พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๔๐) พ.ศ. ๒๕๖๐

ข่าวทั่วไป Sunday May 7, 2017 14:57 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๔๐)

พ.ศ. ๒๕๖๐

__________

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐

เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ.๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า"พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๔๐) พ.ศ. ๒๕๖๐"

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้ "อุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์"หมายความว่าอุปกรณ์สำหรับการรับส่งข้อมูลการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จากบัตรเครดิต บัตรเดบิต เงินอิเล็กทรอนิกส์หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ไปยังผู้ให้บริการซึ่งออกบัตร

"บัตรเดบิต"หมายความว่าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ให้บริการซึ่งเป็นธนาคารหรือสถาบันการเงินออกให้แก่ผู้ใช้บริการเพื่อใช้ชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือค่าอื่นใดแทนการชำระด้วยเงินสด หรือเพื่อใช้เบิก ถอน โอน หรือทำธุรกรรมอื่นใดที่เกี่ยวกับเงิน ตามมูลค่าของเงินเฉพาะที่มีการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ใช้บริการที่เปิดไว้กับผู้ให้บริการ

"ขาย"หมายความว่าจำหน่ายจ่ายหรือโอนสินค้าโดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน และให้หมายความรวมถึงสัญญาเช่าซื้อสินค้าสัญญาซื้อขายสินค้าโดยมีเงื่อนไขการผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อและการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร "สินค้า"หมายความว่าทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น

"บริการ"หมายความว่าการกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า

มาตรา ๔ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่าย เพื่อการลงทุนในอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา ๖๕ ตรี(๕) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องจ่ายตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นไม่เรียกเก็บค่าเช่าอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จากผู้รับชำระเงิน ผ่านอุปกรณ์ดังกล่าว และต้องเป็นการใช้สิทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายไปทั้งจำนวน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๕ อุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา ๔ ต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามโครงการลงทุนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติหรือผู้ที่คณะกรรมการดังกล่าวมอบหมาย และได้ใช้จริงในโครงการดังกล่าว

(๒) ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน

(๓) เป็นอุปกรณ์ที่หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ตามมาตรา ๖๕ ทวิ(๒) แห่งประมวลรัษฎากร และอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามวัตถุประสงค์ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑

(๔) ต้องมีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามปี นับแต่วันที่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้การได้ตามวัตถุประสงค์ เว้นแต่ถูกทำลาย สูญหาย หรือสิ้นสภาพ

(๕) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(๖) ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

มาตรา ๖ ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ตามพระราชกฤษฎีกานี้ และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา ๔ และมาตรา ๕ ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลง และบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น เว้นแต่กรณีที่ทรัพย์สินถูกทำลาย สูญหาย หรือสิ้นสภาพ

มาตรา ๗ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน๒และส่วน๓หมวด๓ในลักษณะ๒แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตผ่านอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ให้แก่

(๑) บุคคลธรรมดา ซึ่งมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๕) (๖)(๗) หรือ (๘) แห่งประมวลรัษฎากร รวมกันไม่เกินสามสิบล้านบาทในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

(๒) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วไม่เกินห้าล้านบาทในวันสุดท้าย ของรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการ ไม่เกินสามสิบล้านบาท ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

การยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๘ ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา ๗ (๒) มีทุนที่ชำระแล้วเกินห้าล้านบาทในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีใด หรือมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการเกินสามสิบล้านบาทในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๗ สิ้นสุดลงตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีนั้น

มาตรา ๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือโดยที่ได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติขึ้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและของประเทศในระยะยาว และเพื่อเป็นการสนับสนุนโครงการขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อชำระเงินแทนเงินสดภายใต้แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว สมควรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ลงทุนในอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับชำระเงินที่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตผ่านอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จึงจำเป็นต้องตรา พระราชกฤษฎีกานี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ