ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ ๔๔๘)เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

ข่าวทั่วไป Thursday June 27, 2024 13:49 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ ๔๔๘)เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

สำหรับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๘๗) พ.ศ. ๒๕๖๗ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจสำหรับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งดำเนินกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายและได้รับการรับรองกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่ประสงค์จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๘๗) พ.ศ. ๒๕๖๗ ยื่นคำร้องขออนุมัติต่ออธิบดี กรมสรรพากรตามแบบคำขออนุมัติเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) (ร.ม.๑) ตามที่แนบท้ายประกาศนี้ โดยต้องกรอกคำขออนุมัติตามแบบ ร.ม.๑ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th พร้อมแนบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เอกสารหนังสือรับรองกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการที่ออกโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในรูปแบบของไฟล์ PDF เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

การยื่นคำร้องขอตามวรรคหนึ่ง จะต้องยื่นภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๗๐ และต้อง ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรตามคำร้องขอนั้นด้วย

ข้อ ๒ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจซึ่งดำเนินกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายและได้รับอนุมัติตามข้อ ๑ แล้ว ที่ประสงค์จะขอเพิ่มกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือเพิ่มประเภทสินค้าหรือบริการในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขอรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๘๗) พ.ศ. ๒๕๖๗ ยื่นคำขอตามแบบแจ้งเพิ่มกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับผู้ประกอบการ รายใหม่ (ร.ม.๒) ต่ออธิบดีกรมสรรพากร ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประสงค์จะขอเพิ่มกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือเพิ่มประเภทสินค้าหรือบริการในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามวรรคหนึ่ง จะต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องแนบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เอกสารหนังสือรับรองที่ออกโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในรูปแบบของไฟล์ PDF มาพร้อมกับคำขอด้วย

ข้อ ๓ การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งดำเนินกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในมาตรา ๖๕ มาตรา ๖๕ ทวิ และมาตรา ๖๕ ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้และรายได้จากกิจการอื่น ให้คำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละกิจการแยกต่างหากจากกัน หากรายจ่ายใดไม่สามารถแยกกันได้ โดยชัดแจ้งว่าส่วนใดเป็นรายจ่ายของกิจการใด ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉลี่ยรายจ่ายดังกล่าวตามส่วนของรายได้แล้วให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลฉบับเดียว โดยให้แยกกระดาษทำการซึ่งแสดงรายละเอียดการคำนวณกำไรขาดทุนของแต่ละกิจการออกจากกัน

          ข้อ ๔ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔ แห่ง         พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๘๗) พ.ศ. ๒๕๖๗ ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมาย     ว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ข้อ ๕ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๗

กุลยา ตันติเตมิท

(นางสาวกุลยา ตันติเตมิท)

อธิบดีกรมสรรพากร

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ