พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๑๐) พ.ศ. ๒๕๕๙

ข่าวทั่วไป Thursday May 19, 2016 16:02 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๑๐)

พ.ศ. ๒๕๕๙

__________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

เป็นปีที่ ๗๑ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการยกเว้นอากรแสตมป์บางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๓(๑) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ.๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตรา พระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า"พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๑๐) พ.ศ.๒๕๕๙"

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๒๘) ของมาตรา๖แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๓๘) พ.ศ.๒๕๔๑

มาตรา ๔ ให้ยกเลิก (๓๖) ของมาตรา๖แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๙๘) พ.ศ.๒๕๔๕

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือโดยที่พระราชกฤษฎีกาออกตามความ ในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ.๒๕๐๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้บัญญัติยกเว้นอากรแสตมป์ให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้องที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินซึ่งได้รับความเสียหายจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี๒๕๔๐ซึ่งในปัจจุบัน การดำเนินการได้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์แล้ว สมควรยกเลิกการยกเว้นอากรแสตมป์ของกองทุนรวมดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ