พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๗๗) พ.ศ. ๒๕๖๒

ข่าวทั่วไป Sunday February 17, 2019 10:45 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๗๗)

พ.ศ. ๒๕๖๒

________________

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒

เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ บางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๗๗) พ.ศ. ๒๕๖๒"

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้

"ธนาคารพาณิชย์" หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน แต่ไม่หมายความรวมถึงสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์

มาตรา ๔ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ สำหรับผลประโยชน์ที่ได้จากการที่ธนาคารพาณิชย์ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน

มาตรา ๕ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด ๕ และอากรแสตมป์ตามหมวด ๖ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ สำหรับเงินได้พึงประเมิน รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน

มาตรา ๖ ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด ๔ ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด ๕ และอากรแสตมป์ตามหมวด ๖ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ สำหรับ มูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ โอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน

มาตรา ๗ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือการเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ดีขึ้น ซึ่งทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการควบเข้ากันหรือการรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซม ให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๕) แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี ให้แก่

(๑) ธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการควบเข้ากันหรือที่รับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ที่มีสินทรัพย์รวมเกินกว่าหนึ่งล้านล้านบาทแต่ไม่เกินสองล้านล้านบาท เป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้าของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง

(๒) ธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการควบเข้ากันหรือที่รับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ที่มีสินทรัพย์รวมเกินกว่าสองล้านล้านบาทแต่ไม่เกินสามล้านล้านบาท เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง

(๓) ธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการควบเข้ากันหรือที่รับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ที่มีสินทรัพย์รวมเกินกว่าสามล้านล้านบาทแต่ไม่เกินสี่ล้านล้านบาท เป็นจำนวนร้อยละเจ็ดสิบห้าของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง หรือ

(๔) ธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการควบเข้ากันหรือที่รับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ที่มีสินทรัพย์รวมเกินกว่าสี่ล้านล้านบาท เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง

รายจ่ายตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือการเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งอาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย และต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต้องไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน (๒) ต้องสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา ๖๕ ทวิ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องได้ทรัพย์สินนั้นมาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

(๓) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

มาตรา ๘ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการเลิกหรือการปรับปรุงแก้ไขสัญญาซื้อขาย สัญญาเช่า สัญญาจ้างทำของ หรือสัญญาบำรุงรักษา ที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือที่เกี่ยวข้องกับธนาคารพาณิชย์ อันเนื่องมาจากการควบเข้ากันหรือการรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ให้แก่

(๑) ธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการควบเข้ากันหรือที่รับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ที่มีสินทรัพย์รวมเกินกว่าหนึ่งล้านล้านบาทแต่ไม่เกินสองล้านล้านบาท เป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้าของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง

(๒) ธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการควบเข้ากันหรือที่รับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ที่มีสินทรัพย์รวมเกินกว่าสองล้านล้านบาทแต่ไม่เกินสามล้านล้านบาท เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง

(๓) ธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการควบเข้ากันหรือที่รับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ที่มีสินทรัพย์รวมเกินกว่าสามล้านล้านบาทแต่ไม่เกินสี่ล้านล้านบาท เป็นจำนวนร้อยละเจ็ดสิบห้าของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง หรือ

(๔) ธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการควบเข้ากันหรือที่รับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ที่มีสินทรัพย์รวมเกินกว่าสี่ล้านล้านบาท เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง

มาตรา ๙ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการรื้อถอนเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ อันเนื่องมาจากการควบเข้ากันหรือการรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ให้แก่

(๑) ธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการควบเข้ากันหรือที่รับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ที่มีสินทรัพย์รวมเกินกว่าหนึ่งล้านล้านบาทแต่ไม่เกินสองล้านล้านบาท เป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้าของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง

(๒) ธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการควบเข้ากันหรือที่รับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ที่มีสินทรัพย์รวมเกินกว่าสองล้านล้านบาทแต่ไม่เกินสามล้านล้านบาท เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง

(๓) ธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการควบเข้ากันหรือที่รับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ที่มีสินทรัพย์รวมเกินกว่าสามล้านล้านบาทแต่ไม่เกินสี่ล้านล้านบาท เป็นจำนวนร้อยละเจ็ดสิบห้าของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง หรือ

(๔) ธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการควบเข้ากันหรือที่รับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ที่มีสินทรัพย์รวมเกินกว่าสี่ล้านล้านบาท เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง

มาตรา ๑๐ การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ตามมาตรา ๗ มาตรา ๘ และมาตรา ๙ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และระยะเวลาตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๑๑ การยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ใช้เฉพาะธนาคารพาณิชย์หรือผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งได้รับ ความเห็นชอบให้ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่กันจากธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ และต้องควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่กันแล้วเสร็จภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

มาตรา ๑๒ การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายตามมาตรา ๗ มาตรา ๘ และมาตรา ๙ ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๑๓ ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๗ มาตรา ๘ หรือมาตรา ๙ และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๒ ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลงและธนาคารพาณิชย์นั้นจะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น เว้นแต่กรณีที่มีการขายทรัพย์สินหรือทรัพย์สินถูกทำลายหรือสูญหายหรือสิ้นสภาพ ให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่รอบระยะเวลาบัญชี ที่ได้ขายทรัพย์สินหรือทรัพย์สินนั้นถูกทำลายหรือสูญหายหรือสิ้นสภาพ แล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ที่ได้รับแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิอีก

มาตรา ๑๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ