พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๐๖)
พ.ศ. ๒๕๖๓
_____________
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓
เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ในบางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๐๖) พ.ศ. ๒๕๖๓"
มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่สภากาชาดไทย ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ดังต่อไปนี้
(๑) สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อนตามมาตรา ๔๗ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่บริจาค
(๒) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน
การได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
"ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า ระบบที่ใช้สร้างและเก็บรักษาข้อมูลการบริจาคในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา ๔ การยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๓ (๑) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) ต้องนำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๓ (๑) มารวมคำนวณกับเงินได้ ที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของเงินที่ได้จ่ายตามกรณีที่กำหนดไว้และไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจาก หักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา ๔๗ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) แห่งประมวลรัษฎากร
(๒) เมื่อรวมคำนวณเงินได้ตาม (๑) แล้วต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา ๔๗ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) แห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา ๕ การยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๓ (๒) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) ต้องนำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๓ (๒) มารวมคำนวณกับรายจ่ายที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรกำหนดให้มีการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายและไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา ๖๕ ตรี (๓) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
(๒) เมื่อรวมคำนวณรายจ่ายตาม (๑) แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ ก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษา หรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา ๖๕ ตรี (๓) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา ๖ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามหมวด ๔ ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด ๕ และอากรแสตมป์ตามหมวด ๖ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทยตามมาตรา ๓ โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้า ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
ที่มา: http://www.rd.go.th