เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๒๓๕)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
_______________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓ โสฬส ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๘) พ.ศ. ๒๕๖๒ และมาตรา ๘๕/๑๐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประสงค์จะขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๕/๑๐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ต้องยื่นคำขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.๐๘) โดยวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) กรณีการยื่นคำขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.๐๘) ในรูปแบบของกระดาษ ให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
(๒) กรณีการยื่นคำขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.๐๘) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ยื่นผ่านเว็บไซต์ (Web Site) ดังต่อไปนี้
(ก) เข้าสู่ระบบทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th โดยตรง โดยใช้ชื่อผู้ใช้ (Username) และ รหัสผ่าน (Password) ที่ได้รับอนุมัติจากการลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้ระบบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
(ข) เข้าสู่ระบบทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th ผ่านระบบบริการ Tax Single Sign On ทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกระทรวงการคลัง https://etax.mof.go.th โดยใช้ชื่อผู้ใช้ (Username) และรหัสผ่าน (Password) ที่ได้รับจากการลงทะเบียนการเข้าใช้ระบบบริการ Tax Single Sign On ของกระทรวงการคลัง
การยื่นคำขอตาม (ก) หรือ (ข) จะถือว่าสมบูรณ์เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับหมายเลขอ้างอิงการยื่นคำขอดังกล่าวจากกรมสรรพากร
ข้อ ๒ ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ ๑ จะได้รับสิทธิในการพิจารณาถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อเจ้าพนักงานตรวจสอบแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวเข้าลักษณะตามมาตรา ๘๕/๑๐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ ๓ ผู้มีอำนาจสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ บุคคลดังต่อไปนี้
(๑) สรรพากรพื้นที่หรือผู้ที่สรรพากรพื้นที่มอบหมาย สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตท้องที่รับผิดชอบของสำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น
(๒) ผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่หรือผู้ที่ผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่มอบหมาย สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
ข้อ ๔ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการยื่นคำขอตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
(นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ)
อธิบดีกรมสรรพากร
ที่มา: http://www.rd.go.th