พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๒

ข่าวทั่วไป Monday April 15, 2019 14:19 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชบัญญัติ

ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๙)

พ.ศ. ๒๕๖๒

__________

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒

เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๒"

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๘ บรรดาบัญชี หลักฐาน และเอกสารประกอบการลงบัญชีซึ่งเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัทให้ทำเป็นภาษาไทยและต้องระบุเป็นเงินตราไทย เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้บริษัททำเป็นภาษาต่างประเทศหรือระบุเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งมิใช่เงินตราไทย หรือเปลี่ยนแปลงเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ให้บริษัทที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีตามวรรคหนึ่งใช้ภาษาต่างประเทศหรือเงินตราสกุลที่ใช้ใน การดำเนินงานซึ่งมิใช่เงินตราไทยดังกล่าวตั้งแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัติ และ ต้องใช้ตลอดไปจนกว่าจะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนแปลงได้"

มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๘/๑ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔

"มาตรา ๘/๑ เมื่ออธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานซึ่งมิใช่เงินตราไทยหรือให้เปลี่ยนแปลงเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานตามมาตรา ๘ ให้บริษัทคำนวณมูลค่าของเงินตรา ทรัพย์สิน หนี้สิน และรายการอื่น ๆ ในงบการเงิน ณ วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีอนุมัติ และบรรดารายการต่าง ๆ รวมทั้งผลขาดทุนประจำปีคงเหลือ ตามมาตรา ๒๘ (๑) ที่ใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้ที่เหลืออยู่ ณ วันนั้น เป็นเงินตราสกุลที่ใช้ใน การดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา"

มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความใน (๑๒) และ (๑๓) ของมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๑๒) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราที่ได้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศนั้น

ในกรณีที่มิได้มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเงินตราต่างประเทศ หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยในรอบระยะเวลาหนึ่งเดือนก่อนเดือนที่ได้รับมาหรือจ่ายไป โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยรายวันที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป

(๑๓) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ รับซื้อหรือขายในวันทำการสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่น ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป"

มาตรา ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๒/๑ การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ของบริษัทที่ใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานซึ่งมิใช่เงินตราไทย มาตรา ๓๓/๑ ถึงมาตรา ๓๓/๕ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔

"หมวด ๒/๑

การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ของบริษัท

ที่ใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานซึ่งมิใช่เงินตราไทย

______________

มาตรา ๓๓/๑ บริษัทที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานซึ่งมิใช่เงินตราไทยตามมาตรา ๘ ให้คำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้โดยใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานนั้น และให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ ภาษีเงินได้และการคำนวณกำไรสุทธิ เว้นแต่มาตรา ๒๖ (๑๐) (๑๒) และ (๑๓) มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๓๓/๒ ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจากสินค้า ให้ถือตามราคาทุน ถ้าราคาทุนเป็นเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน ให้คำนวณเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานเช่นเดียวกับวิธีการตามมาตรา ๓๓/๓ ราคาทุนดังกล่าวอาจลดลงได้โดยการหักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนตามมาตรา ๒๖ (๗) แต่ห้ามมิให้ตีราคาลดลง ส่วนการตีราคาเพิ่มขึ้น ให้กระทำได้เท่าที่บัญญัติไว้ ในประมวลรัษฎากร

มาตรา ๓๓/๓ เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่ เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทที่ได้รับอนุมัติตามมาตรา ๘ ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานตามอัตราที่ได้ซื้อขายเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานนั้น

ในกรณีที่มิได้มีการซื้อขายเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน ให้คำนวณเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยในรอบระยะเวลาหนึ่งเดือนก่อนเดือนที่ได้รับมาหรือจ่ายไป โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยรายวันที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายเงินตราสกุลนั้นซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป

มาตรา ๓๓/๔ เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายในวันทำการสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป

มาตรา ๓๓/๕ ผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอันเนื่องมาจากการคำนวณตามมาตรา ๘/๑ หรือจากการคำนวณมูลค่าของเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานเป็นเงินตราไทย เพื่อชำระภาษีตามมาตรา ๔๒ มิให้ถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้"

มาตรา ๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔

"เว้นแต่จะได้รับอนุมัติตามวรรคสอง ให้บริษัทที่ใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานซึ่งมิใช่เงินตราไทยตามมาตรา ๘ ชำระภาษีตามวรรคหนึ่งเป็นเงินตราไทย โดยให้คำนวณค่าตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ ในวันทำการสุดท้ายก่อนวันชำระภาษี"

มาตรา ๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔

"การประเมินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม หรือการปฏิบัติการอื่นใดของเจ้าพนักงานประเมินตามพระราชบัญญัตินี้กับบริษัทที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานซึ่งมิใช่เงินตราไทยตามมาตรา ๘ ให้เจ้าพนักงานประเมินดำเนินการโดยใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าว"

มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความใน (๑๒) และ (๑๓) ของมาตรา ๖๕ อัฏฐ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๑๒) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราที่ได้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศนั้น

ในกรณีที่มิได้มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเงินตราต่างประเทศ หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยในรอบระยะเวลาหนึ่งเดือนก่อนเดือนที่ได้รับมาหรือจ่ายไป โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยรายวันที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป

(๑๓) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายในวันทำการสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดใน ราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป"

มาตรา ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖๕ อัฏฐ/๑ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔

"มาตรา ๖๕ อัฏฐ/๑ ในกรณีที่บริษัทตามหมวดนี้เป็นบริษัทที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานซึ่งมิใช่เงินตราไทยตามมาตรา ๘ การคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิของบริษัทดังกล่าวเพื่อเสียภาษีเงินได้ ให้คำนวณโดยใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานนั้นตามมาตรา ๖๕ อัฏฐ แต่มิให้นำมาตรา ๖๕ อัฏฐ (๑๐) (๑๒) และ (๑๓) มาใช้บังคับ และให้ดำเนินการดังนี้แทน

(๑) ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจากสินค้า ให้ถือตามราคาทุน ถ้าราคาทุนเป็นเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน ให้คำนวณเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานด้วยวิธีการตาม (๒) ราคาทุนดังกล่าวอาจลดลงได้โดยการหักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนตามมาตรา ๖๕ อัฏฐ (๗) แต่ห้ามมิให้ตีราคาลดลง ส่วนการตีราคาเพิ่มขึ้น ให้กระทำได้เท่าที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร

(๒) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานตามอัตราที่ได้ซื้อขายเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานนั้น

ในกรณีที่มิได้มีการซื้อขายเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน ให้คำนวณเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยในรอบระยะเวลาหนึ่งเดือนก่อนเดือนที่ได้รับมาหรือจ่ายไป โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยรายวันที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป

(๓) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายในวันทำการสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป

(๔) ผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอันเนื่องมาจากการคำนวณตามมาตรา ๘/๑ หรือจากการคำนวณมูลค่าของเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานเป็นเงินตราไทยเพื่อชำระภาษีตามมาตรา ๔๒ มิให้ถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้"

มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความใน (๑๐) และ (๑๑) ของมาตรา ๖๕ เอกวีสติ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๑๐) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราที่ได้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศนั้น

ในกรณีที่มิได้มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเงินตราต่างประเทศ หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยในรอบระยะเวลาหนึ่งเดือนก่อนเดือนที่ได้รับมาหรือจ่ายไป โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยรายวันที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป

(๑๑) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายในวันทำการสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่น ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป"

มาตรา ๑๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖๕ เอกวีสติ/๑ ในหมวด ๗ ตรี บทบัญญัติเฉพาะเขตพื้นที่พัฒนาร่วม แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔

"มาตรา ๖๕ เอกวีสติ/๑ ในกรณีที่บริษัทซึ่งได้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วม ตามหมวดนี้เป็นบริษัทที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานซึ่งมิใช่เงินตราไทยตามมาตรา ๘ การคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิของบริษัทดังกล่าวเพื่อเสียภาษีเงินได้ ให้คำนวณโดยใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานนั้นตามมาตรา ๖๕ เอกวีสติ แต่มิให้นำมาตรา ๖๕ เอกวีสติ (๘) (๑๐) และ (๑๑) มาใช้บังคับ และให้ดำเนินการดังนี้แทน

(๑) ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจากสินค้า ให้ถือตามราคาทุน ถ้าราคาทุนเป็นเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน ให้คำนวณเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานด้วยวิธีการตาม (๒) ราคาทุนดังกล่าวอาจลดลงได้โดยการหักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนตามมาตรา ๖๕ เอกวีสติ (๕) แต่ห้ามมิให้ตีราคาลดลง ส่วนการตีราคาเพิ่มขึ้น ให้กระทำได้เท่าที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร

(๒) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานตามอัตราที่ได้ซื้อขายเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานนั้น

ในกรณีที่มิได้มีการซื้อขายเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน ให้คำนวณเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามอัตราแลกเปลี่ยน ถัวเฉลี่ยในรอบระยะเวลาหนึ่งเดือนก่อนเดือนที่ได้รับมาหรือจ่ายไป โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยรายวันที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป

(๓) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายในวันทำการสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป

(๔) ผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอันเนื่องมาจากการคำนวณตามมาตรา ๘/๑ หรือจากการคำนวณมูลค่าของเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานเป็นเงินตราไทยเพื่อชำระภาษี ตามมาตรา ๔๒ มิให้ถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้"

มาตรา ๑๓ บริษัทที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้จัดทำบัญชี หลักฐาน และเอกสารประกอบ การลงบัญชีเป็นภาษาต่างประเทศและระบุเป็นเงินตราต่างประเทศตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นบริษัท ที่ได้รับอนุมัติตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๑๔ บทบัญญัติมาตรา ๒๖ (๑๒) และ (๑๓) มาตรา ๖๕ อัฏฐ (๑๒) และ (๑๓) และมาตรา ๖๕ เอกวีสติ (๑๐) และ (๑๑) แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นต้นไป

มาตรา ๑๕ บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีที่ค้างอยู่หรือที่พึงชำระก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๑๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ