พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๐๘)
พ.ศ. ๒๕๖๓
___________
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในบางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๐๘) พ.ศ. ๒๕๖๓"
มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละสองร้อยของรายจ่าย ที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อเป็นค่าจ้างสำหรับ การทำงานในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ตามจำนวนที่จ่ายจริง และลูกจ้างนั้นได้รับค่าจ้างไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาทต่อเดือน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
รายจ่ายตามวรรคหนึ่ง ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
"ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แต่ไม่รวมถึงค่าล่วงเวลา เงินโบนัส หรือทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเนื่องจากการจ้างแรงงาน
มาตรา ๔ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๓ ต้อง
(๑) มีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย ซึ่งมีกำหนดครบสิบสองเดือน โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ไม่เกินห้าร้อยล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามมาตรา ๖๕ แห่งประมวลรัษฎากร และมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคนในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว
(๒) มีจำนวนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน ณ วันสุดท้ายของเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ และเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ แล้วแต่กรณี ไม่น้อยกว่าจำนวนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน ณ วันสุดท้ายของเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เว้นแต่มีเหตุ อันสมควร ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
(๓) ไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาอื่นที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร เนื่องจากรายจ่ายในการจ้างงานลูกจ้างตามมาตรา ๓ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(๔) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๕ กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้ และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดตามมาตรา ๓ และมาตรา ๔ ให้สิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลง และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น
มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
ที่มา: http://www.rd.go.th