พระราชกฤษฎีกา กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษีการรับมรดก พ.ศ. ๒๕๕๙

ข่าวทั่วไป Thursday March 3, 2016 15:47 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชกฤษฎีกา

กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข

การผ่อนชำระภาษีการรับมรดก

พ.ศ. ๒๕๕๙

________________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

เป็นปีที่ ๗๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษีการรับมรดก อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช๒๕๕๗ และมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดกพ.ศ. ๒๕๕๘ จึงทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า"พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษีการรับมรดกพ.ศ. ๒๕๕๙"

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในการผ่อนชำระภาษีให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกานี้แต่ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ เสียภาษีถึงแก่ความตายโดยยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีแทนผู้ตายยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีได้

คำร้องขอผ่อนชำระภาษีตามวรรคหนึ่งให้ยื่นพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือเวลาที่อธิบดีอนุญาตให้เลื่อนออกไปณสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาและให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๔ ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีและปรากฏว่ามีภาษีที่ต้องเสียเพิ่มขึ้น ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ว่าจะได้มีการชำระภาษีหรือการผ่อนชำระภาษีแล้วหรือไม่อาจยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีตามจำนวนที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นจากการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินโดยให้ยื่นภายในวันสุดท้ายของกำหนดเวลาชำระภาษีที่ต้องเสียเพิ่มขึ้น

ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีถึงแก่ความตายไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินหากได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือเวลาที่อธิบดีอนุญาตให้เลื่อนออกไปแล้ว ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีแทนผู้ตายยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีสำหรับจำนวนภาษีที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นจากการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินได้

คำร้องขอผ่อนชำระภาษีตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้ยื่นภายในวันสุดท้ายของกำหนดเวลาชำระภาษีที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นณสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีนั้นและให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด

ห้ามมิให้มีการผ่อนชำระภาษีในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีแล้วพบว่ามูลค่ามรดก ที่ต้องเสียภาษีขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าหรือพบว่ามีรายการที่ผู้ยื่นมิได้แสดงไว้ในแบบแสดงรายการภาษีหรือแสดงไว้เป็นเท็จ

มาตรา ๕ ผู้ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีตามมาตรา๓หรือมาตรา๔ต้องแจ้งรายละเอียดการผ่อนชำระภาษีแล้วแต่กรณีในคำร้องโดยอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(๑) จำนวนปีที่จะผ่อนชำระภาษีซึ่งต้องไม่เกินห้าปี

(๒) จำนวนงวดที่จะผ่อนชำระภาษีในแต่ละปีโดยกำหนดเป็นงวดรายเดือน งวดรายสามเดือน งวดรายหกเดือน หรืองวดรายสิบสองเดือน

(๓) จำนวนเงินที่จะผ่อนชำระภาษีในแต่ละปี

(๔) จำนวนเงินที่จะต้องชำระในแต่ละงวดโดยมีจำนวนเงินเท่ากันทุกงวดซึ่งเฉลี่ยตามจำนวนเงินที่จะผ่อนชำระภาษีในแต่ละปี

(๕) หลักประกันการผ่อนชำระภาษีตามมาตรา ๖

ผู้ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีต้องจัดให้มีหลักประกันตามวรรคหนึ่ง(๕)ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ยื่นคำร้องหากไม่จัดให้มีหลักประกันอย่างครบถ้วนตามที่แจ้งไว้ภายในเวลาดังกล่าว ให้สิทธิ การผ่อนชำระภาษีสิ้นสุดลง

มาตรา ๖ ผู้ผ่อนชำระภาษีต้องจัดให้มีหลักประกันการผ่อนชำระภาษีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้จนกว่าจะสิ้นสุดเวลาการผ่อนชำระภาษี

(๑) หนังสือค้ำประกันของสถาบันการเงินภายในประเทศไทยตามแบบที่อธิบดีกำหนดโดยให้ส่งมอบหนังสือค้ำประกันดังกล่าวต่อกรมสรรพากร

(๒) ที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของผู้ผ่อนชำระภาษีหรือของบุคคลอื่นโดยจดทะเบียนจำนองไว้ต่อกรมสรรพากร

(๓) กรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุดของผู้ผ่อนชำระภาษีหรือของบุคคลอื่นโดยจดทะเบียน จำนองไว้ต่อกรมสรรพากร

(๔) พันธบัตรรัฐบาลของผู้ผ่อนชำระภาษีหรือของบุคคลอื่นโดยทำสัญญาจำนำไว้ต่อกรมสรรพากร

หลักประกันการผ่อนชำระภาษีตามวรรคหนึ่งต้องไม่มีภาระผูกพันและมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าภาษี ที่ต้องชำระโดยทรัพย์สินตาม (๒) และ (๓) ให้ใช้ราคาประเมินที่ใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินในการกำหนดหรือคิดคำนวณมูลค่า

มาตรา ๗ ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีปฏิบัติตามมาตรา ๕ และมาตรา๖ครบถ้วนแล้วให้อธิบดีอนุญาตการผ่อนชำระภาษีตามคำร้องนั้น

เมื่อมีการอนุญาตให้มีการผ่อนชำระภาษีแล้วให้การผ่อนชำระภาษีตามมาตรา๓มีผลนับตั้งแต่วันถัดจากวันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่อธิบดีอนุญาตให้เลื่อนออกไปสำหรับการผ่อนชำระภาษีตามมาตรา ๔ ให้มีผลนับตั้งแต่วันยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษี

มาตรา ๘ ผู้ผ่อนชำระภาษีต้องชำระภาษีภายในวันสุดท้ายแห่งงวดที่ถึงกำหนดชำระนั้น

ในกรณีผู้ผ่อนชำระภาษีประสงค์จะชำระภาษีให้เสร็จสิ้นก่อนกำหนดเวลาที่ขอผ่อนชำระภาษีผู้ผ่อนชำระภาษีจะชำระภาษีในแต่ละงวดหรืองวดใดงวดหนึ่งเป็นจำนวนมากกว่าจำนวนที่ขอผ่อนชำระภาษีในแต่ละงวดก็ได้ทั้งนี้แม้จำนวนปีที่ผ่อนชำระและจำนวนงวดที่ผ่อนชำระในแต่ละปีจะไม่เป็นไปตามที่ ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีไว้ก็ให้กระทำได้

กรณีผู้ผ่อนชำระภาษีไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกานี้หรือไม่ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่ง ให้ผู้ผ่อนชำระภาษีหมดสิทธิการผ่อนชำระภาษีและต้องชำระภาษีที่ค้างอยู่ทั้งจำนวนพร้อมเงินเพิ่มโดยให้คำนวณเงินเพิ่มนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดวันสุดท้ายของกำหนดเวลาชำระภาษีที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นแล้วแต่กรณีจนถึงวันที่ชำระภาษีครบถ้วน

มาตรา ๙ การผ่อนชำระภาษีภายในเวลาสองปีให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่มสำหรับเงินเพิ่มที่อาจคำนวณได้ตลอดระยะเวลาการผ่อนชำระภาษีนั้น

การผ่อนชำระภาษีที่มีเวลาเกินกว่าสองปีให้เสียเงินเพิ่มร้อยละศูนย์จุดห้าต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของเงินภาษีที่ต้องชำระโดยให้คำนวณเงินเพิ่มนับตั้งแต่วันที่การผ่อนชำระภาษีมีผลเว้นแต่จะมีการชำระภาษีครบถ้วนภายในเวลาสองปีให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและให้นำเงินเพิ่มที่ได้ชำระแล้วมาหักออกจาก ภาษีที่ต้องชำระ

มาตรา ๑๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือโดยที่มาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติ ภาษีการรับมรดกพ.ศ. ๒๕๕๘ บัญญัติให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกจะผ่อนชำระภาษีการรับมรดกที่ต้องเสียก็ได้ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาจึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ