พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๐๒) พ.ศ. ๒๕๕๙

ข่าวทั่วไป Monday April 18, 2016 15:38 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๐๒)

พ.ศ. ๒๕๕๙

______________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙

เป็นปีที่ ๗๑ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลบางกรณี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๓(๑) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ.๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตรา พระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า"พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๐๒) พ.ศ.๒๕๕๙" มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้ "ขาย"หมายความว่าจำหน่ายจ่ายหรือโอนสินค้าโดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน และให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้าสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอน ไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว และการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร

"สินค้า"หมายความว่าทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ที่มีไว้ เพื่อขายเท่านั้น

"บริการ"หมายความว่าการกระทำใดๆอันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า

"กิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย"หมายความว่ากิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายดังต่อไปนี้ซึ่งใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกำหนดและได้รับการรับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

(๑) อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร

(๒) อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงานผลิตพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด

(๓) อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ

(๔) อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข

(๕) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอุตสาหกรรมบริการและอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

(๖) อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า

(๗) อุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับ

(๘) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

(๙) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์และบริการสารสนเทศ

(๑๐) อุตสาหกรรมฐานการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมหรืออุตสาหกรรมใหม่ "รายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ"หมายความรวมถึง

(๑) รายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้และสินค้ากึ่งสำเร็จรูปในกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย

(๒) รายได้จากการจำหน่ายเครื่องจักรส่วนประกอบอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้และทรัพย์สิน บรรดาที่ใช้ในกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายและหมดสภาพหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้งานต่อไป

(๓) รายได้อื่นของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

มาตรา ๔ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติและเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(๑) จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙

(๒) มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท

(๓) มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

(๔) ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติจากอธิบดีทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

(๕) ไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(๖) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๕ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔ ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิเป็นระยะเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังต่อไปนี้

(๑) ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกหรือ

(๒) ในกรณีที่มีการยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติจากอธิบดีระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีใดให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกแม้ว่ามีระยะเวลาน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ตาม

ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขาดคุณสมบัติหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ตามมาตรา๔ในรอบระยะเวลาบัญชีใดให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เป็นอันระงับเฉพาะในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือโดยที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมสมควรยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ที่มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาทเป็นเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีจึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ