เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๓๕๓)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์
ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย
_______________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๔๘ (พ.ศ. ๒๕๖๒) ออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในประกาศนี้
"อสังหาริมทรัพย์" หมายความว่า อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีเงินได้
ข้อ ๒ การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
(๑) ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องมิใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
(๒) ต้องเป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่เกิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท และต้องไม่ใช่กรณีที่เป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีการแยกสัญญาซื้อขายที่ดินและสัญญาก่อสร้างออกจากกัน
(๓) ต้องเป็นการจ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามจำนวนที่จ่ายจริงที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ และต้องมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ ในอสังหาริมทรัพย์นั้นให้แล้วเสร็จภายในช่วงเวลาดังกล่าว
(๔) ผู้มีเงินได้ต้องใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี ๒๕๖๒ ที่ต้องยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้ในปี ๒๕๖๓
(๕) ผู้มีเงินได้ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิในอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนเองมาก่อน
(๖) การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เท่าจำนวนที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง แต่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
(๗) กรณีที่ผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันซื้ออสังหาริมทรัพย์ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทุกคนโดยเฉลี่ยการได้รับยกเว้นภาษีตามส่วนของกรรมสิทธิของแต่ละคน แต่รวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริงและไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
(๘) กรณีที่สามีภริยาร่วมกันซื้ออสังหาริมทรัพย์ และต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ การได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ให้ใช้หลักเกณฑ์ตาม (๗) โดยยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ดังนี้
(ก) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับ หรือแยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ถือเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา ๕๗ ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
(ข) ถ้าสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา ๕๗ ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนของตน และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนของสามีหรือภริยาด้วย
(๙) กรณีที่สามีภริยาร่วมกันซื้ออสังหาริมทรัพย์ หากสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เต็มจำนวนที่สามีภริยาได้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
ข้อ ๓ ผู้มีเงินได้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อ เป็นเวลาติดต่อกัน ไม่น้อยกว่าห้าปี นับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่ไม่รวมถึงกรณีที่ ผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตาย หรือกรณีอสังหาริมทรัพย์นั้นสิ้นสภาพไปทั้งหมด
ข้อ ๔ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานประกอบการยกเว้นภาษีเงินได้ ดังนี้
(๑) สำเนาสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เช่น สำเนาสัญญาขาย (ท.ด. ๑๓) สำเนาสัญญาซื้อขายห้องชุดในอาคารชุด (อ.ช. ๒๓) หรือสำเนาหนังสือโอนกรรมสิทธิอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดแล้วแต่กรณี
(๒) หนังสือรับรองจากผู้ขายที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้
(๓) หนังสือรับรองตนเองของผู้มีเงินได้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ว่า เป็นที่อยู่อาศัยแห่งแรก โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้
ข้อ ๕ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธินำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร หลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา ๔๒ ทวิ ถึงมาตรา ๔๖ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
ข้อ ๖ กรณีที่ผู้มีเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้แล้ว และต่อมาปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ไปหักออกจากเงินได้พึงประเมินเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้แล้ว พร้อมชำระเงินเพิ่มตามมาตรา ๒๗ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ ๗ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
(นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ)
อธิบดีกรมสรรพากร
ที่มา: http://www.rd.go.th