พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๖๔)
พ.ศ. ๒๕๖๑
__________
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑
เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝาก และผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลาม บางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๖๔) พ.ศ. ๒๕๖๑"
มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐๑) พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา ๔ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
(๑) ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินกับธนาคารในประเทศ
(๒) ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
(๓) ผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามตามหลักการมุฎอเราะบะฮ์กับธนาคารในประเทศ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ. ๒๕๔๖ และต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นไป
ดอกเบี้ยเงินฝากและผลตอบแทนเงินฝากตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากที่เกิดจากการฝากเงินเป็นรายเดือนติดต่อกันมีระยะเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่เดือนนับแต่วันที่เริ่มฝาก โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากันแต่ไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาทต่อเดือน และรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินหกแสนบาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๕ ในกรณีที่การฝากเงินไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๔ วรรคสอง หรือตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดตามมาตรา ๔ วรรคสอง ให้ถือว่า เป็นกรณีที่ธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายขาดไปสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากส่วนที่ได้จ่ายไปแล้ว และให้ธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์นำส่งภาษีส่วนที่ขาด พร้อมกับเงินเพิ่มร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีส่วนที่ขาดโดยไม่มีเบี้ยปรับ
ให้ธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์นำส่งภาษีและเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งโดยยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่มีการผิดเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์อันเป็นเหตุ ให้ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกานี้
มาตรา ๖ บทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย การยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐๑) พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่ถูกยกเลิกโดยพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไป เฉพาะในการจัดเก็บภาษีอากรที่ค้างอยู่หรือพึงชำระสำหรับเงินได้พึงประเมินก่อนที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
ที่มา: http://www.rd.go.th