิ้นไปก็ได้และเมื่อได้ขยายกำหนดเวลาออกไปแล้วให้ถือว่ากำหนดเวลา ที่ขยายออกไปนั้นเป็นกำหนดเวลาที่กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเลื่อนหรือขยายกำหนดเวลาของอธิบดีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๙ เอกสารที่มีถึงบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่งณภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงาน ของบุคคลนั้นในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของบุคคลนั้นถ้าไม่พบผู้รับณภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่ หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับนั้นก็ได้

ในกรณีที่ไม่สามารถส่งเอกสารตามวิธีที่กำหนดในวรรคหนึ่งหรือบุคคลนั้นออกไปนอกประเทศไทย ให้ใช้วิธีปิดหมายเอกสารนั้นในที่ซึ่งเห็นได้ง่ายณที่อยู่หรือสำนักงานของบุคคลนั้นหรือบ้านที่บุคคลนั้น มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรครั้งสุดท้ายหรือจะโฆษณาข้อความย่อ ในหนังสือพิมพ์ที่จำหน่ายเป็นปกติในท้องที่นั้นหรือโดยวิธีการอื่นใดตามที่อธิบดีกำหนดก็ได้

เมื่อได้ปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้วให้ถือว่าเป็นอันได้รับเอกสารนั้นแล้ว

มาตรา ๑๐ เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้มาโดยทางมรดกให้แจ้งการจดทะเบียนนั้นต่อกรมสรรพากร ตามหลักเกณฑ์วิธีการและภายในกำหนดเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

หมวด ๒

การเสียภาษี

_______________

มาตรา ๑๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๒ ให้บุคคลผู้ได้รับมรดกดังต่อไปนี้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

(๑) บุคคลผู้มีสัญชาติไทย

(๒) บุคคลธรรมดาผู้มิได้มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

(๓) บุคคลผู้มิได้มีสัญชาติไทยแต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

ในกรณีที่ผู้ได้รับมรดกเป็นนิติบุคคลให้ถือว่านิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยหรือจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายไทยหรือมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นเกินร้อยละห้าสิบของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในขณะมีสิทธิได้รับมรดกหรือมีผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการเกินกึ่งหนึ่งของคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการทั้งหมดเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย

ในกรณีตาม(๓)ถ้าในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายทรัพย์สินที่เป็นมรดกเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยแม้ภายหลังจะเปลี่ยนสภาพอย่างใดก็ให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยและผู้ได้รับมรดกนั้นยังมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา๑๒

รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจลดหรือยกเว้นภาษีตามพระราชบัญญัตินี้แก่บุคคลตามสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนเกี่ยวกับการรับมรดกที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศทั้งนี้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๑๒ ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละรายไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าเกินหนึ่งร้อยล้านบาทต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งร้อยล้านบาท

มูลค่ามรดกตามวรรคหนึ่งหมายถึงมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดกหักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกนั้น

ให้มีการพิจารณาทบทวนมูลค่ามรดกตามวรรคหนึ่งทุกห้าปีโดยนำอัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคที่กระทรวงพาณิชย์คำนวณเพื่อใช้ในราชการในรอบระยะเวลานั้นมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยการกำหนดมูลค่ามรดกขึ้นใหม่ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๑๓ บทบัญญัติในมาตรา๑๒ไม่ใช้บังคับแก่

(๑) บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนากิจการศึกษาหรือกิจการสาธารณประโยชน์

(๒) หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษาหรือกิจการสาธารณประโยชน์

(๓) บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือตามสัญญาหรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ

ทั้งนี้เฉพาะตามประเภทหรือรายชื่อที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยในกฎกระทรวงดังกล่าว จะกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีตรวจสอบติดตามไว้ด้วยก็ได้

มาตรา ๑๔ มรดกซึ่งต้องเสียภาษี ได้แก่ ทรัพย์สินดังต่อไปนี้

(๑) อสังหาริมทรัพย์

(๒) หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(๓) เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้

(๔) ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน

(๕) ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา

กรณีผู้ได้รับมรดกตามมาตรา๑๑(๑)และ(๒)ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและนอกประเทศไทยและกรณีผู้ได้รับมรดกตามมาตรา๑๑(๓)ให้เสียภาษีเฉพาะจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

ทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๑๕ การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินให้ถือตามราคาหรือมูลค่าอันพึงมีในวันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นมรดกดังต่อไปนี้

(๑) กรณีเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้ถือเอาตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินหักด้วยภาระที่ถูกรอนสิทธิ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๒) กรณีเป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ถือเอาราคาของหลักทรัพย์นั้นในเวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก

(๓) กรณีอื่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงแต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวให้กำหนดเป็นการทั่วไปโดยไม่มีลักษณะเป็นการเฉพาะเจาะจง

ถ้าจำเป็นต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมสรรพากรประกาศกำหนด

มาตรา ๑๖ ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคำนวณและเสียภาษีในอัตราร้อยละสิบของมูลค่ามรดก ในส่วนที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา๑๒แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานให้เสียภาษีในอัตราร้อยละห้า

หมวด ๓

การยื่นแบบ การชำระภาษี และการประเมินภาษี

___________________

มาตรา ๑๗ ภายใต้บังคับมาตรา๒๓ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับมรดกที่เป็นเหตุให้มีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา๑๒วรรคหนึ่ง

การยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีตามวรรคหนึ่งให้ยื่นและชำระณสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแห่งใดแห่งหนึ่งหรือณสถานที่อื่นใดตามที่อธิบดีกำหนด

เมื่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาได้รับแบบแสดงรายการภาษีแล้วให้ส่งต่อ เจ้าพนักงานประเมินโดยเร็วและให้เจ้าพนักงานประเมินดำเนินการประเมินภาษีให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องเสียภาษีเพิ่มและได้ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา๒๒มิให้คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มเว้นแต่การต้องเสียภาษีเพิ่มนั้นเกิดจากรายการที่ผู้ยื่นมิได้แสดงไว้ในแบบแสดงรายการภาษีหรือแสดงไว้เป็นเท็จ

ระยะเวลาหนึ่งปีตามวรรคสามเมื่อมีเหตุอันจำเป็นและสมควรที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายระยะเวลาออกไปเป็นการเฉพาะกรณีก็ได้แต่รวมแล้วต้องไม่เกินสามปี

มาตรา ๑๘ ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตายก่อนครบกำหนดเวลาตามมาตรา๑๗วรรคหนึ่ง โดยยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีให้ผู้จัดการมรดกของผู้นั้นมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีพร้อมทั้งเงินเพิ่มตามมาตรา๓๑แทนผู้ตายภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับสำหรับเงินเพิ่มให้คำนวณนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาตามมาตรา๑๗วรรคหนึ่ง จนถึงวันที่ชำระภาษีครบถ้วน

ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตายเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา๑๗วรรคหนึ่งแล้วโดยมิได้ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีให้ผู้จัดการมรดกของผู้นั้นมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแทนโดยให้ดำเนินการภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งสำหรับเบี้ยปรับให้เสียหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระเว้นแต่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีภายหลังกำหนดเวลาดังกล่าวให้เสียเบี้ยปรับสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระสำหรับเงินเพิ่มให้คำนวณตั้งแต่วันที่ครบกำหนดเวลาตามมาตรา๑๗วรรคหนึ่งจนถึงวันที่ชำระภาษีครบถ้วน

เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสองต้องไม่เกินเงินภาษีที่ต้องชำระ

ในกรณีตามวรรคหนึ่งและวรรคสองผู้มีสิทธิได้รับมรดกคนใดคนหนึ่งจะดำเนินการเองก็ได้ ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี

มาตรา ๑๙ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีถึงแก่ความตายหากไม่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกดำเนินการแทนตามมาตรา๑๘ให้ทายาทซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายมีหน้าที่ตามมาตรา๑๘และให้นำความในมาตรา๑๘มาใช้บังคับโดยอนุโลมเว้นแต่ระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีให้กระทำภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

ในกรณีมีทายาทหลายคน ให้ทายาทตกลงมอบให้ทายาทคนหนึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี ถ้าไม่อาจตกลงกันได้ ให้ทายาทคนใดคนหนึ่งยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อตั้งผู้จัดการมรดกดำเนินการต่อไป

เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งแล้วหากไม่มีผู้ใดยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษี ตามมาตรานี้ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีตามมาตรา๒๐ได้

มาตรา ๒๐ ภายใต้บังคับมาตรา๑๗เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีเมื่อผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยให้มีอำนาจประเมินภาษีได้ภายในกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี

มาตรา ๒๑ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา๑๗มาตรา๑๘มาตรา๑๙มาตรา๒๐หรือมาตรา๒๔ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษีผู้แทน หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำกับมีอำนาจสั่งบุคคลเหล่านั้นให้นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาตรวจสอบไต่สวนได้หรือออกคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวตอบคำถามเป็นหนังสือแต่จะต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหมายเรียกหรือได้รับคำสั่ง

มาตรา ๒๒ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีแล้วให้แจ้งการประเมินภาษีนั้น เป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษีและให้ผู้นั้นชำระภาษีพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มถ้ามีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งในกรณีนี้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีก็ได้

มาตรา ๒๓ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะผ่อนชำระภาษีภายในเวลาไม่เกินห้าปีก็ได้ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาและเมื่อได้ชำระภาษีครบถ้วนตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขดังกล่าวแล้วให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่มแต่ในกรณีที่ผ่อนชำระภาษีเกินสองปีจะกำหนดให้ต้องเสียเงินเพิ่มบางส่วนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก็ได้

มาตรา ๒๔ ในกรณีที่ผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีได้ชำระภาษีโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย หรือได้ชำระไว้เกินกว่าที่ต้องเสียให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับคืนภาษี

ให้ผู้มีสิทธิได้รับคืนภาษีตามวรรคหนึ่งยื่นคำร้องขอรับคืนภาษีพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานภายในห้าปีนับแต่วันชำระภาษีทั้งหมดต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแห่งใดแห่งหนึ่งทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

ให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาซึ่งรับคำร้องไว้ส่งคำร้องพร้อมเอกสารหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินโดยเร็วและให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบเอกสารหลักฐานให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องและมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบภายในสิบห้าวันนับแต่ การตรวจสอบแล้วเสร็จและในกรณีที่ต้องมีการคืนภาษีให้กรมสรรพากรคืนเงินภาษีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตรวจสอบแล้วเสร็จ

ในการขอรับคืนภาษีไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากเงินภาษีที่คืน

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตรวจสอบการขอคืนภาษีให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดในมาตรานี้

มาตรา ๒๕ ภาษีซึ่งต้องเสียตามพระราชบัญญัตินี้เมื่อถึงกำหนดชำระแล้วถ้ามิได้เสียให้ถือเป็นภาษีค้าง

เพื่อให้ได้รับชำระภาษีค้างให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน ของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีได้ทั่วราชอาณาจักรโดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง อำนาจดังกล่าว อธิบดีจะมอบให้รองอธิบดีหรือสรรพากรภาคสำหรับการดำเนินการภายในเขตท้องที่ก็ได้

วิธีการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยอนุโลมส่วนวิธีการอายัดให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวให้หักค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายในการยึดและขายทอดตลาด และเงินภาษีค้างถ้ามีเงินเหลือให้คืนแก่เจ้าของทรัพย์สิน

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคสองให้ผู้มีอำนาจตามวรรคสองมีอำนาจ

(๑) ออกหมายเรียกผู้ต้องรับผิดชำระภาษีค้างและบุคคลใดๆที่มีเหตุสมควรเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีค้างมาให้ถ้อยคำ

(๒) สั่งบุคคลดังกล่าวใน(๑)ให้นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันจำเป็นแก่การจัดเก็บ ภาษีค้างมาตรวจสอบ

การดำเนินการตามวรรคห้าต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันได้รับหมายเรียกหรือคำสั่ง

หมวด ๔

การอุทธรณ์

______________

มาตรา ๒๖ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีผู้ใดไม่เห็นด้วยกับผลการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษี ทั้งนี้โดยยื่นตามแบบณสถานที่ที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

คณะกรรมการอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้แทนเป็นประธาน ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดและผู้แทนกรมการปกครองเป็นกรรมการ

คณะกรรมการอุทธรณ์ต้องพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่ วันที่ได้รับอุทธรณ์ระยะเวลาดังกล่าวอธิบดีจะอนุมัติให้ขยายออกไปอีกก็ได้แต่ไม่เกินเก้าสิบวันเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้ผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องต่อศาลภาษีอากรได้โดยไม่ต้องรอฟังผลการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์แต่ต้องยื่นฟ้องภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว

คำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ทำเป็นหนังสือและแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มี คำวินิจฉัย

ผู้อุทธรณ์ผู้ใดไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ให้มีสิทธิฟ้องต่อศาลภาษีอากรได้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์

มาตรา ๒๗ การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีเว้นแต่กรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาได้ก็ให้มีหน้าที่ชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือได้รับทราบคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่กรณี

ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสียภาษีเพิ่มขึ้นผู้อุทธรณ์จะต้องชำระภายในกำหนดเวลาเช่นเดียวกับวรรคหนึ่ง

ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้อุทธรณ์หรือผู้ฟ้องคดีไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียน้อยลงให้กรมสรรพากรคืนเงินภาษีที่ต้องคืนให้แก่ผู้อุทธรณ์หรือผู้ฟ้องคดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่กรณี

มาตรา ๒๘ เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ประธานคณะกรรมการอุทธรณ์มีอำนาจเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา๒๑

หมวด ๕

เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

_______________

มาตรา ๒๙ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องเสียเบี้ยปรับในกรณีและอัตราดังต่อไปนี้

(๑) มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในกำหนดเวลาให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินภาษี ที่ต้องชำระ

(๒) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริงอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียขาดไปให้เสียเบี้ยปรับอีกศูนย์จุดห้าเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียเพิ่ม

มาตรา ๓๐ เบี้ยปรับตามพระราชบัญญัตินี้อาจงดหรือลดลงได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาทั้งนี้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวต้องระบุให้ชัดเจนถึงเหตุแห่งการงดหรือลดเบี้ยปรับโดยคำนึงถึงความสุจริตและ เหตุจำเป็นของผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เป็นสำคัญ

มาตรา ๓๑ ภายใต้บังคับมาตรา๒๓บุคคลใดไม่ชำระภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัตินี้ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งจุดห้าต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่รวมเบี้ยปรับ

ในกรณีที่ได้มีการอนุญาตให้เลื่อนกำหนดเวลาการชำระภาษีและได้มีการชำระภาษีภายในกำหนดเวลาที่เลื่อนให้นั้นเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ลดลงเหลือร้อยละศูนย์จุดเจ็ดห้าต่อเดือนหรือเศษของเดือน

การคำนวณเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบ แสดงรายการภาษีจนถึงวันที่ชำระภาษีแต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ

มาตรา ๓๒ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือเป็นเงินภาษี

หมวด ๖

บทกำหนดโทษ

________________

มาตรา ๓๓ ผู้ใดไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา๑๗โดยไม่มีเหตุอันสมควรต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

มาตรา ๓๔ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินหรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา๒๑หรือของประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ตามมาตรา๒๘ หรือไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของผู้มีอำนาจตามมาตรา๒๕ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๕ ผู้ใดทำลายย้ายไปเสียซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดตามมาตรา๒๕ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสี่แสนบาท

ในกรณีผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคลหากกรรมการผู้จัดการผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลดังกล่าวต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งด้วย

มาตรา ๓๖ เจ้าพนักงานผู้ใดมีหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้รู้ข้อมูลของผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้องนำออกแจ้งแก่บุคคลใดหรือทำให้รู้โดยวิธีใดหรือปล่อยปละละเลย ให้ข้อมูลดังกล่าวรู้ถึงบุคคลที่ไม่มีหน้าที่ต้องรู้โดยไม่มีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับเว้นแต่เป็นการเปิดเผยต่อเจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

มาตรา ๓๗ ผู้ใด

(๑) โดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจยื่นข้อความเท็จหรือให้ถ้อยคำเท็จหรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำ อันเป็นเท็จหรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) โดยความเท็จโดยเจตนาละเลยโดยฉ้อโกงหรือใช้อุบายโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ หรือ

(๓) แนะนำหรือสนับสนุนให้บุคคลอื่นใดกระทำการตาม(๑)หรือ(๒)

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๘ บรรดาความผิดตามมาตรา๓๓มาตรา๓๔และมาตรา๓๗ให้อธิบดีมีอำนาจเปรียบเทียบได้

ถ้าผู้มีหน้าที่เสียภาษีชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนดแล้วมิให้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีถูกฟ้องร้องต่อไปในกรณีแห่งความผิดนั้น

ถ้าอธิบดีเห็นว่าไม่ควรใช้อำนาจเปรียบเทียบหรือเมื่อเปรียบเทียบแล้วผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ยอมตามที่เปรียบเทียบหรือยอมแล้วแต่ไม่ชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบกำหนดให้ดำเนินการฟ้องร้องต่อไปและในกรณีนี้ห้ามมิให้ดำเนินการเปรียบเทียบตามกฎหมายอื่นอีก

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือโดยที่การถ่ายโอนทรัพย์สินโดยทางมรดก ในปัจจุบันได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีไม่ว่าทรัพย์สินจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใดก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ในสังคมสมควรที่จะจัดเก็บภาษีตามสมควรจากการรับมรดกที่มีมูลค่าจำนวนมากเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ และยกระดับการดำรงชีวิตของประชาชนที่ยากไร้ให้ดีขึ้นทั้งนี้โดยมิให้กระทบถึงผู้ที่ได้รับมรดกพอสมควร แก่การดำรงชีพจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ