____________________ อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๙๓ (พ.ศ. ๒๕๖๗) ออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าจ้างก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยขึ้นใหม่ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าจ้างก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยขึ้นใหม่ให้แก่ผู้รับจ้างซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อทุกจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมแล้วไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และไม่เกินหนึ่งหลัง ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
(๑) ผู้รับจ้างจะต้องไม่เป็นผู้ประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา ๙๑/๒ (๖) แห่งประมวลรัษฎากร และทำสัญญา ในลักษณะแยกสัญญาซื้อขายที่ดินกับสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยออกจากกัน
(๒) การก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยขึ้นใหม่ ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด ขยาย ซ่อมแซม หรือรื้อถอนอาคาร
ข้อ ๒ การยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ ๑ ให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันทำสัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร ให้ได้รับสิทธิยกเว้น ภาษีเงินได้ทุกคนโดยเฉลี่ยตามส่วนของจำนวนผู้มีเงินได้
(๒) กรณีสามีภริยาร่วมกันทำสัญญาจ้าง โดยสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่สามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้เต็มจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อทุกจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมแล้วไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
(๓) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
(ก) กรณีต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับหรือ แยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ถือเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา ๕๗ ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้เป็นจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อทุกจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมแล้ว ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
(ข) กรณีสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยถือเอาเงินได้พึงประเมิน ของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา ๕๗ ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อทุกจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมแล้วไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนของสามีหรือภริยาได้เป็นจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อทุกจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมแล้วไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
ข้อ ๓ ผู้มีเงินได้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมที่จะให้ เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้
(๑) ใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ระบุค่าจ้างก่อสร้าง อาคารเพื่ออยู่อาศัย
(๒) สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัย (๓) ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร หรือใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
ข้อ ๔ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธินำเงินได้ ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักออกจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร หลังจากหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๔๒ ทวิ ถึงมาตรา ๔๖ แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว
ข้อ ๕ ผู้มีเงินได้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ในปีภาษีที่ก่อสร้างอาคารเสร็จ โดยพิจารณา จากวันสิ้นสุดการก่อสร้างในสัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร หรือใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร หรือใบรับแจ้ง การก่อสร้างอาคารแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง
ข้อ ๖ ผู้มีเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้แล้ว และต่อมาปฏิบัติไม่เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำค่าจ้างก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยไปหักออกจาก เงินได้พึงประเมินเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้แล้ว พร้อมชำระเงินเพิ่มตามมาตรา ๒๗ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ ๗ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๗ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๗
กุลยา ตันติเตมิท
(นางสาวกุลยา ตันติเตมิท) อธิบดีกรมสรรพากร
ที่มา: http://www.rd.go.th