เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๓๕๑)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝาก
ธนาคารในประเทศ ดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
หรือผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการศาสนาอิสลาม
ตามหลักการมุฎอเราะบะฮ์ ซึ่งเป็นการฝากเงินในประเทศ
______________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๖๔) พ.ศ. ๒๕๖๑ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในประเทศ ดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ หรือผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงิน ตามหลักการศาสนาอิสลามตามหลักการมุฎอเราะบะฮ์ ซึ่งเป็นการฝากเงินในประเทศ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๖๔) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารและดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเป็นการฝากเงินในประเทศ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
ข้อ ๒ ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ หรือผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการศาสนาอิสลามตามหลักการมุฎอเราะบะฮ์ ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนามารวมคานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะต้องเป็นดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากที่ผู้มีเงินได้เปิดขึ้นใหม่โดยเฉพาะแยกต่างหากจากบัญชีเงินฝากประเภทอื่น และผู้มีเงินได้ต้องมีบัญชีเงินฝากที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นี้บัญชีเดียว
ข้อ ๓ การฝากเงินดังกล่าวจะต้องเป็นการฝากตามวงเงิน และภายในระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละเดือน จะขาดการฝาก หรือฝากไม่ครบตามวงเงินที่กำหนด หรือฝากล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนด กรณีใดกรณีหนึ่งหรือทุกกรณีรวมกันเกินสองเดือนไม่ได้
ข้อ ๔ ชื่อบัญชีเงินฝากจะต้องเป็นชื่อของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากนั้น แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ที่มิใช่นิติบุคคลและกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
ข้อ ๕ กรณีที่ผู้มีเงินได้ถอนเงินฝากตามข้อ ๒ ก่อนครบกำหนดจ่ายคืนเงินฝาก ผู้มีเงินได้ เป็นอันหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากดังกล่าว
ข้อ ๖ ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากตามข้อ ๒ ที่สามีภริยาเป็นผู้ฝากเงินร่วมกันและไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นเงินฝากของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจานวนเท่าใด ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
ข้อ ๗ ผู้ฝากเงินต้องแจ้งเลขประจาตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร พร้อมแสดงบัตรประจาตัวประชาชนของตนต่อธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ผู้รับฝากเมื่อเปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าว
กรณีที่ผู้ฝากเงินตามวรรคหนึ่งไม่มีเลขประจาตัวประชาชน ให้แจ้งเลขประจาตัวผู้เสียภาษีอากรต่อธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ผู้รับฝากเมื่อเปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าว
ข้อ ๘ ธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากตามข้อ ๒ ต้องส่งข้อมูลของผู้ฝากเงินต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ ที่ธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากตั้งอยู่แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้ ภายในเดือนมกราคมของปีถัดไป
(๑) กรณีที่บันทึกข้อมูลของผู้ฝากเงินด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้ส่งสื่อบันทึกข้อมูล ของผู้ฝากเงินตามรูปแบบ (Format) ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด หรือ
(๒) กรณีที่ไม่ได้บันทึกข้อมูลของผู้ฝากเงินด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้ส่งข้อมูลของผู้ฝากเงินตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ให้ส่งภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
(นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ)
อธิบดีกรมสรรพากร
ที่มา: http://www.rd.go.th