พระราชบัญญัติ
ยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร
และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการ
เกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
พ.ศ. ๒๕๖๒
______________
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. ๒๕๖๒"
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
"บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล" หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา ๓๙ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ
"ภาษีอากร" หมายความว่า ภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด ๔ ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด ๕ และอากรแสตมป์ตามหมวด ๖ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา ๔ ภายใต้บังคับมาตรา ๗ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ หรือที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้แล้วแต่ไม่ถูกต้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อได้ดำเนินการตามมาตรา ๖ แล้ว ให้ได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม สำหรับภาษีอากรตามประเภท ภาษีอากรและรอบระยะเวลาบัญชีหรือเดือนภาษีหรือประเภทตราสารตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖ (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี
การยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ไม่ให้ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินหรือหนังสือแจ้งให้เสียอากรและค่าเพิ่มอากรแล้ว
มาตรา ๕ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มตามมาตรา ๔ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย ซึ่งมีกำหนดครบสิบสองเดือน โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ไม่เกินห้าร้อยล้านบาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามมาตรา ๖๕ แห่งประมวลรัษฎากร
(๒) ได้มีการยื่นรายการภาษีเงินได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตาม (๑) ไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
(๓) ไม่เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีหรือผู้ใช้ใบกำกับภาษีที่กรมสรรพากรได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับใบกำกับภาษีตามประมวลกฎหมายอาญาไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๖ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มตามมาตรา ๔ ต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ลงทะเบียนต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
(๒) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรหรือยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงิน พร้อมทั้งชำระภาษีอากร ที่ยังไม่ได้ชำระหรือยังชำระไม่ครบถ้วนทั้งจำนวน ภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ดังต่อไปนี้
(ก) ภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลของรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันเริ่มต้นในหรือหลังวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
(ข) ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับประจำเดือนภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ จนถึงเดือนภาษีก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
(ค) อากรแสตมป์ สำหรับตราสารที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ จนถึงวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
(๓) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรทุกประเภทตามประมวลรัษฎากรที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่หักหรือนำส่ง สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ จนถึงวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ พร้อมทั้งนำส่งภาษีอากรที่ยังไม่ได้นำส่งหรือยังนำส่งไม่ครบถ้วนทั้งจำนวน ภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒
มาตรา ๗ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มตามมาตรา ๔ ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี และแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงิน สำหรับภาษีอากรทุกประเภทตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครบถ้วน สำหรับ การยื่นแบบตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เว้นแต่ มีเหตุอันสมควรตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้หมดสิทธิได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มตามมาตรา ๔ และให้กรมสรรพากรดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ที่เกี่ยวข้องต่อไป
มาตรา ๘ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มตามมาตรา ๔ เมื่อได้ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖ แล้ว ให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวข้อง
มาตรา ๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
ที่มา: http://www.rd.go.th