กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ. ๒๕๕๙

ข่าวทั่วไป Friday February 5, 2016 16:44 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สิน

ที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก

พ.ศ. ๒๕๕๙

______________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๑๕ (๓) แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นไป

ข้อ ๒ การคำนวณมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตั้งอยู่ในต่างประเทศ ให้คำนวณตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) กรณีอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในประเทศซึ่งมีราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้ถือเอาตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมตามกฎหมายของประเทศนั้น

(๒) กรณีอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในประเทศซึ่งไม่มีราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตาม (๑) ให้ใช้ราคาที่รับรองโดยหน่วยงานหรือองค์กรที่ได้รับการรับรองหรือความเห็นชอบให้เป็นผู้มีสิทธิประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่

(๓) กรณีอื่นนอกจาก (๑) และ (๒) ให้ใช้ราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดกนั้น

ข้อ ๓ การคำนวณมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) หุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น เว้นแต่ในกรณีทรัพย์มรดกที่เป็นหุ้นนั้นเป็นหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งไปถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ให้ถือมูลค่าหุ้นดังนี้

(ก) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นนั้นไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ถือเอามูลค่าที่สูงกว่าระหว่างมูลค่าดังต่อไปนี้ มาใช้ในการคำนวณมูลค่าของทรัพย์มรดก

๑) มูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ ในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

๒) มูลค่าทางบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

(ข) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นนั้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของต่างประเทศ ให้ถือเอาราคาหรือมูลค่าที่สูงกว่าระหว่างราคา หรือมูลค่าดังต่อไปนี้ มาใช้ในการคำนวณมูลค่าของทรัพย์มรดก

๑) มูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ ในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

๒) ราคาหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นนั้นในเวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก

(ค) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นตาม (ก) หรือ (ข) เกินกว่า ๑ แห่ง ให้นับรวมราคาหรือมูลค่าหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ๆ นั้น ตาม (ก) หรือ (ข) เทียบกับมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และให้ถือเอาราคาหรือมูลค่าที่สูงกว่ามาใช้ในการคำนวณมูลค่าของทรัพย์มรดก

(๒) ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นกู้ ให้ใช้มูลค่าดังต่อไปนี้ เป็นมูลค่าของทรัพย์มรดก

(ก) กรณีที่มีการจำหน่ายครั้งแรกต่ำกว่าราคาไถ่ถอน ให้ใช้ราคาที่จำหน่ายครั้งแรก

(ข) กรณีที่มีการจำหน่ายครั้งแรกไม่ต่ำกว่าราคาไถ่ถอน ให้ใช้ราคาไถ่ถอน

(๓) หลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของต่างประเทศ ให้ถือเอาราคาของหลักทรัพย์นั้นในเวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก

(๔) กรณีอื่นนอกจาก (๑) (๒) และ (๓) ให้ถือตามราคาหรือมูลค่าในวันที่ได้รับมรดก

ข้อ ๔ การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่เป็นยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) มูลค่าของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ให้ใช้ราคาประเมินราคารถสำหรับปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรในการโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายรถดังกล่าวที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยให้คำนวณมูลค่าตามราคาเฉลี่ยระหว่างราคาประเมินสูงสุดและราคาประเมินต่ำสุดของราคาประเมินรถนั้น ในกรณีไม่มีมูลค่าตามราคาประเมิน ให้ใช้ราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคลหรือหน่วยงาน ที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพเกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้น

(๒) มูลค่าของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ให้ใช้ราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพของประเทศนั้น ๆ เกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้น

(๓) มูลค่าของเรือหรือเครื่องบิน ให้ใช้ราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพของประเทศนั้นๆ เกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้น

(๔) กรณีอื่นนอกจาก (๑) (๒) และ (๓) ให้ถือตามราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก

ข้อ ๕ การคำนวณมูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่เจ้ามรดก มีสิทธิเรียกถอนคืนหรือมีสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ ให้ถือเอาตามมูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันรวมทั้งดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อื่นใดที่จะได้รับ จากเงินดังกล่าวในวันที่ได้รับมรดกนั้น

ให้ไว้ ณ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๕ (๓) แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ