พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๐๔)
พ.ศ. ๒๕๕๙
_____________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙
เป็นปีที่ ๗๑ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินบางกรณี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๓(๑) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ.๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า"พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๐๔) พ.ศ.๒๕๕๙" มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ๒แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติมเปลี่ยนแปลงขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซม ให้คงสภาพเดิมตามมาตรา ๖๕ ตรี(๕) แห่งประมวลรัษฎากรเป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง และต้องเป็นทรัพย์สินดังต่อไปนี้
(๑) เครื่องจักรส่วนประกอบอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้เครื่องตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์
(๒) โปรแกรมคอมพิวเตอร์
(๓) ยานพาหนะที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน ๑๐ คน ตามกฏหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพามิตที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า
(๔) อาคารถาวรแต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย รายจ่ายที่ได้จ่ายไปตามวรรคหนึ่งต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่๓พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๔ ทรัพย์สินตามมาตรา๓ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
(๒) ต้องสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา๖๕ทวิและต้องได้ทรัพย์สินนั้นมาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามประสงค์ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๙
(๓) ต้องอยู่ในราชอาณาจักรเว้นแต่ยานพาหนะตามมาตรา ๓(๓)
(๔) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(๕) ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเว้นแต่เป็นการนำไปใช้ในโครงการตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ที่ยังไม่มีการลงทุนจริงและเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิประโยชน์นั้น
มาตรา ๕ การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ตามมาตรา๓สำหรับทรัพย์สิน แต่ละประเภทให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขและระยะเวลาตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๖ กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ตามพระราชกฤษฎีกานี้และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา๓มาตรา๔และมาตรา๕ในรอบระยะเวลาบัญชีใดให้สิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลงและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้นเว้นแต่กรณีที่มีการขายทรัพย์สินหรือทรัพย์สินถูกทำลายหรือสูญหายหรือสิ้นสภาพให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ขายทรัพย์สินหรือทรัพย์สินนั้นถูกทำลายหรือสูญหายหรือสิ้นสภาพ แล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ที่ได้รับแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิอีก
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี