ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ ๓๘) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีอากร สำหรับกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมและบุคคลซึ่งสนับสนุนกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคม

ข่าวทั่วไป Monday December 27, 2021 10:55 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ ๓๘) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีอากร สำหรับกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมและบุคคลซึ่งสนับสนุนกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคม

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๖ วรรคสองและวรรคสาม มาตรา ๗ มาตรา ๘ วรรคสอง มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๓๕) พ.ศ. ๒๕๖๔ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีอากร สำหรับกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมและบุคคลซึ่งสนับสนุนกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคม ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ประสงค์จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ประสงค์จะให้บุคคลซึ่งสนับสนุนกิจการของตนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ต้องดำเนินการจดแจ้งความประสงค์ต่ออธิบดีกรมสรรพากร และต้องเป็นหน่วยรับบริจาคตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยยื่นคำขอ จดแจ้ง/เลิกการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (ว.ส.๑) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th ดังนี้

(๑) กรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจ เพื่อสังคมตั้งแต่วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ให้จดแจ้งความประสงค์ภายในวันสุดท้ายของ รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

(๒) กรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมก่อนวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ให้จดแจ้งความประสงค์ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔

ข้อ ๒ วิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่แบ่งปันกำไรที่ได้จดแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามข้อ ๑ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้

(๑) กรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการตั้งแต่วันที่ได้จดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ได้รับยกเว้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรก ที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น แต่ต้องไม่ก่อนวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

(๒) กรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการตั้งแต่วันที่ได้จดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการในภายหลัง ให้ได้รับยกเว้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ แต่ต้องไม่ก่อนวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

(๓) กรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมเปลี่ยนแปลงประเภทของวิสาหกิจ จากวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ประสงค์จะแบ่งปันกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่แบ่งปันกำไร ให้ได้รับยกเว้นตั้งแต่วันที่ได้รับการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงประเภทของวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

ข้อ ๓ วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ ๒ ต้องไม่มีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการ เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้

(๑) การโอนทรัพย์สินให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจ เพื่อสังคมอื่นโดยไม่มีค่าตอบแทน

(๒) การโอนทรัพย์สินให้แก่สถานพยาบาลหรือสถานศึกษาของทางราชการ หรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลหรือสถานพยาบาลหรือสถานศึกษาอื่นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดตามมาตรา ๔๗ (๗) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่มีค่าตอบแทน

(๓) การโอนทรัพย์สินเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์โดยไม่มีค่าตอบแทน ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๓) แห่งประมวลรัษฎากร

(๔) การโอนทรัพย์สินขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย หรือถวาย โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย หรือพระกุศลตามพระอัธยาศัย

(๕) การโอนทรัพย์สินโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐดังต่อไปนี้

(ก) ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ข) รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยกฎหมายเฉพาะ หรือจัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

(ค) องค์การมหาชนที่จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา (ง) หน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายจัดตั้งโดยเฉพาะ ข้อ ๔ วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ ๒ ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน และไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนใด ๆ ให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน รวมถึงบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้

(๑) การขายสินค้าหรือการให้บริการแก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนนั้น

(๒) การซื้อสินค้าหรือการรับบริการจากผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนนั้น โดยค่าสินค้าหรือค่าบริการไม่สูงกว่าราคาตลาด

คำว่า "สินค้า" ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ที่อาจมีราคาและถือเอาได้ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น

คำว่า "บริการ" ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า

ข้อ ๕ ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ได้ลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการจัดตั้งหรือการเพิ่มทุนของวิสาหกิจเพื่อสังคมในขณะที่วิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ และได้จดแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามข้อ ๑ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับ เงินได้พึงประเมินเท่าที่ได้จ่ายไปเพื่อการลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการจัดตั้งหรือการเพิ่มทุน แล้วแต่กรณี ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งเดียวหรือหลายแห่ง แต่เมื่อรวมเงินลงทุนทั้งหมดแล้ว ต้องไม่เกินกรณีละหนึ่งแสนบาท สำหรับปีภาษีนั้น

การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักตามมาตรา ๔๒ ทวิ ถึง มาตรา ๔๖ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ในปีภาษีดังต่อไปนี้

(๑) การลงทุนเพื่อการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการตั้งแต่วันที่ได้จดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิยกเว้นในปีภาษีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

(๒) การลงทุนเพื่อการเพิ่มทุนของวิสาหกิจเพื่อสังคม

(ก) กรณีที่มีการเพิ่มทุนก่อนวันที่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิยกเว้นในปีภาษีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

(ข) กรณีที่มีการเพิ่มทุนภายหลังจากวันที่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิยกเว้นในปีภาษีที่ลงทุน

ข้อ ๖ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการจัดตั้งหรือการเพิ่มทุนของวิสาหกิจเพื่อสังคมในขณะที่วิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ และได้จดแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามข้อ ๑ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายไปเพื่อการลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการจัดตั้งหรือการเพิ่มทุน ในรอบระยะเวลาบัญชีดังต่อไปนี้

(๑) การลงทุนเพื่อการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการตั้งแต่วันที่ได้จดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิยกเว้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

(๒) การลงทุนเพื่อการเพิ่มทุนของวิสาหกิจเพื่อสังคม

(ก) กรณีที่มีการเพิ่มทุนก่อนวันที่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิยกเว้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

(ข) กรณีที่มีการเพิ่มทุนภายหลังจากวันที่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิยกเว้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่ลงทุน

การลงทุนเพื่อการจัดตั้งหรือการเพิ่มทุนของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่ใช่การลงทุนเพื่อการจัดตั้งหรือการเพิ่มทุนของวิสาหกิจเพื่อสังคมตามมาตรา ๖ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๒๑) พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่ได้กระทำก่อนวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔

ข้อ ๗ ผู้ลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ ๕ หรือข้อ ๖ ต้องถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นจนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นเลิกกัน เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาทุพพลภาพหรือตาย (๒) ผู้ลงทุนที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกัน (๓) ผู้ลงทุนขายหรือโอนหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเพิ่มทุนของวิสาหกิจเพื่อสังคม ข้อ ๘ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้โอนเงินหรือทรัพย์สินให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามข้อ ๑ โดยไม่มีค่าตอบแทนผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินหรือเท่ากับราคาทรัพย์สินนั้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้โอนเงินหรือทรัพย์สินนั้นให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคม

ข้อ ๙ ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณี

ข้อ ๑๐ การโอนทรัพย์สินให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมตามข้อ ๘ หรือการบริจาคทรัพย์สินให้แก่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมตามข้อ ๙ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะโอนหรือบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้าก็ได้ โดยการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าว ให้คำนวณมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้าที่โอนหรือบริจาคตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้

(๑) กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซื้อทรัพย์สินมาเพื่อบริจาค ต้องมีหลักฐานการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่ระบุจำนวนและมูลค่าของทรัพย์สินนั้น โดยให้ถือว่ามูลค่าตามหลักฐานดังกล่าวเป็นมูลค่าของรายจ่ายที่บริจาค

(๒) กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำทรัพย์สินที่ได้บันทึกบัญชีทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นมาบริจาค ให้ถือเอามูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือจากการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน เป็นมูลค่าของรายจ่ายที่บริจาค

(๓) กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำสินค้ามาบริจาค ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตเอง หรือซื้อมาเพื่อขาย ให้ถือเอามูลค่าต้นทุนของสินค้าดังกล่าวที่มีเอกสารหลักฐานสามารถพิสูจน์ได้เป็นมูลค่าของรายจ่ายที่บริจาค แต่มูลค่าดังกล่าวต้องไม่เกินราคาสินค้าคงเหลือยกมา ตามมาตรา ๖๕ ทวิ (๖) แห่งประมวลรัษฎากร

(๔) มูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้าที่ซื้อมาเพื่อบริจาคนั้น จะต้องมีจำนวนไม่เกินราคาที่พึงซื้อได้โดยปกติ ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๑๕) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ ๑๑ ให้วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้คำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในมาตรา ๖๕ มาตรา ๖๕ ทวิ และมาตรา ๖๕ ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด บัญชีทำการ บัญชีกำไรขาดทุน และบัญชีงบดุล ตามมาตรา ๖๘ และมาตรา ๖๙ แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ต้องชำระภาษี พร้อมทั้งยื่นรายงานผลการดำเนินงานประจำปีต่อกรมสรรพากร

/ วิสาหกิจ ...

วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จัดทำรายงานผลการประกอบกิจการประจำปีและรายงานผลลัพธ์ จากการดำเนินกิจการเพื่อสังคมยื่นต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. ๒๕๖๒ และได้ยินยอมให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อกรมสรรพากร ถือว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นได้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปียื่นต่อกรมสรรพากรตามวรรคหนึ่งแล้ว

ข้อ ๑๒ กรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมเลิกการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือกรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมเลิกกัน ให้วิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นยื่นคำขอ จดแจ้ง/เลิกการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (ว.ส.๑) เพื่อแจ้งการเลิกการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือการเลิกกันต่ออธิบดีกรมสรรพากร ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th

ข้อ ๑๓ วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือผู้ลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนในวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้แล้ว ต่อมาปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีใดหรือในปีภาษีใด ให้การยกเว้นภาษีเงินได้สิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๓๕) พ.ศ. ๒๕๖๔

ข้อ ๑๔ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

สมศักดิ์ อนันทวัฒน์ (นายสมศักดิ์ อนันทวัฒน์) รองอธิบดี รักษาราชการแทน

อธิบดีกรมสรรพากร

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ