เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้
สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ
______________________
ตามที่ได้มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๘) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กำหนดให้เงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษี ตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ในระหว่างวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ๑๕,๐๐๐ บาท เป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นั้น
กรมสรรพากรขอชี้แจงเกี่ยวกับการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้
๑. ผู้มีเงินได้จะต้องซื้อสินค้าหรือรับบริการและชำระราคาค่าสินค้าหรือค่าบริการโดยได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ในระหว่างวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ เท่านั้น หากเป็นการซื้อสินค้าหรือรับบริการก่อนวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ หรือหลังวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ แม้ว่าจะได้รับใบกำกับภาษีในช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ตัวอย่าง ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
(๑) จ่ายเงินซื้อโทรทัศน์และได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ในระหว่างวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘
(๒) จ่ายเงินค่าบริการนวดหน้าและได้รับบริการนวดหน้า รวมถึงได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ในระหว่างวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘
ตัวอย่าง ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
(๑) ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ แล้วได้จ่ายชำระค่าบริการ ในระหว่างวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
(๒) จ่ายค่าที่พักโรงแรมในระหว่างวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ เพื่อใช้บริการในเดือนมกราคม ๒๕๕๙ ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
๒. เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือรับบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะนามาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ หมายถึง มูลค่าของสินค้าหรือบริการซึ่งรวมภาษี มูลค่าเพิ่มแล้ว
ตัวอย่าง
(๑) นายดำซื้อสินค้ามูลค่า ๑๔,๐๐๐ บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน ๙๘๐ บาท นายดำมีสิทธินำค่าซื้อสินค้าดังกล่าวมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ จำนวน ๑๔,๙๘๐ บาท
(๒) นายเขียวจ่ายค่าบริการมูลค่า ๒๐,๐๐๐ บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน ๑,๔๐๐ บาท นายเขียวมีสิทธินำค่าบริการดังกล่าวมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ จำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท
๓. ต้องเป็นสินค้าหรือบริการเฉพาะส่วนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ ๗.๐ เท่านั้น กรณีเป็นสินค้าหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ ๐ สินค้าหรือบริการในส่วนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม และสินค้าหรือบริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
ตัวอย่าง
(๑) ได้รับใบกำกับภาษีจากการซื้อปลากระป๋องซึ่งเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และซื้อปลาสดซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีนี้สามารถนำค่าซื้อสินค้ามายกเว้นภาษีได้เฉพาะค่าซื้อปลากระป๋อง
(๒) จ่ายเงินค่าทำศัลยกรรมหน้าและค่าทำศัลยกรรมหน้าอกให้แก่สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล กรณีนี้ไม่สามารถนำค่าบริการที่จ่ายให้แก่สถานพยาบาลดังกล่าวมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ เนื่องจากเป็นการให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
(๓) ซื้อทองรูปพรรณโดยได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป กรณีนี้มูลค่าที่สามารถนำมายกเว้นภาษีเงินได้ คือ ส่วนต่างของราคาขายที่รวมกับค่ากำเหน็จหักด้วยราคารับซื้อคืนและรวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่คิดจากยอดส่วนต่างดังกล่าว เช่น ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูประบุราคาขายทองรูปพรรณ ๙,๐๐๐ บาท ค่ากำเหน็จ ๕๐๐ บาท และราคารับซื้อคืนที่สมาคมค้าทองคำประกาศ ๘,๐๐๐ บาท (ซึ่งไม่รวมคำนวณเป็นมูลค่าฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม) ดังนั้น ราคาที่นำมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ในกรณีนี้เท่ากับ ๑,๖๐๕ บาท ((๙,๐๐๐+๕๐๐) - ๘,๐๐๐ รวมกับ ๗% = ๑,๖๐๕)
๔. ต้องเป็นการซื้อสินค้าเพื่อใช้ในประเทศหรือเป็นการบริการเพื่อใช้ในประเทศเท่านั้น หากเป็นเป็นการซื้อสินค้าเพื่อใช้ในต่างประเทศหรือบริการที่ใช้ในต่างประเทศจะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
ตัวอย่าง
(๑) จ่ายค่าซ่อมรถยนต์ซึ่งใช้ในประเทศ สามารถนำมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้
(2) จ่ายค่าบริการแพ็กเกจทัวร์ไปเที่ยวยุโรป ไม่สามารถนามาใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้
๕. ผู้มีเงินได้ซึ่งมีใบกำกับภาษีจากการจ่ายเงินค่าบริการนำเที่ยวหรือค่าที่พักในโรงแรมและใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๓๐๕ (พ.ศ. ๒๕๕๗) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรแล้ว จะไม่มีสิทธินำจำนวนเงินค่าบริการตามใบกากับภาษีนั้นมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๘) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรทั้งจำนวน
ตัวอย่าง
จ่ายค่าบริการนำเที่ยวในประเทศระหว่างวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ และได้รับใบกากับภาษีระบุค่าบริการจานวน ๒๐,๐๐๐ บาท กรณีนี้สามารถนำมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๓๐๕ (พ.ศ. ๒๕๕๗) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ได้จำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือจำนวน ๕,๐๐๐ บาท ไม่สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๘) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
๖. ผู้มีเงินได้จะต้องได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปซึ่งระบุชื่อของผู้มีเงินได้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเพียงคนเดียว
ตัวอย่าง
(๑) นายแดงซื้อสินค้าในระหว่างวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ และได้รับใบกำกับภาษีระบุชื่อนายแดงเป็นผู้ซื้อสินค้า นายแดงมีสิทธินำค่าซื้อสินค้าตามใบกำกับภาษีนั้นมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้
(๒) นายแดงและนายขาวซื้อสินค้าหรือรับบริการในระหว่างวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ โดยได้รับใบกำกับภาษีระบุชื่อทั้งนายแดงและนายขาวเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ทั้งนายแดงและนายขาวไม่มีสิทธินำค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามใบกำกับภาษีนั้นมาใช้สิทธิยกเว้นภาษี
จึงขอชี้แจงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
กรมสรรพากร
๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘