เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๒๓๒)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับการจัดทำคำร้อง
ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
ตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ทาง Application Programming Interface
______________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๔) พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกอบข้อ ๓ วรรคสาม ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๙๐) เรื่อง กำหนดคุณลักษณะ และหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๒๓๐) เรื่อง กำหนดคุณลักษณะ และหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบการ จดทะเบียนที่ขายสินค้าให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับการจัดทำ คำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากรผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทาง Application Programming Interface ไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในประกาศนี้
"ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากร" หมายความว่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าให้ผู้เดินทาง ออกนอกราชอาณาจักรซึ่งผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากร
"ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร" หมายความว่า ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากร
"ระบบงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว (e-VAT Refund for Tourists)" หมายความว่าระบบที่ใช้สร้างและเก็บรักษาข้อมูลการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากร
"แบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่าแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) ที่อธิบดีได้กำหนดรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ไว้บนระบบงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว (e-VAT Refund for Tourists) เพื่อใช้ในการจัดทำแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทาง Application Programming Interface
ข้อ ๒ ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากร มีสิทธิจัดทำ คำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยยื่นคำขออนุมัติ ต่ออธิบดี ผ่านหัวหน้ากลุ่มบริหารการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวตามแบบที่อธิบดีกำหนด ไว้ท้ายประกาศนี้ หรือผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
ข้อ ๓ ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ ๒ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
๓.๑ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อธิบดีอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากร
๓.๒ ไม่เคยมีประวัติเป็นผู้ออกหรือใช้ใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ๓.๓ มีเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับกรมสรรพากร ตามมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทาง Application Programming Interface ในการจัดทำแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และนำส่งข้อมูลคำร้องดังกล่าวให้กับกรมสรรพากรได้ในทันที (Real Time)
ข้อ ๔ เมื่ออธิบดีได้อนุมัติคำขอตามข้อ ๒ แล้ว ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากรดังกล่าว เป็นผู้มีสิทธิจัดทำแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และจะได้รับชื่อผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน (Password) จากกรมสรรพากร เพื่อใช้ในการจัดทำข้อมูลแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามรูปแบบและความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศตามแบบที่อธิบดีกำหนดไว้ ผ่านระบบงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว (e-VAT Refund for Tourists) ตลอดจนนำส่ง ข้อมูลดังกล่าวให้กรมสรรพากรผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทาง Application Programming Interface
ผู้มีสิทธิจัดทำแบบคำร้องตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิจัดทำแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ เพียงวิธีการเดียวเท่านั้น
ข้อ ๕ เมื่อผู้มีสิทธิจัดทำแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ขายสินค้าให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรแล้วให้ปฏิบัติ ดังนี้
๕.๑ จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ หรือมาตรา ๘๖/๖ แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี ให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยระบุเลขที่หนังสือเดินทางของผู้เดินทาง ออกนอกราชอาณาจักรลงในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
๕.๒ รับรองรายการสินค้าที่ปรากฏในใบกำกับภาษีตามข้อ ๕.๑ และจัดทำแบบ คำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้นักท่องเที่ยว (e-VAT Refund for Tourists)
๕.๓ นำส่งแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้จัดทำขึ้นตามข้อ ๕.๒ ให้กับกรมสรรพากร ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทาง Application Programming Interface เพื่อขออนุมัติหมายเลขอ้างอิงการนำส่งแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และ
๕.๔ เมื่ออธิบดีได้อนุมัติหมายเลขอ้างอิงการนำส่งแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว (e-VAT Refund for Tourists) แล้ว ให้ผู้มีสิทธิจัดทำคำร้องดังกล่าวส่งมอบหลักฐานการนำส่ง แบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าในทันที
ข้อ ๖ ผู้มีสิทธิจัดทำแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร และต้องไม่เปิดเผยข้อมูลนั้น เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเป็นหนังสือ หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ตามที่ผู้มีสิทธิจัดทำแบบคำร้องดังกล่าวกำหนด
ข้อ ๗ ในกรณีที่ไม่สามารถนำส่งแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทาง Application Programming Interface ตามข้อ ๕.๓ ได้ เนื่องจากเหตุขัดข้องของระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทาให้แบบคำร้องฉบับดังกล่าว ไม่ได้รับการอนุมัติหมายเลขอ้างอิงตามข้อ ๕.๔ ให้ผู้มีสิทธิจัดทำแบบคำร้องนั้นดำเนินการ ดังนี้
๗.๑ ดำเนินการจัดทำใบกำกับภาษีตามข้อ ๕.๑ และรับรองรายการสินค้าพร้อมจัดทำแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ ๕.๒ ให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
๗.๒ ส่งมอบหลักฐานการนำส่งแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ปรากฏหมายเลขอ้างอิงตามข้อ ๕.๔ ให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ที่ซื้อสินค้าดังกล่าวในทันที และ
๗.๓ จัดทำรายงานเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ แจ้งวันเวลา และเหตุขัดข้องดังกล่าวต่อกรมสรรพากร ผ่านช่องทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (vrefund@rd.go.th) พร้อมแนบสาเนาหลักฐานการนำส่งแบบคำร้องตามข้อ ๗.๒ ในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ภายในวันถัดไป
ในกรณีที่ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตสามารถดำเนินการได้ตามปกติ ให้ผู้มีสิทธิจัดทำแบบคำร้องดังกล่าว ดำเนินการตามข้อ ๕.๓ เพื่อขออนุมัติหมายเลขอ้างอิงผ่านระบบงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว (e-VAT Refund for Tourists) ในทันที
ข้อ ๘ ผู้มีสิทธิจัดทำแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๑๐) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศนี้โดยเคร่งครัด เว้นแต่อธิบดี จะได้มีคำสั่งเพิกถอนการอนุมัติดังกล่าว
ในกรณีที่ผู้มีสิทธิจัดทำแบบคำร้องดังกล่าว ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของประกาศนี้ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนการอนุมัติ และออกคำสั่งเป็นหนังสือ ให้ผู้มีสิทธิจัดทำแบบคำร้องดังกล่าว ยุติการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา ๘๔/๔ แห่งประมวลรัษฎากร นับแต่วันที่อธิบดีมีหนังสือเพิกถอนเป็นต้นไป
ข้อ ๘ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
(นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ)
อธิบดีกรมสรรพากร
ที่มา: http://www.rd.go.th