ประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษา ใบกำกับภาษี หรือใบรับ โดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ในการลงลายมือชื่อ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๘๔ (พ.ศ. ๒๕๖๕)

ข่าวทั่วไป Wednesday June 7, 2023 14:24 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

ประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษา ใบกำกับภาษี หรือใบรับ โดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ในการลงลายมือชื่อ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๘๔ (พ.ศ. ๒๕๖๕) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้อาศัยอำนาจ ตามมาตรา ๓ โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓) พ.ศ. ๒๕๖๔ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ จึงส่งผลให้ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ ๑๕) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษา ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ออกตามความในมาตรา ๓ โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๘) พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓) พ.ศ. ๒๕๖๔ ใช้บังคับเป็นอันสิ้นสภาพ ทำให้การดำเนินการเกี่ยวกับ การจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษา ใบกำกับภาษี หรือใบรับ โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๘๔ (พ.ศ. ๒๕๖๕) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการจดทะเบียน ผู้มีหน้าที่ออกใบรับ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษา ใบกำกับภาษีหรือใบรับได้โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว กรมสรรพากรจึงออกประกาศเกี่ยวกับการจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษา ใบกำกับภาษี หรือใบรับ โดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ในการลงลายมือชื่อ ดังนี้

ข้อ ๑ ในประกาศนี้ "ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา หรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

"กุญแจส่วนตัว (Private Key)" หมายความว่า กุญแจที่ใช้ในการสร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) และสามารถนำไปใช้ในการเข้ารหัสลับ (Encryption) ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อมิให้สามารถเข้าใจความหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการเข้ารหัสลับนั้นได้ เพื่อประโยชน์ ในการรักษาความลับของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นได้

"กุญแจสาธารณะ (Public Key)" หมายความว่า กุญแจที่ใช้ในการตรวจสอบลายมือชื่อ อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) และสามารถนำไปใช้ในการถอดรหัสลับ (Decryption) เมื่อมีการเข้ารหัสลับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้วยกุญแจส่วนตัว (Private Key) เพื่อให้สามารถเข้าใจความหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการเข้ารหัสลับนั้นได้

"ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate)" หมายความว่า ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือการบันทึกอื่นใดซึ่งยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ กับข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) ที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certification Authority)

"ผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certification Authority)" หมายความว่า บุคคลที่ให้บริการเกี่ยวกับการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate) เพื่อรับรองตัวตนของบุคคล หรือองค์กรใด ๆ ซึ่งเป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) โดยมีมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยตามที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนด

"ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature)" หมายความว่า ข้อความหรือสัญลักษณ์ ที่สร้างขึ้นด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์โดยการคำนวณทางคณิตศาสตร์เข้ารหัสอัลกอริทึม แบบอสมมาตร (Asymmetric Key Algorithms) บนพื้นฐานวิทยาการเข้ารหัสลับ (Encryption) และใช้กับ ระบบคู่กุญแจ (Key Pair) โดยนำไปคำนวณร่วมกับกุญแจส่วนตัว (Private Key) ของผู้ลงลายมือชื่อในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ในลักษณะที่สามารถจะใช้กุญแจสาธารณะ (Public Key) ของผู้ลงลายมือชื่อตรวจสอบได้ว่า ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) นั้น ได้สร้างขึ้นโดยกุญแจส่วนตัว (Private Key) ของผู้ลงลายมือชื่อนั้นหรือไม่ และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการลงลายมือชื่อดังกล่าวได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงภายหลังการลงลายมือชื่อหรือไม่

"ใบกำกับภาษี" หมายความว่า ใบกำกับภาษีที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง และได้ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) โดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate)

"ใบรับ" หมายความว่า ใบรับที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง และได้ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) โดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate)

"ผู้ให้บริการจัดทำหรือนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนรายหนึ่งซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ประกอบการจดทะเบียนอีกรายหนึ่งหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับให้จัดทำ ส่ง ใบกำกับภาษีหรือใบรับแทน โดยผู้ได้รับมอบหมายดังกล่าวได้รับอนุญาตให้เชื่อมต่อกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร

"การอัปโหลด (Upload)" หมายความว่า วิธีการส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีหรือใบรับ เข้าสู่ระบบข้อมูลของกรมสรรพากร

"การส่งข้อมูลแบบ Host to Host" หมายความว่า วิธีการส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีหรือใบรับโดยการเชื่อมต่อระบบข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร"

"ส่ง" หมายความว่า วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบข้อมูลของผู้ประกอบการ จดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับ กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และให้หมายความรวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ให้บริการจัดทำหรือนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือตัวแทนตามหมวด ๔ แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

/ ข้อ ๒ ...

ข้อ ๒ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับ ที่ประสงค์จะจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับ ยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตามแบบคำขอให้ประกาศรายชื่อเป็นผู้มีสิทธิจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (แบบ บ.อ.๐๑) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร เพื่อขอให้ประกาศรายชื่อโดยต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนตามที่กรมสรรพากรกำหนด

เมื่ออธิบดีได้ประกาศรายชื่อของผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับตาม วรรคหนึ่งแล้ว ให้บุคคลดังกล่าวสามารถจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับ โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับที่ได้รับการประกาศรายชื่อตามวรรคสอง มีความประสงค์จะขอเปลี่ยนแปลงรหัสผ่าน (Password) ใหม่แทนรหัสผ่านเดิม ที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail Address) หรือขอยกเลิกการจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับ ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตามแบบคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการประกาศรายชื่อของผู้มีสิทธิจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (แบบ บ.อ.๐๙) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร

ข้อ ๓ ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับ ต้องใช้วิธีการแบบปลอดภัยที่เชื่อถือได้ทั้งในส่วนของระบบฮาร์ดแวร์และระบบซอฟต์แวร์ ดังต่อไปนี้ ในการจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับ

(๑) มีระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูลได้ โดยจะต้อง

(ก) สามารถแสดงภาพการทำงานรวมของระบบงานทั้งหมด (System Flowchart) ได้ (ข) เป็นโปรแกรมที่เมื่อบันทึกข้อมูลแล้วจะแก้ไขรายการนั้น ๆ โดยไร้ร่องรอยไม่ได้ และในกรณีการแก้ไขรายการ ไม่ให้ใช้วิธีลบทิ้ง หรือล้างรายการออก แต่ต้องแก้ไขโดยบันทึกรายการปรับปรุงเพิ่มเข้าไปเพื่อแสดงให้เห็นรายการก่อนปรับปรุงและหลังปรับปรุง และต้องมีรายงานการแก้ไขรายการเพื่อให้ตรวจสอบได้

(ค) สามารถแสดงระดับการปฏิบัติงานของผู้ใช้งานระบบ โดยระบุจำนวนและระดับของผู้ใช้งานระบบที่สามารถบันทึก อ่าน หรือเข้าไปใช้ระบบงานในแต่ละระดับได้

(ง) มีการควบคุมโดยใช้รหัสผ่านของผู้ใช้งานระบบซึ่งมีสิทธิเข้าไปใช้ระบบงานทุกระดับและมีระบบงานที่บันทึกการเปลี่ยนรหัสผ่านทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง

(จ) มีรายงานบันทึกการเข้าใช้งานหรือแก้ไขข้อมูลของผู้ใช้งานระบบที่เข้าใช้งานหรือเข้าไปแก้ไขข้อมูลในระบบงานที่ทำหรือแก้ไข วัน เดือน ปี และเวลาที่เข้าใช้ระบบงาน (Access) ตลอดจนจำนวนและรายละเอียดของรายการที่แก้ไขปรับปรุง

(ฉ) มีระบบการตรวจสอบผู้ใช้งานระบบที่ได้เข้าใช้งานหรือเข้าไปแก้ไขข้อมูลในระบบงาน และมีกระบวนการในการตรวจสอบข้อมูลที่บันทึกไว้ในระบบที่สามารถแสดงได้ว่าข้อมูลดังกล่าวได้บันทึกไว้ครบถ้วนทุกรายการแล้ว และไม่มีการแก้ไขรายการของเอกสารที่มีข้อความอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

(๒) มีการควบคุมแฟมข้อมูลซึ่งมีการเข้ารหัสลับ (Encryption) เพื่อปองกันการเข้าถึงข้อมูล ถ้ามีการถอดรหัสลับ (Decryption) ต้องบันทึกหลักฐานไว้ทุกครั้งเพื่อการตรวจสอบ และสามารถจัดพิมพ์เป็นรายงานเพื่อให้ตรวจสอบได้

ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับ อาจใช้ซอฟต์แวร์ที่บุคคลอื่นพัฒนาขึ้นมาใช้ในการจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับได้ หากซอฟต์แวร์นั้นมีวิธีการแบบปลอดภัยที่เชื่อถือได้ทำนองเดียวกับ (๑) และ (๒)

/ ข้อ ๔ ...

ข้อ ๔ การจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับจัดทำข้อมูลโดยมีรายการที่เป็นสาระสำคัญ ตามมาตรา ๘๖/๔ มาตรา ๘๖/๖ มาตรา ๘๖/๙ มาตรา ๘๖/๑๐ และ มาตรา ๑๐๕ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตามรูปแบบ ขนาด ประเภทของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ประกาศบนเว็บไซต์กรมสรรพากร และสร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) แนบหรือรวมไปกับข้อมูลดังกล่าว เพื่อส่งให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ทั้งนี้ ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate) ที่ใช้ในการสร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) ต้องยังไม่หมดอายุในขณะสร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature)

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อตามวรรคหนึ่งแล้ว หากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเรียกร้องให้ออกใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียน ไม่จำต้องเรียกคืนใบกำกับภาษีอย่างย่อตามวรรคหนึ่ง แต่ให้จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากรแทน และส่งให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

ข้อ ๕ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับส่งใบกำกับภาษีหรือใบรับให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และให้ถือเป็นการส่งมอบใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖ แห่งประมวลรัษฎากร หรือเป็นการออกใบรับตามมาตรา ๑๐๕ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ไม่ประสงค์จะรับใบกำกับภาษีหรือใบรับด้วยวิธีการส่งดังกล่าว ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับจัดทำสิ่งพิมพ์ออกของใบกำกับภาษีหรือใบรับดังกล่าวโดยให้ปรากฏข้อความว่า "เอกสารนี้ได้จัดทำและส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์" และ ส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และให้ถือว่าสิ่งพิมพ์ออกของใบกำกับภาษีหรือใบรับดังกล่าวใช้แทนต้นฉบับซึ่งเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นได้

ข้อ ๖ ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับได้จัดทำและส่งใบกำกับภาษีหรือใบรับให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการแล้ว แต่ใบกำกับภาษีหรือใบรับดังกล่าวมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วน หรือกระบวนการที่ทำให้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) ที่แนบหรือรวมอยู่ในใบกำกับภาษีนั้นไม่น่าเชื่อถือ หรือด้วยเหตุอื่นใด เมื่อได้รับการร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีหรือใบรับฉบับเดิมซึ่งได้จัดทำและส่งให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการแล้ว ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับฉบับใหม่โดยไม่จำต้องเรียกคืนใบกำกับภาษีหรือใบรับฉบับเดิม โดยให้นำความตาม ข้อ ๔ มาใช้แก่การจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วยโดยอนุโลมและให้กำหนดรายการดังต่อไปนี้เพิ่มเติมด้วย

(๑) เลขที่ใบกำกับภาษีหรือใบรับฉบับใหม่เป็นเลขที่ใหม่ และระบุ วัน เดือน ปี ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ที่ได้จัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับฉบับใหม่

(๒) ข้อความที่แสดงว่า เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษี (หรือใบรับ) ฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่ ... ลงวันที่ .. หรือข้อความอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่

ข้อ ๗ ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับซึ่งได้จัดทำและส่งใบกำกับภาษีหรือใบรับให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการแล้ว ต่อมาได้รับการร้องขอจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งใบกำกับภาษี หรือใบรับนั้นสูญหาย เสียหาย ถูกทำลาย หรือไม่สามารถใช้การได้โดยประการใด ให้ผู้ประกอบการ จดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับนั้นส่งใบกำกับภาษีหรือใบรับเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการโดยไม่ต้องออกใบแทนใบกำกับภาษีหรือใบรับเช่นเดียวกับใบกำกับภาษีหรือใบรับที่จัดทำในรูปของกระดาษ

ในกรณีที่ได้จัดทำสิ่งพิมพ์ออกของใบกำกับภาษีหรือใบรับและส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อ ๕ แล้ว หากสิ่งพิมพ์ออกของใบกำกับภาษีหรือใบรับดังกล่าวสูญหาย เสียหาย ถูกทำลาย หรือไม่สามารถใช้การได้โดยประการใด ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการอาจร้องขอให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับส่งใบกำกับภาษีหรือใบรับเดียวกันนั้นตามข้อ ๕

ข้อ ๘ กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมอบหมายให้ตัวแทนตามหมวด ๔ แห่งประมวลรัษฎากร จัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษา ใบกำกับภาษีหรือใบรับ ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนตามหมวด ๔ แห่งประมวลรัษฎากร ไว้ในใบกำกับภาษีหรือใบรับ และลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) ของผู้ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๙ กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับมอบหมายให้ผู้ให้บริการจัดทำหรือนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จัดทำและส่งใบกำกับภาษีหรือใบรับ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือ ผู้มีหน้าที่ออกใบรับ มีหน้าที่แจ้งให้กรมสรรพากรทราบถึงการมอบหมายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร และในการจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับ ให้นำความในข้อ ๘ มาใช้โดยอนุโลม

ข้อ ๑๐ ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับ มีสิทธิเลือกที่จะดำเนินการจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือในรูปแบบกระดาษ เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา ๘๖ แห่งประมวลรัษฎากร หรือเมื่อรับเงินหรือรับชำระราคา ตามมาตรา ๑๐๕ แห่งประมวลรัษฎากร ก็ได้

ข้อ ๑๑ ผู้ประกอบการจดทะเบียน ผู้มีหน้าที่ออกใบรับ หรือตัวแทนตามหมวด ๔ แห่งประมวลรัษฎากรหรือผู้ให้บริการจัดทำหรือนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับมอบหมาย มีหน้าที่ส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีหรือใบรับให้แก่กรมสรรพากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดไป

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีหรือใบรับตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ประกาศไว้บนระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร และลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) ของผู้ประกอบการจดทะเบียน ผู้มีหน้าที่ออกใบรับ ตัวแทนตามหมวด ๔ แห่งประมวลรัษฎากร หรือ ผู้ให้บริการจัดทำหรือนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งยังไม่หมดอายุในขณะสร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) และในขณะส่งข้อมูลดังกล่าว

การส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีหรือใบรับให้แก่กรมสรรพากร อาจกระทำได้โดยวิธีการอัปโหลด (Upload) หรือการส่งข้อมูลแบบ Host to Host

ข้อ ๑๒ ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับที่ได้จัดทำและส่งใบกำกับภาษีหรือใบรับด้วยตนเองมอบหมายให้ผู้ให้บริการจัดทำหรือนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวแทนนำส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีหรือใบรับต่อกรมสรรพากร ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับนั้นลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) ในข้อมูลที่นำส่ง และให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับนั้นแจ้งให้กรมสรรพากรทราบถึงการมอบหมายตัวแทนดังกล่าวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร

ข้อ ๑๓ กรณีที่ผู้ให้บริการจัดทำหรือนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์รายใดมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๘๔ (พ.ศ. ๒๕๖๕) ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับ เอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ และไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่กรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งหรือที่ได้รับแจ้งผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากรอาจยกเลิกการอนุญาตให้เชื่อมต่อระบบ และลบรายชื่อออกจากบัญชีผู้ให้บริการจัดทำหรือนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามที่ได้ประกาศไว้

ข้อ ๑๔ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียน ผู้มีหน้าที่ออกใบรับ หรือตัวแทนตามหมวด ๔ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้จัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับมีหน้าที่เก็บรักษาใบกำกับภาษีหรือใบรับนั้น ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

(๑) ใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ในการรักษาความถูกต้องของข้อความตั้งแต่การสร้างข้อความเสร็จสมบูรณ์และสามารถแสดงข้อความนั้นในภายหลังได้

(๒) เก็บรักษาข้อมูลใบกำกับภาษีหรือใบรับ โดยสามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง

(๓) เก็บรักษาข้อมูลใบกำกับภาษีหรือใบรับให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นอยู่ในขณะที่ได้สร้าง ส่ง หรือได้รับข้อมูลใบกำกับภาษีหรือใบรับนั้น หรืออยู่ในรูปแบบที่สามารถแสดงข้อความที่สร้าง ส่ง หรือได้รับให้ปรากฏอย่างถูกต้องได้ และ

(๔) เก็บรักษาข้อความส่วนที่ระบุถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง และปลายทางของใบกำกับภาษี หรือใบรับ ตลอดจนวันและเวลาที่ส่งหรือได้รับข้อความดังกล่าว ถ้ามี

ความในวรรคหนึ่งให้นำมาใช้บังคับแก่การเก็บรักษาใบกำกับภาษีหรือใบรับของผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับซึ่งได้รับมาในฐานะของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย

กรณีใบกำกับภาษีหรือใบรับที่ได้รับมาในรูปแบบของสิ่งพิมพ์ออกของใบกำกับภาษีหรือใบรับตามข้อ ๕ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับเก็บรักษาไฟล์ข้อมูลใบกำกับภาษีหรือใบรับตามวรรคหนึ่ง และให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเก็บรักษาสิ่งพิมพ์ออกของใบกำกับภาษีหรือใบรับซึ่งได้รับมาเช่นเดียวกับการเก็บรักษาใบกำกับภาษีหรือใบรับที่ออกในรูปของกระดาษ

ข้อ ๑๕ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ที่ลงในประกาศเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๖

ลวรณ แสงสนิท (นายลวรณ แสงสนิท)

อธิบดีกรมสรรพากร

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ