ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร
ตามประมวลรัษฎากร
พ.ศ. ๒๕๕๘
________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า"พระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. ๒๕๕๘"
มาตรา ๒ พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชกำหนดนี้
"บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล"หมายความว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา ๓๙ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ
"ภาษีอากร"หมายความว่าภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด ๔ ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด ๕ และอากรแสตมป์ตามหมวด ๖ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา ๔ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีรายได้ไม่เกินห้าร้อยล้านบาทที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาและมีกำหนดครบสิบสองเดือน โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชี ที่มีวันเริ่มต้นก่อนวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ หรือมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำ ตราสารที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้
(๑) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ระหว่างการตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร โดยมีหมายเรียกที่ออกก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ
(๒) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมิน ตามมาตรา ๘๘/๓ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ดำเนินการก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ
(๓) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอมหรือเป็นผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกระทำการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยแสดงรายจ่ายอันเป็นเท็จต่อกรมสรรพากร
(๔) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นพนักงานอัยการ หรือชั้นศาล
"รายได้"ตามวรรคหนึ่งหมายความว่า รายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจาก การประกอบกิจการ ซึ่งคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๕ แห่งประมวลรัษฎากร
การได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏด้วยว่า เจ้าพนักงานประเมินยังไม่ได้เริ่มดำเนินการประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร หรือยังไม่ได้ดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับภาษีอากรนั้น ๆ
มาตรา ๕ ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา ๔ ยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ที่เกี่ยวกับรายได้ มูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่ได้รับยกเว้น เพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร ให้เจ้าพนักงานประเมินซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับภาษีอากร มีอำนาจทำการตรวจสอบภาษีอากรที่ขอคืนหรือออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีอากรที่ขอคืน ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร ทั้งนี้ ตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๖ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับการยกเว้นตามมาตรา ๔ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๑) ทำการจดแจ้งต่อกรมสรรพากร ว่าเป็นผู้ได้รับยกเว้นตามพระราชกำหนดนี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และภายในเวลาที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
(๒) ยื่นรายการในการคำนวณภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล พร้อมชำระภาษี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาในการยื่นรายการ ในหรือหลังวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นไป
(๓) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะ แล้วแต่กรณี ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องยื่นตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ พร้อมชำระภาษี ถ้ามี ทั้งนี้ สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการที่ต้องกระทำในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นไป
(๔) ยื่นแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงิน สำหรับตราสารที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร และต้องชำระเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นไป
(๕) มีการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการตั้งแต่ รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นไป
(๖) ไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากร นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ
มาตรา ๗ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งเพิกถอนการได้รับยกเว้นตามมาตรา ๔ ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น
เมื่อมีการเพิกถอนการได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่เคยได้รับยกเว้นการใดๆ ตามพระราชกำหนดนี้ และให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจในการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และดำเนินความผิดอาญาเกี่ยวกับรายได้ มูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารตามที่กำหนดในมาตรา ๔ ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา ๘ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร ให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการที่จำเป็น เพื่อให้สถาบันการเงินที่อยู่ในกำกับดูแล ใช้บัญชีและงบการเงิน ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นรายการภาษีเงินได้เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงินและการขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นต้นไป
มาตรา ๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้