พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๙๗) พ.ศ. ๒๕๕๙

ข่าวทั่วไป Wednesday February 10, 2016 17:31 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๙๗)

พ.ศ. ๒๕๕๙

_____________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙

เป็นปีที่ ๗๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลบางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่าว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๙๗) พ.ศ. ๒๕๕๙"

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้

"บริษัทเป้าหมาย"หมายความว่าบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน และต้องไม่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

"กิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน"หมายความว่ากิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมดังต่อไปนี้ซึ่งใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือให้บริการตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกำหนด และได้รับการรับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

(๑) อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร

(๒) อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน ผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด

(๓) อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ

(๔) อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข

(๕) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

(๖) อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า

(๗) อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ

(๘) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

(๙) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และบริการสารสนเทศ

(๑๐) อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมใหม่

"ทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน"หมายความว่าทรัสต์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

มาตรา ๔ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน สำหรับรายได้ดังต่อไปนี้

(๑) เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทเป้าหมาย ทั้งนี้ เฉพาะเงินปันผลส่วนที่คำนวณได้จากกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน

(๒) รายได้จากการโอนหุ้นของบริษัทเป้าหมาย ทั้งนี้ เฉพาะการโอนหุ้นที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน โดยบริษัทเป้าหมายต้องประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มและก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนที่บริษัท ซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนได้รับรายได้จากการโอนหุ้น

มาตรา ๕ บริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนที่จะได้รับสิทธิตามมาตรา ๔ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

(๒) มีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ยี่สิบล้านบาทขึ้นไป

(๓) ถือหุ้นในบริษัทเป้าหมายเพียงอย่างเดียว หรือถือหุ้นในบริษัทเป้าหมายและถือหุ้นในบริษัทอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งมิได้ประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน

(๔) จดแจ้งการเป็นกิจการเงินร่วมลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประกาศกำหนด

(๕) ไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๕ อัฏฐารสแห่งพระราชกฤษฎีกาออกตาม ความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่๑๐) พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๘๑) พ.ศ. ๒๕๕๒

ในกรณีที่บริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนขาดคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งข้อหนึ่งข้อใดในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิเป็นอันระงับเฉพาะในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

มาตรา ๖ บริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนที่มีคุณสมบัติตามมาตรา ๕ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔ เป็นระยะเวลาสิบรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันที่จดแจ้งการเป็นกิจการเงินร่วมลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยให้นับวันที่ จดแจ้งนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก แม้ว่าจะมีระยะเวลาน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ตาม

มาตรา ๗ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรายได้ดังต่อไปนี้

(๑) เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน ทั้งนี้ เฉพาะเงินปันผลที่จ่าย จากรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔

(๒) รายได้จากการโอนหุ้นของบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน ทั้งนี้ เฉพาะการโอนหุ้นที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ดังต่อไปนี้

(ก) กรณีบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนไม่มีกำไรสะสม ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามสัดส่วนการลงทุนของบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนที่ได้ลงทุนในบริษัทเป้าหมายซึ่งประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน โดยบริษัทเป้าหมายต้องประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มและก่อให้เกิดรายได้ในบริษัทเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของรายได้ทั้งหมด ในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนที่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับรายได้จากการโอนหุ้น ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนของบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

(ข) กรณีบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนมีกำไรสะสมจากรายได้ที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔ ไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของกำไรสะสมทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนที่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับรายได้จากการโอนหุ้นนั้น ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งจำนวน

กำไรสะสมใน (ก) และ (ข) มิให้หมายความรวมถึงกำไรสะสมในส่วนที่ได้จัดสรร เป็นทุนสำรองตามที่มีกฎหมายกำหนด

(๓) รายได้จากการที่บริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนเลิกกัน ตามสัดส่วนกำไรสะสม จากรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔ ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน

มาตรา ๘ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรายได้ดังต่อไปนี้

(๑) เงินปันผลที่ได้รับจากทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน ทั้งนี้ เฉพาะเงินปันผลที่จ่ายจากรายได้จากการลงทุนในบริษัทเป้าหมายในส่วนที่คำนวณได้จากการประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน

(๒) รายได้จากการโอนหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนซึ่งลงทุนในบริษัทเป้าหมาย ทั้งนี้ เฉพาะการโอนหน่วยทรัสต์ที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ดังต่อไปนี้

(ก) กรณีทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนไม่มีกำไรสะสม ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามสัดส่วน การลงทุนของทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนที่ได้ลงทุนในบริษัทเป้าหมายซึ่งประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน โดยบริษัทเป้าหมายต้องประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มและก่อให้เกิดรายได้ในบริษัทเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนที่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับรายได้จากการโอนหน่วยทรัสต์ ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนของทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

(ข) กรณีทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนมีกำไรสะสมจากรายได้จากการลงทุนในบริษัทเป้าหมายในส่วนที่คำนวณได้จากกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุนไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของกำไรสะสมทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนที่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับรายได้จากการโอนหน่วยทรัสต์นั้น ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งจำนวน

(๓) รายได้จากการที่ทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนเลิกกัน ตามสัดส่วนกำไรสะสมที่ได้จาก การลงทุนในบริษัทเป้าหมายเฉพาะส่วนที่ประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้ เกินกว่าเงินทุน

มาตรา ๙ การได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๘ ทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) จดแจ้งการเป็นทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประกาศกำหนด

(๒) มีมูลค่าเงินทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ยี่สิบล้านบาทขึ้นไป

(๓) ถือหุ้นในบริษัทเป้าหมายเพียงอย่างเดียว หรือถือหุ้นในบริษัทเป้าหมายและถือหุ้นในบริษัทอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งมิได้ประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน

ในกรณีที่ทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนขาดคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งข้อหนึ่งข้อใดในปีภาษีใดหรือรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิเป็นอันระงับเฉพาะในปีภาษีนั้นหรือรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

มาตรา ๑๐ การได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๘ ให้ได้รับยกเว้นเป็นระยะเวลาสิบปีภาษีหรือสิบรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันที่จดแจ้งการเป็นทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยให้นับวันที่จดแจ้งนั้นเป็นปีภาษีแรกหรือ รอบระยะเวลาบัญชีแรก แม้ว่าจะมีระยะเวลาน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ตาม

มาตรา ๑๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ