เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๓๔๙)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่าย
เป็นค่าบริการหรือค่าที่พัก สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรอง
และในจังหวัดอื่นซึ่งมิใช่จังหวัดท่องเที่ยวรอง
_______________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๔๔ (พ.ศ. ๒๕๖๒) ออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการหรือค่าที่พัก สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรอง และในจังหวัดอื่นซึ่งมิใช่จังหวัดท่องเที่ยวรอง ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในประกาศนี้
"ผู้ประกอบธุรกิจนาเที่ยว" หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจนาเที่ยวที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนาเที่ยวและมัคคุเทศก์
"ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม" หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
"ผู้ประกอบกิจการโฮมสเตย์ไทย" หมายความว่า ผู้ประกอบกิจการให้บริการที่พัก โฮมสเตย์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
"ผู้ประกอบกิจการสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม" หมายความว่า ผู้ประกอบกิจการให้บริการที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
"สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม" หมายความว่า สถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกันไม่เกินสี่ห้องและมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมดไม่เกินยี่สิบคน ซึ่งจัดตั้งขึ้น เพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทน อันมีลักษณะเป็น การประกอบกิจการเพื่อหารายได้เสริม และได้แจ้งให้นายทะเบียนทราบตามแบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดตามข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. ๒๕๕๑
ข้อ ๒ การจ่ายค่าบริการหรือค่าที่พักสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรอง และในจังหวัดอื่นซึ่งมิใช่จังหวัดท่องเที่ยวรอง ที่ผู้มีเงินได้จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นการจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรอง และในจังหวัดอื่นซึ่งมิใช่จังหวัดท่องเที่ยวรอง
(๒) เป็นการจ่ายค่าที่พักในจังหวัดท่องเที่ยวรอง และในจังหวัดอื่นซึ่งมิใช่จังหวัดท่องเที่ยวรองดังต่อไปนี้
(ก) ค่าที่พักในโรงแรม ที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม (ข) ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกรมการท่องเที่ยวกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบกิจการโฮมสเตย์ไทย
(ค) ค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม ที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบกิจการสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
(๓) เป็นการจ่ายค่าบริการหรือค่าที่พัก และมีการใช้บริการหรือเข้าพักภายในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ดังนี้
(ก) สำหรับการจ่ายค่าบริการหรือค่าที่พักในจังหวัดท่องเที่ยวรอง ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท
(ข) สำหรับการจ่ายค่าบริการหรือค่าที่พักในจังหวัดอื่นซึ่งมิใช่จังหวัดท่องเที่ยวรอง ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน ๑๕,๐๐๐ บาท
การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในกรณีที่มีการจ่ายค่าบริการหรือค่าที่พักทั้ง (ก) และ (ข) ให้ได้รับยกเว้นไม่เกินจำนวนที่กำหนดใน (ก) และ (ข) แล้วแต่กรณี แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท
ข้อ ๓ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายเป็นค่าบริการหรือค่าที่พักตามข้อ ๒ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องมิใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล โดยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนดในข้อ ๒ (๓)
(๒) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่สามีหรือภริยา ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนดในข้อ ๒ (๓)
(๓) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
(ก) กรณีต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับ หรือแยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา ๔๐ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ถือเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่ง ตามมาตรา ๕๗ ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนดในข้อ ๒ (๓)
(ข) กรณีสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่ง ตามมาตรา ๕๗ ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนดในข้อ ๒ (๓) และให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนของสามีหรือภริยาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนดในข้อ ๒ (๓)
ข้อ ๔ ผู้มีเงินได้ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ ๒ จะต้องมีหลักฐาน ดังนี้
(๑) กรณีผู้ให้บริการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีหลักฐานใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร โดยระบุวัน เดือน ปีที่เดินทางท่องเที่ยวหรือเข้าพัก และจังหวัดที่เดินทางท่องเที่ยวหรือจังหวัดที่ที่พักตามข้อ ๒ (๒) ตั้งอยู่
(๒) กรณีผู้ให้บริการที่มิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีหลักฐานใบรับตามมาตรา ๑๐๕ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยระบุชื่อนามสกุลของผู้มีเงินได้ วัน เดือน ปีที่เดินทางท่องเที่ยวหรือเข้าพัก และจังหวัดที่เดินทางท่องเที่ยวหรือจังหวัดที่ที่พักตามข้อ ๒ (๒) ตั้งอยู่
กรณีผู้ให้บริการตาม (๑) หรือ (๒) เป็นผู้ประกอบกิจการสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม ให้ระบุเลขที่รับแจ้งและจังหวัด ตามหนังสือรับแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม ที่ออกโดยนายทะเบียนกระทรวงมหาดไทยด้วย
ข้อ ๕ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธินาเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร หลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา ๔๒ ทวิ ถึงมาตรา ๔๖ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
ข้อ ๖ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
(นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ)
อธิบดีกรมสรรพากร
ที่มา: http://www.rd.go.th