พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๘๓)
พ.ศ. ๒๕๖๒
___________
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒
เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๘๓) พ.ศ. ๒๕๖๒"
มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้
"ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า ใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ และมาตรา ๘๖/๕ แห่งประมวลรัษฎากร และให้หมายความรวมถึงใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา ๘๖/๖ ใบเพิ่มหนี้ ตามมาตรา ๘๖/๙ และใบลดหนี้ตามมาตรา ๘๖/๑๐ แห่งประมวลรัษฎากร ที่อธิบดีอนุญาตให้จัดทำขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
"ใบรับอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า ใบรับตามมาตรา ๑๐๕ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่อธิบดีอนุญาตให้จัดทำขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
"ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือการบันทึกอื่นใด ซึ่งยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าของลายมือชื่อดิจิทัลกับข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมือชื่อดิจิทัลที่ออกโดย ผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์
"ระบบการจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสิ่งอื่นใด ที่ได้จัดให้มีขึ้น เพื่อการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์
"ระบบการนำส่งภาษี" หมายความว่า เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสิ่งอื่นใด ที่ได้จัดให้มีขึ้น เพื่อการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา ๓ ปัณรส แห่งประมวลรัษฎากร
"อุปกรณ์เก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า เครื่องมือที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการลงลายมือชื่อดิจิทัลในใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ หรือในระบบการนำส่งภาษี
"พื้นที่เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า การให้บริการพื้นที่เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Cloud Storage) โดยใช้วิธีการประมวลผลในรูปแบบคลาวด์ (Cloud Computing) และกระทำผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ โดยผ่านบัญชีที่ลงทะเบียนไว้กับผู้ให้บริการ
"ผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า ผู้ให้บริการส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๔ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อการลงทุนในระบบการจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นใดที่ใช้ร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการจัดทำ ส่งมอบ หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๕) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับรายจ่ายของผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และผู้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการขายหรือการให้บริการแก่บุคคลอื่น
มาตรา ๕ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้ หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา ๓ ปัณรส แห่งประมวลรัษฎากร และผู้ให้บริการการชำระเงินตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อการลงทุนในระบบการนำส่งภาษี การจัดซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่ใช้ร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์ในการนำส่งภาษี สำหรับกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๕) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายตามจำนวน ที่จ่ายจริง ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๖ ทรัพย์สินตามมาตรา ๔ และมาตรา ๕ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ (๑) ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน (๒) เป็นทรัพย์สินที่นำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ตามมาตรา ๖๕ ทวิ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร โดยทรัพย์สินนั้นต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามวัตถุประสงค์ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
(๓) อยู่ในราชอาณาจักร (๔) นำมาใช้งานเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามรอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกันนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้มาและพร้อมใช้งาน
(๕) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาอื่นที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(๖) ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิใช่ความผิดของผู้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๕ ให้อธิบดี มีอำนาจขยายระยะเวลาเกี่ยวกับการได้มาและสภาพพร้อมใช้งานของทรัพย์สินตาม (๒) ได้ตามความจำเป็นและสมควร
มาตรา ๗ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นค่าบริการใช้พื้นที่เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ค่าบริการใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ และค่าบริการที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้จ่ายไปเพื่อประโยชน์ในการจัดทำ ส่งมอบ หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เป็นจำนวนร้อยละ หนึ่งร้อยของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับรายจ่ายของผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และผู้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการขายหรือการให้บริการแก่บุคคลอื่น
มาตรา ๘ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อการลงทุนในเครื่องบันทึกการเก็บเงิน สำหรับกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลนั้น ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๕) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง
เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามวรรคหนึ่งต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) เชื่อมต่อเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์เป็นระบบบันทึกข้อมูลการขายสินค้าหรือให้บริการ (Point of Sale System)
(๒) ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อซึ่งมีสาระสำคัญครบถ้วนตามมาตรา ๘๖/๖ แห่งประมวลรัษฎากรได้
(๓) ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
(๔) เป็นทรัพย์สินที่นำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ตามมาตรา ๖๕ ทวิ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร โดยทรัพย์สินนั้นต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามวัตถุประสงค์ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
(๕) อยู่ในราชอาณาจักร
(๖) บันทึกรายละเอียดการขายและยอดขายสินค้าหรือค่าบริการได้
(๗) แยกภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากราคาสินค้าหรือค่าบริการได้
(๘) เชื่อมต่อกับระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
(๙) รับและส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละรายการที่รับชำระราคาสินค้าหรือค่าบริการได้
(๑๐) นำมาใช้งานเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามรอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกัน นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้มาและพร้อมใช้งาน
(๑๑) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาอื่นที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(๑๒) ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
การยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๙ ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตาม พระราชกฤษฎีกานี้ และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ และมาตรา ๘ ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลง และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้ว ไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น เว้นแต่กรณีที่ทรัพย์สินถูกทำลาย สูญหาย หรือสิ้นสภาพ
มาตรา ๑๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
ที่มา: http://www.rd.go.th