ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ ๓๔) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีหนี้ที่ต้องดำเนินการตามมาตรการสนับสนุน การรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร

ข่าวทั่วไป Friday July 16, 2021 10:48 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ ๓๔) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีหนี้ที่ต้องดำเนินการตามมาตรการสนับสนุน การรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๒๑) พ.ศ. ๒๕๖๔ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ และมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๒๑) พ.ศ. ๒๕๖๔ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข กรณีหนี้ที่ต้องดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ในประกาศนี้ "สถาบันการเงิน" หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินซึ่งประกอบธุรกิจ ให้สินเชื่อ

"ลูกหนี้" หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินและให้หมายความรวมถึงเจ้าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินนั้นด้วย

"ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน" หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงิน

"เจ้าของทรัพย์สิน" หมายความว่า เจ้าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของ ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินนั้น

ข้อ ๒ ให้ลูกหนี้ของสถาบันการเงินได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๒๑) พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยลูกหนี้ของสถาบันการเงิน เจ้าของทรัพย์สิน และสถาบันการเงินต้องร่วมกันจัดทำหนังสือรับรองการเข้ามาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ ๗๒๑) พ.ศ. ๒๕๖๔ และให้ลูกหนี้ของสถาบันการเงินแจ้งและส่งมอบหนังสือรับรองดังกล่าวต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่ลูกหนี้มีภูมิลำเนาหรือมีสถานประกอบการตั้งอยู่ หรือผ่านผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ในกรณีที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินอยู่ในความรับผิดชอบของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ภายในวันสุดท้ายของปีภาษี หรือวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการปลดหนี้ แล้วแต่กรณี และให้เก็บรักษาหลักฐาน หรือเอกสารอื่นใดที่ได้กระทำภายใต้มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ไว้ ณ สถานประกอบการพร้อมให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

ข้อ ๓ ให้ลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือเจ้าของทรัพย์สินได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า และสำหรับการกระทำตราสาร ที่ได้กระทำกับสถาบันการเงิน อันเนื่องมาจากการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๔ ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๒๑) พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยให้ลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือเจ้าของทรัพย์สินดำเนินการ ดังนี้

(๑) ให้ลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือเจ้าของทรัพย์สินแจ้งและส่งมอบแบบยืนยันการเข้ามาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ซึ่งออกโดยธนาคาร แห่งประเทศไทยต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมตามกฎหมาย

(๒) ให้ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน เจ้าของทรัพย์สิน และสถาบันการเงิน ร่วมกันจัดทำหนังสือรับรองการเข้ามาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๒๑) พ.ศ. ๒๕๖๔ และให้ลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือเจ้าของทรัพย์สินแจ้งและส่งมอบหนังสือรับรองดังกล่าวต่ออธิบดีกรมสรรพากร ผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือเจ้าของทรัพย์สินมีภูมิลำเนาหรือมีสถานประกอบการตั้งอยู่ หรือผ่านผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจ ขนาดใหญ่ในกรณีที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือเจ้าของทรัพย์สินอยู่ในความรับผิดชอบของ กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ภายในวันสุดท้ายของปีภาษีหรือวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ที่มีการโอน แล้วแต่กรณี และให้เก็บรักษาหลักฐานหรือเอกสารอื่นใดที่ได้กระทำภายใต้มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ไว้ ณ สถานประกอบการพร้อมให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

ข้อ ๔ ให้สถาบันการเงินได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า และสำหรับการกระทำตราสาร ที่ได้กระทำกับลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือเจ้าของทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการดำเนินการ ตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ภายใต้พระราชกำหนดการให้ ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๔ ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๒๑) พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยสถาบันการเงินต้องดำเนินการดังนี้

(๑) ให้สถาบันการเงินแจ้งและส่งมอบแบบยืนยันการเข้ามาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ซึ่งออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมาย

(๒) ให้สถาบันการเงินจัดทำหนังสือรับรองการโอนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันคืนตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๒๑) พ.ศ. ๒๕๖๔ และให้สถาบันการเงินแจ้งและส่งมอบหนังสือรับรองดังกล่าวต่ออธิบดีกรมสรรพากร ผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถาบันการเงินมีภูมิลำเนาหรือมีสถานประกอบการตั้งอยู่ หรือผ่านผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ในกรณีที่สถาบันการเงินอยู่ในความรับผิดชอบของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ภายในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอน และให้เก็บรักษาหลักฐานหรือเอกสารอื่นใดที่ได้กระทำภายใต้มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ไว้ ณ สถานประกอบการพร้อมให้ เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

ข้อ ๕ หนังสือรับรองตามข้อ ๒ ข้อ ๓ (๒) และข้อ ๔ (๒) ต้องมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้

ข้อ ๖ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

(นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ)

อธิบดีกรมสรรพากร

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ