แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๕) แห่งประมวลรัษฎากร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ วรรคสอง และมาตรา ๖ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๘๖) พ.ศ. ๒๕๖๗ อธิบดีกรมสรรพากร กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา ๖๕ ตรี (๕) แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
ขอ ๑ การยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจตามมาตรา ๔ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๘๖) พ.ศ. ๒๕๖๗ ต้องเป็นเงินได้ที่ได้จ่ายไปเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา ๖๕ ตรี (๕) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(๑) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ (๒) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (๓) ยานพาหนะที่จดทะเบียนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้น ๆ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน ๑๐ คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า
(๔) อาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย
ข้อ ๒ ทรัพย์สินตามข้อ ๑ (๑) (๒) และ (๓) ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลง ในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้น แล้วแต่กรณี ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๙
ทรัพย์สินตามข้อ ๑ (๔) ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน ดังนี้
(๑) ต้องขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๙ หรือ
(๒) ต้องแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามมาตรา ๓๙ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๙ หรือ
(๓) กรณีที่ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ จะต้องเกิดจากสัญญาจ้าง ใบสั่งจ้างหรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้นที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๙
การลงทุนในทรัพย์สินตามขอ ๑ (๔) ไม่รวมถึงการลงทุนในทรัพย์สินโดยการซื้อหรือเช่าซื้อ ทรัพย์สินนั้นมา
ข้อ ๓ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ประกอบ กิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา ๖๕ตรี (๕) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงตั้งแต่วันที่๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๙ โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประเภทของทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและระยะเวลา ดังนี้
(๑) ทรัพย์สินตามข้อ ๑ (๑) ให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ ที่ได้รับยกเว้นสำหรับระยะเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
(๒) ทรัพย์สินตามข้อ ๑ (๒) ให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ ที่ได้รับยกเว้นสำหรับระยะเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
(๓) ทรัพย์สินตามข้อ ๑ (๓) ให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ ที่ได้รับยกเว้นสำหรับระยะเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
(๔) ทรัพย์สินตามข้อ ๑ (๔) ให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ ที่ได้รับยกเว้นสำหรับระยะเวลายี่สิบรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
ข้อ ๔ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนา พิเศษเฉพาะกิจที่มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามข้อ ๓ เริ่มใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมาตรา ๖๕ ทวิ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ ๕ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามข้อ ๓ และข้อ ๔ จัดทำรายงานแสดงรายละเอียดของทรัพย์สินที่ใช้สิทธิยกเว้นนั้น โดยต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้ และเก็บรักษารายงานดังกล่าว รวมทั้งเอกสารประกอบการลงรายการในรายงานไว้ ณ สถานประกอบการ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้
ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งจะต้องมีอยู่ในทะเบียนทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนส่วนนิติบุคคลหรือเอกสารอื่นใดในทำนองเดียวกันที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดทำขึ้น ประกาศ ณ วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗
กุลยา ตันติเตมิท (นางสาวกุลยา ตันติเตมิท)
อธิบดีกรมสรรพากร