สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday June 15, 2001 16:18 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

                                       คำชี้แจงกรมสรรพากร
เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.101/2544
เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย
________________________________
ตามที่ได้มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 229 (พ.ศ. 2544 ) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ .กรมสรรพากรจึงขอชี้แจงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าว ดังนี้
ข้อ 1 การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ที่ได้กำหนดไว้ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากรให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ซึ่งไม่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส ก่อนที่จะได้มีการปรับปรุงให้มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินบางประเภทเพิ่มเติม ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.../...ได้มีการกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตรา ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้และตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2522 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งตามคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวได้กำหนดให้มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินจากการจ่ายค่าซื้อสินค้าที่เป็น ยางแผ่น มันสำปะหลัง ปอ ข้าวโพด อ้อย เมล็ดกาแฟ ผลปาล์มน้ำมัน ข้าว ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยตั๋วเงิน เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไรหรือประโยชน์อื่นใดตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ค่าเช่าหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สินตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้จากวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากรค่าจ้างทำของตามมาตรา 40(7)(8) แห่งประมวลรัษฎากรเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นรางวัลในการประกวด การแข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใด อันมีลักษณะทำนองเดียวกัน ค่าแสดงของนักแสดงสาธารณะ และค่าโฆษณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตรา ตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ยังคงมี หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ต่อไป แม้จะมีการออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป ......./...........ฯ ลงวันที่ .............................
ข้อ 2 การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป...../..............ฯ มีผลใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตั้งแต่วันที่ .............. พ.ศ. 2544 ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตรา ดังนี้
การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้แก่ เงินได้เนื่องจากการรับทำงานให้ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ ให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและอัตรา ดังนี้
ผู้จ่าย เฉพาะที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น
ผู้รับ ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งประกอบกิจการในประเทศไทยผู้จ่ายที่จ่ายให้กับผู้รับในกรณีนี้ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0
ผู้รับ ที่เป็นมูลนิธิหรือสมาคมซึ่งประกอบกิจการมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายที่จ่ายให้กับผู้รับในกรณีนี้ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10.0
ตัวอย่าง เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร
(1) ค่าตอบแทนจากการเป็นนายหน้าหรือตัวแทน เช่น ค่าตอบแทนจากการเป็นนายหน้า หรือตัวแทนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต หรือตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย ค่านายหน้าในการจัดหาผู้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า ค่านายหน้าในการนำเรือเข้าท่าเรือ ค่านายหน้าในการหาผู้เช่าเรือ ค่านายหน้า ในการติดต่อซื้อขายสินค้า ค่านายหน้าในการซื้อขายหลักทรัพย์ ค่านายหน้าหรือตัวแทนจากการเป็นนายหน้าตัวแทนให้บริษัทขนส่งระหว่างประเทศ
(2) ค่าบำเหน็จที่จ่ายให้แก่ชิปปิ้งในการเป็นตัวแทน กระทำพิธีการศุลกากร แทนเจ้าของสินค้า
(3) ค่าธรรมเนียมในการจัดหาเงินกู้ (Management Fee) ค่าธรรมเนียมในการดูแลเงินกู้ (Agency Fee)
(4) ค่าจ้างหรือค่าป่วยการในการดำเนินการติดต่อขอรับบัตร ชดเชยค่าภาษีอากรจากกรมศุลกากร แทนผู้ส่งออก
การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่นให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตรา ดังนี้
ผู้จ่าย เฉพาะที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น
ผู้รับ ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งประกอบกิจการในประเทศไทย ผู้จ่ายที่จ่ายให้กับผู้รับในกรณีนี้ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0
ผู้รับ ที่เป็นมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประม วลรัษฎากร ผู้จ่ายที่จ่ายให้กับผู้รับในกรณีนี้ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10.0
ตัวอย่าง เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร
(1) ค่าตอบแทนเพื่อการใช้ หรือสิทธิในการใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม ศิลป หรือวิทยาศาสตร์ รวมทั้งฟิล์มภาพยนตร์ หรือฟิล์มหรือเทปที่ใช้สำหรับการกระจายเสียงทางวิทยุหรือโทรทัศน์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า แบบหรือหุ่นจำลอง ผัง สูตรลับหรือกรรมวิธีลับ หรือเพื่อข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์
(2) ค่าตอบแทนจากการถ่ายทอดความรู้ความชำนาญด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
(3) ค่าตอบแทนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ค่าตอบแทนการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น บริษัท ก. จำกัด ซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) จากบริษัท ข. จำกัด โดยได้จ่ายค่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ค่าบำรุงรักษาเมื่อพ้นกำหนดประกันค่าโทรศัพท์หรือโทรสารกรณีให้คำแนะนำกรณีมีปัญหาเร่งด่วน ค่าฝึกอบรมการใช้โปรแกรม ค่าที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาฝึกอบรม ค่าเดินทาง ค่าที่พักให้แก่บริษัท ข. จำกัด เงินได้ที่บริษัท ข. จำกัด ได้รับทั้งหมดดังกล่าวเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร
(4) ค่าตอบแทนจากการใช้สิทธิบัตร (Know-How) และความรู้ทางเทคนิคในการผลิตสินค้า การใช้เครื่องหมายการค้า
(5) ค่าออกแบบสนามกอล์ฟโดยบริษัทผู้ออกแบบตกลงที่จะทำแผนผังรายละเอียดและงานเขียนแบบ (Plan Document) สำหรับใช้ในการก่อสร้างสนามกอล์ฟ โดยบริษัทผู้ออกแบบยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในงานเขียนแบบก่อสร้าง
(6) ค่าตอบแทนการใช้สิทธิตามสัญญาการค้า และบริการ พร้อมสิทธิการใช้ชื่อ รูปแบบ เครื่องหมายการค้า ค่าตอบแทนจากการให้บุคคลอื่นใช้ลิขสิทธิ์ในงานเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์
การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้แก่ ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ ฯลฯ ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตรา ดังนี้
(1) ประเภทเงินได้ที่จ่าย ได้แก่ เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
ผู้จ่าย เฉพาะที่เป็นธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
ผู้รับ ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการในประเทศไทย ไม่ใช่ธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ผู้จ่ายที่จ่ายให้กับผู้รับในกรณีนี้ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0
ผู้รับ ที่เป็นมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายที่จ่ายให้กับผู้รับในกรณีนี้ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10.0
(2) ประเภทเงินได้ที่จ่าย ได้แก่ เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยหุ้นกู้
ผู้จ่าย เฉพาะที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่ธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
ผู้รับ ที่เป็นธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ผู้จ่ายที่จ่ายให้กับผู้รับในกรณีนี้ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0
(3) ประเภทเงินได้ที่จ่าย ได้แก่ เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากรเฉพาะที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมาย ดังกล่าว ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก และจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน
ผู้จ่าย เฉพาะที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือ นิติบุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่ธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
ผู้รับ ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบ กิจการในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ผู้จ่ายที่จ่ายให้กับผู้รับ ในกรณีนี้ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0
ผู้รับ ที่เป็นมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายที่จ่ายให้กับผู้รับในกรณีนี้ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10.0
การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นเงินได้จากการให้บริการ
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 40(1) ถึง 40(7) แห่งประมวลรัษฎากร
การจ่ายค่าบริการดังกล่าว ไม่รวมถึงการจ่ายค่าบริการดังต่อไปนี้
(1) การจ่ายค่าบริการที่มีการกำหนดให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้แล้วตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 อันได้แก่ การจ่ายค่าจ้างทำของ การจ่ายค่าโฆษณา การจ่ายค่าแสดงให้นักแสดงสาธารณะ ซึ่งผู้จ่ายยังคงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเช่นเดิมต่อไป
(2) การจ่ายค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะ ผู้จ่ายไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
(3) การจ่ายค่าบริการของโรงแรมและค่าบริการของภัตตาคาร ผู้จ่ายไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
(4) การจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต ผู้จ่ายไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
คำว่า “การให้บริการ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่การขายสินค้า
คำว่า “ภัตตาคาร” หมายความว่า กิจการขายอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ว่าชนิดใดๆ รวมทั้งกิจการรับจ้างปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าในหรือจากสถานที่ซึ่งจัดให้ประชาชนเข้าไปบริโภคได้
คำว่า “การขนส่งสาธารณะ” หมายความว่า การรับส่งผู้โดยสารเป็นการทั่วไปเป็นปกติธุระ เช่น ค่ารถโดยสารวิ่งประจำเส้นทาง ค่าตั๋วเครื่องบิน
คำว่า “นักแสดงสาธารณะ” หมายความว่า นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพหรือนักแสดงเพื่อความบันเทิง ใด ๆ
ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินสำหรับค่าบริการดังกล่าว หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราดังนี้
ผู้จ่าย เฉพาะที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น
ผู้รับ ที่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้จ่ายที่จ่ายให้ผู้รับในกรณีนี้ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0
ผู้รับ ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม ผู้จ่ายที่จ่ายให้กับผู้รับในกรณีนี้ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0
ตัวอย่าง เงินค่าบริการตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
(1) ค่าบริการเก็บรักษาทรัพย์สินหรือสินค้า หรือรับฝากทรัพย์สินหรือสินค้า ค่าบริการคลังสินค้า เช่น
(ก) บริษัท ก จำกัด เป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ได้ขายรถยนต์ให้บริษัท ข จำกัด แต่บริษัท ข จำกัด ได้ให้บริษัท ก จำกัด ช่วยดูแลรักษารถยนต์ไว้ก่อนจนกว่า จะรับมอบ โดยให้ค่าตอบแทนในการดูแลรักษารถยนต์ กรณีดังกล่าวเป็นการให้บริการรับ ฝากทรัพย์
(ข) บริษัท ค จำกัด มีถังเหล็กขนาดใหญ่ และโกดังเป็นสถานที่เก็บสินค้า ได้ให้บริการแก่บริษัท ง จำกัด ในการเก็บรักษาสารเคมีเหลว โดยการขนถ่ายสารเคมีเหลวตามที่บริษัท ง จำกัด ได้แจ้งให้ทราบโดยใช้วิธีสูบถ่ายสินค้าจากเรือมาเก็บรักษาในถังเหล็กขนาดใหญ่ในการส่งมอบสินค้าจะสูบถ่ายสินค้าจากถังเหล็กขนาดใหญ่เข้าไปบรรจุลงในถังเหล็กขนาดเล็กบนรถบรรทุกของบริษัท ค จำกัดและนำ
ส่งมอบให้แก่บริษัท ง จำกัด ณ สถานที่กำหนดโดยวิธีการสูบถ่ายสินค้าออกจากถังเหล็กขนาดเล็กเข้าไปบรรจุ ณ สถานที่ส่งสินค้ากรณีดังกล่าวเป็นการให้บริการเก็บรักษาสินค้าในส่วนของการสูบถ่ายสินค้าเข้าไปเก็บในถังเหล็กและสูบถ่ายออกและเป็นการให้บริการขนส่งในส่วนของการขนส่งไปให้บริษัท ง จำกัด
(2) ค่าบริการที่จอดรถ ไม่ว่าจะกำหนดสถานที่จอดรถไว้เป็นการเฉพาะหรือไม่
(3) ค่าบริการใช้สถานที่เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการวางทรัพย์สินหรือสินค้า หรือติดตั้งอุปกรณ์ของผู้ใช้บริการ โดยไม่มีการส่งมอบการครอบครอง เช่น การให้ใช้สถานที่วางตู้บรรจุเครื่องดื่มที่ขายโดยเครื่องอัตโนมัติ การให้บริการใช้สถาน ที่ติดตั้งตู้โทรศัพท์สาธารณะ การให้ใช้สถานที่ติดตั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ การให้ใช้สถานที่เพื่อให้ผู้รับบริการวางท่อที่ใช้เพื่อขนส่งสินค้าผ่านที่ของผู้ให้บริการ
(4) ค่าบริการท่าเทียบเรือ ค่าบริการเช่าหลักผูกเรือ ค่าธรรมเนียมผ่านท่า ค่าบริการชั่งน้ำหนัก
(5) ค่าบำรุงสมาชิกในการเป็นสมาชิกเพื่อใช้บริการในสโมสรกีฬา (Sport club) สนามกอล์ฟ หรือสโมสรเพื่อการพักผ่อนหรือสันทนาการ
(6) ค่าธรรมเนียมการเรียกเก็บเงินตามใบบันทึกค่าสินค้าหรือค่าบริการด้วยบัตรเครดิต ที่ธนาคารได้ให้บริการแก่ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการในการเรียกเก็บค่าสินค้าจากธนาคารได้ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ
(7) ค่าบริการในการให้บริการแก่เจ้าของสินค้าที่ผู้จำหน่ายสินค้าได้ให้ส่วนลดแก่ลูกค้าตามที่เจ้าของสินค้ากำหนดและผู้จำหน่ายสินค้าได้เรียกเก็บเงินชดเชยส่วนลดคืนจากเจ้าของสินค้า พร้อมกับค่าบริการ
(8) ค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ที่ผู้ค้ำประกันเรียกเก็บจากลูกหนี้เป็นการตอบแทนที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันลูกหนี้
(9) ค่าบริการใช้พื้นที่ในห้างสรรพสินค้าเพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการชั่วระยะเวลาอันจำกัด โดยไม่ได้มีการส่งมอบการครอบครองพื้นที่ เช่น
(ก) บริษัท ก จำกัด ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าให้บุคคลอื่นใช้พื้นที่ในห้างสรรพสินค้า ประกอบกิจการล้างอัดรูปหรือขายอุปกรณ์กล้องถ่ายรูป โดยมี ข้อตกลงแบ่งรายได้ให้ห้างสรรพสินค้า
(ข) บริษัท ข จำกัด ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า ได้ให้บริการหัวชั้น ซึ่งเป็นชั้นที่อยู่ด้านหน้าหรือพื้นที่ใช้วางสินค้าอุปโภคบริโภคที่มองเห็นเด่นชัดกว่าชั้นวางของทั่วไป เพื่อประโยชน์ในการเร่งยอดขาย
(10) ค่าขนส่งที่ไม่ใช่ค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะ เช่น
(ก) การประกอบกิจการขนส่งสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ภายในประเทศโดยใช้รถยนต์บรรทุกในการขนส่งสินค้าจากบริษัทผู้ว่าจ้าง ณ โรงงานที่ผลิตหรือสถานที่ที่ผู้ว่าจ้างกำหนดไปยังสถานที่ของลูกค้า
(ข) บริษัท ก จำกัด รับจ้างจัดหารถบรรทุกมาขนสินค้าของบริษัท ข จำกัด ผู้ว่าจ้าง ไปยังด่านศุลกากรจังหวัดที่ส่งสินค้าออก และลำเลียงสินค้าจากโกดังพักสินค้าไปขึ้นเรือเล็กที่ผู้ซื้อสินค้าจัดหามาเพื่อรอนำสินค้าผ่านศุลกากร และส่งมอบให้ผู้ซื้อโดยผู้ซื้อจะจัดหาเรือใหญ่มาขนถ่ายสินค้าจากเรือเล็กขึ้นเรือใหญ่
(ค) การประกอบการรับขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือ โดยวิธีการ ดังต่อไปนี้
- ขนสินค้าจากท่าเรือมาโกดัง และจากโกดังไปที่ท่าเรือโดยใช้สายพาน
- ขนสินค้าจากท่าเรือมาโกดัง และจากโกดังไปที่ท่าเรือโดยวิธีใช้คนขน
- ขนสินค้าจากท่าเรือมาโกดัง และจากโกดังไปที่ท่าเรือ โดยใช้รถตัก
(ง) การประกอบกิจการขนส่งโดยรถบรรทุก ไม่ว่าจะจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกหรือไม่
(จ) การประกอบกิจการรับ-ส่งเอกสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วยจักรยานยนต์ โดยคำสั่งของผู้ว่าจ้างซึ่งมีทั้งเรียกใช้ชั่วคราวและประจำเดือน
(ฉ) บริษัท ช จำกัด เป็นผู้รับสิทธิในการจัดพิมพ์และโฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ ได้ว่าจ้างผู้รับจ้างให้ทำการขนส่งสมุดโทรศัพท์ที่พิมพ์เสร็จจากโรงพิมพ์ไปยังสำนักงานของผู้จัดส่งในแต่ละภาคหรือเขตพื้นที่ตามที่กำหนดไว้โดยคิดค่าขนส่งตามน้ำหนักของสมุดโทรศัพท์กรณีหนึ่ง และให้ทำการจัดส่งสมุดโทรศัพท์จากโรงพิมพ์ไปให้แก่ผู้ใช้โทรศัพท์ตามบ้านหรือสำนักในภาคหรือเขตต่างๆ โดยผู้จัดส่งต้องให้ผู้รับลงชื่อรับไว้ และคิดค่าจัดส่งตามจำนวนเล่มของสมุดโทรศัพท์ที่จัดส่งได้อีกกรณีหนึ่ง
(ช) บริษัท ซ จำกัด ได้จดทะเบียนประกอบกิจการขนส่งโดยรถยนต์โดยสารรับจ้างไม่ประจำทางกับกรมการขนส่งทางบก ได้ให้บริการขนส่งพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่งทุกวันเว้นวันอาทิตย์ ตามวัน เวลา และเส้นทางที่กำหนดกันไว้แน่นอนโดยคิดค่าจ้างเป็นรายเดือน
(ซ) การประกอบกิจการใช้รถยนต์ตู้วิ่งรับจ้างทั่วไปตามสถานที่และเส้นทางที่ผู้ว่าจ้างกำหนด โดยผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาพนักงานขับรถให้ และคิดค่าบริการในแต่ละครั้งที่ว่าจ้าง และการประกอบกิจการใช้รถยนต์ตู้รับ-ส่งพนักงานของบริษัทผู้ว่าจ้าง โดยรถยนต์ตู้จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเป็นประจำ มีสถานที่รับส่งที่แน่นอน โดย ผู้รับจ้างจะคิดค่าบริการจากผู้ว่าจ้างเป็นรายเดือน
(ฌ) การให้บริการโดยรถเครนยกตู้สินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
(ญ) การประกอบกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการขนส่งโดยอากาศยาน หรือโดยเรือเดินทะเล
(ฎ) บริษัท พ จำกัด มีใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ได้รับจ้างขนย้ายสิ่งของของลูกค้าไปอีกที่หนึ่ง
(ฏ) การประกอบกิจการรับขนสินค้าขึ้น-ลงจากเรือสินค้าต่างประเทศ พร้อมทั้งตรวจนับสินค้าว่าครบตามจำนวนหรือไม่
(ฐ) ห้างฯ ได้ทำสัญญารับจ้างเหมารถรับส่งพนักงานและสิ่งของ กับบริษัท ป จำกัด โดยห้างฯ จะนำรถที่ซื้อใหม่ พร้อมจัดให้มีพนักงานขับรถทำการรับส่งพนักงานและสิ่งของของผู้ว่าจ้าง ตามสถานที่และเส้นทางที่ผู้ว่าจ้าง หรือพนักงานของผู้ว่าจ้างจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
(ฑ) บริษัท บ จำกัด ประกอบกิจการรับขนถ่ายแป้งมัน
(ฒ) บริษัท ม จำกัด ประกอบกิจการขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินสมุทร เข้าเก็บในโรงพักสินค้าและขนถ่ายจากท่าเรือลงเรือเดินสมุทร โดยใช้เครื่องทุ่นแรง และแรงงานกรรมกร หรือโดยใช้รถเครนขนย้ายตู้บรรจุสินค้า (คอนเทนเนอร์) หรือใช้รถบรรทุกสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง
(ณ) ห้างฯ ประกอบกิจการรับจ้างขนยกหรือลากจูงรถจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยห้างฯ ไม่มีอู่ซ่อมรถเพียงแต่ขนย้ายหรือลากรถไปส่งให้ตามคำสั่งของผู้ว่าจ้างเท่านั้น
(ด) การให้บริการยกเคลื่อนย้ายสิ่งของ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยรถเครน รถเครนตีนตะขาบและรถเทลเลอร์ ในการปฏิบัติงานผู้รับจ้างจะใช้รถเครน เคลื่อนย้ายบรรดาวัสดุก่อสร้างต่างๆ อาทิเช่น แผ่นเหล็ก เสาเข็ม ไปวางหรือกองไว้ ณ จุดที่ ผู้ว่าจ้างจะกำหนดโดยมิได้ให้บริการอย่างอื่นกรณีรถเทลเลอร์จะนำไปขนของจากสถานที่หนึ่งไปยังสถานที่หนึ่งตามที่ผู้ว่าจ้างจะกำหนด โดยผู้รับจ้างจะนำรถพร้อมพนักงานที่ขับรถไปยังสถานที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ตามระยะเวลาที่กำหนด (เช่น 1 เดือน 3 เดือน) จนกว่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งผู้รับจ้างจะคิดค่าบริการตามจำนวนวันที่ได้ไปให้บริการ พร้อมทั้งเรียกเก็บค่าน้ำมัน ค่าจ้างคนขับ (ในกรณีผู้รับจ้างต้องว่าจ้างคนขับจากที่อื่น) จากผู้ว่าจ้างโดยผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบต่อบรรดาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอกและผู้ว่าจ้าง
(ต) บริษัท ม จำกัด ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าโดยมีสัญญารับขนสินค้ากับโรงงานผู้ผลิตสินค้าเพื่อนำสินค้าไปส่งตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนดให้ไปส่ โดยบริษัท ม จำกัด ได้ตกลงกับเจ้าของรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ให้นำรถยนต์มาทำการขนส่งอีก ทอดหนึ่ง แต่ความรับผิดชอบในความชำรุดเสียหายในสินค้านั้น บริษัท ม จำกัด จะต้องรับ ผิดชอบตามสัญญารับจ้างขนส่งต่อเจ้าของสินค้า
การจ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราดังนี้
ผู้จ่าย เฉพาะที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น
ผู้รับ ที่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผู้จ่ายที่จ่ายให้กับผู้รับในกรณีนี้ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0
ผู้รับ ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม ผู้จ่ายที่จ่ายให้กับผู้รับกรณีนี้ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0
ในกรณีที่ผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินที่เป็นรางวัล ส่วนลดหรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้บริโภค หรือเป็นผู้ประกอบการที่นำสินค้าหรือบริการ ไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ ผู้จ่ายเงินได้ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
ตัวอย่าง การจ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ที่อยู่ในเกณฑ์ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
(1) เงินส่วนลด หรือรางวัลที่เจ้าของสินค้ากำหนดจ่ายเมื่อตัวแทนจำหน่ายสินค้า หรือผู้ซื้อสินค้าจากเจ้าของสินค้าเพื่อนำไปขายต่อ ซื้อสินค้าจากเจ้าของสินค้าได้ตามเป้า เช่น
(ก) บริษัท ก จำกัด ขายสินค้าโดยขายส่งให้ตัวแทนจำหน่าย ตั้งเป้าในการขายสินค้าว่าเมื่อตัวแทนจำหน่าย สั่งซื้อสินค้าครบตามจำนวนเงินที่กำหนด บริษัทจะจ่ายรางวัลหรือค่าส่งเสริมการขายหรือส่วนลดภายหลังเป็นอัตราร้อยละ ของยอดซื้อหรือตามจำนวนเงินที่กำหนด
(ข) บริษัท ข จำกัด ได้ขายสินค้าโดยมีเงื่อนไขท้ายประกาศราคาผลิตภัณฑ์ระบุว่า หากลูกค้าซื้อสินค้าได้ตามเป้ามีจำนวนรวมกันเกิน 500,000 หน่วย จะให้ส่วนลดหน่วยละ 0.05 บาท จากราคาประกาศ
(ค) ห้างฯ ประกอบกิจการค้าปลีกน้ำมัน ได้ซื้อน้ำมันหรือ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมได้ตามเป้าที่บริษัท ก จำกัด ผู้จัดจำหน่ายน้ำมันกำหนดไว้ โดยบริษัท ก จำกัด จะให้เงินจำนวนหนึ่งเป็นส่วนลด ซึ่งคำนวณจากยอดซื้อตอนสิ้นเดือน โดยจะออกใบลดหนี้ทางการค้าให้แก่ห้างฯ ซึ่งใบลดหนี้ดังกล่าวห้างฯ สามารถนำไปซื้อน้ำมันในครั้งต่อไปโดยหักจากยอดหนี้ค้างชำระค่าน้ำมัน ส่วนลดที่ห้างฯ ได้รับจากบริษัท ก จำกัด ถือเป็นส่วนลดที่ได้รับเนื่องจากการส่งเสริมการขาย
(ง) บริษัท ข จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายยา ได้ซื้อยาจากบริษัท ค จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้า โดยบริษัท ค จำกัด ได้ให้ส่วนลดแก่บริษัท ข จำกัด ในอัตราร้อยละ 35 ของราคาสินค้าที่บริษัท ข จำกัด สั่งซื้อโดยให้บริษัท ข จำกัด รวบรวมยอดส่วนลดในแต่ละเดือน แล้วจัดส่งใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินไปยังบริษัท ค จำกัด
(2) รางวัลหรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย เช่น
(ก) บริษัท ข จำกัด จัดโปรโมชั่น เพื่อช่วยตัวแทนจำหน่ายสินค้าของตนเองระบายสินค้ารุ่นเก่าออกจากสต๊อก โดยกำหนดว่าเมื่อตัวแทนจำหน่ายขายสินค้ารุ่นนั้นได้ บริษัทจะจ่ายเป็นค่า subsidize มูลค่า 500 บาท ต่อสินค้า 1 เครื่อง ถือเป็นรางวัลหรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากส่งเสริมการขาย
(ข) บริษัท ค จำกัด มีนโยบายส่งเสริมการขาย โดยจะให้รางวัลแก่ตัวแทนจำหน่าย ในวาระพิเศษตามธรรมเนียมปฏิบัติทางการค้า เช่น ในโอกาสครบรอบเป็นตัวแทนจำหน่ายได้ 3 ปี ถือเป็นรางวัลหรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
การจ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าเบี้ยประกันวินาศภัย หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราดังนี้
ผู้จ่าย เฉพาะที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น
ผู้รับ ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม ผู้จ่ายที่จ่ายให้กับผู้รับในกรณีนี้ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0
ตัวอย่าง การจ่ายค่าเบี้ยประกันวินาศภัย ที่อยู่ในเกณฑ์ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
(1) การจ่ายค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ค่าเบี้ยประกันภัยในการขนส่งสินค้า
(2) การจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพ
ข้อ 3 การจ่ายเงินได้พึงประเมินที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่ง กรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป....../........... ต้องมีจำนวนตามสัญญารายหนึ่งๆ ตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ถึงหนึ่งพันบาท
ข้อ 4 ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายนำส่งภาษีที่ต้องหักไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.3 กรณีจ่ายให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภ.ง.ด.53 กรณีจ่ายให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ณ สำนักงานสรรพากรอำเภอ หรือเขต ท้องที่ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินไม่ว่าจะหักภาษีไว้แล้วหรือไม่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ