พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๗
เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยภาษีส่วนเพิ่ม พระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยและสนับสนุนมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ ที่นานาประเทศได้กำหนดร่วมกันให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่เสียภาษีจากการประกอบกิจการ ในแต่ละประเทศไม่น้อยกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ ซึ่งการตราพระราชกำหนดนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
;yQyry y ;อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า "พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. ๒๕๖๗" มาตรา ๒ พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๘ เป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมิน กับออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้
กฎกระทรวงและระเบียบตามวรรคหนึ่งนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ระเบียบหรือประกาศที่ออกโดยอธิบดีกรมสรรพากรตามพระราชกำหนดนี้ เมื่อได้ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
บททั่วไป มาตรา ๔ ในพระราชกำหนดนี้ "ภาษีส่วนเพิ่ม" หมายความว่า ภาษีส่วนที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นจากภาษีที่ได้เสียแล้วของ กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ กิจการร่วมค้า และกลุ่มกิจการร่วมค้า โดยคำนวณตามวิธีการที่กำหนดไว้ใน พระราชกำหนดนี้
"ประเทศ" หมายความรวมถึงเขตเศรษฐกิจ "ประเทศไทย" หมายความว่า อาณาเขตของราชอาณาจักรไทย รวมถึงน่านน้ำภายใน อาณาเขตทะเล และพื้นที่ทะเลอื่นใด ซึ่งราชอาณาจักรไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือเขตอำนาจตามกฎหมายระหว่างประเทศ
"นิติบุคคล" หมายความรวมถึงกลุ่มบุคคลซึ่งมีนิติสัมพันธ์กันและจัดทำงบการเงินแยกเฉพาะส่วน ของกลุ่มบุคคลนั้นได้ เช่น ห้างหุ้นส่วนที่มิใช่นิติบุคคล หรือทรัสต์
"กลุ่มนิติบุคคล" หมายความว่า (๑) นิติบุคคลมากกว่าหนึ่งนิติบุคคลซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านความเป็นเจ้าของหรือด้านการควบคุมอันทำให้ทรัพย์สิน หนี้สิน รายได้ รายจ่าย และกระแสเงินสดของนิติบุคคลเหล่านั้น
(ก) ถูกรวมอยู่ในงบการเงินรวมของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุด หรือ
(ข) ไม่ถูกรวมในงบการเงินรวมของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดเนื่องจากขนาดหรือ ความมีสาระสำคัญ หรือเนื่องจากนิติบุคคลนั้นถูกถือครองไว้เพื่อขาย หรือ
(๒) นิติบุคคลหนึ่งที่ไม่เข้าลักษณะกลุ่มนิติบุคคลตาม (๑) แต่มีสถานประกอบการถาวร แห่งหนึ่งหรือหลายแห่งตั้งอยู่ในประเทศอื่น
"นิติบุคคลหลัก" หมายความว่า นิติบุคคลที่ได้รวมกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของ สถานประกอบการถาวรในงบการเงินของตน
"นิติบุคคลในเครือ" หมายความว่า (๑) นิติบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนิติบุคคลหนึ่ง (๒) สถานประกอบการถาวรของนิติบุคคลหลักตาม (๑) โดยให้ถือว่าสถานประกอบการถาวรดังกล่าวเป็นนิติบุคคลในเครือหนึ่งแยกต่างหากจากนิติบุคคลหลักนั้นและแยกต่างหากจาก สถานประกอบการถาวรอื่นของนิติบุคคลดังกล่าวด้วย
"นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุด" หมายความว่า (๑) นิติบุคคลหนึ่งที่มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจควบคุมในนิติบุคคลอื่นไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม และนิติบุคคลหนึ่งนั้นไม่มีนิติบุคคลอื่นใดมีส่วนได้เสียที่มีอำนาจควบคุมไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม แต่ไม่รวมถึงนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๒๗ ที่รัฐมีส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของทั้งหมดไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม และมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐนั้นหรือ ของประเทศนั้นผ่านการลงทุน การถือครองการลงทุน การจัดการทรัพย์สิน หรือกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในทรัพย์สินของรัฐนั้นหรือของประเทศนั้นโดยที่ไม่ได้ดำเนินการในทางการค้าหรือธุรกิจ หรือ
(๒) นิติบุคคลหลักของกลุ่มนิติบุคคล สำหรับกรณี (๒) ของบทนิยามคำว่า "กลุ่มนิติบุคคล" "กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ" หมายความว่า กลุ่มนิติบุคคลหนึ่งที่มีนิติบุคคลอย่างน้อยรายหนึ่งหรือสถานประกอบการถาวรอย่างน้อยแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศที่นิติบุคคลแม่ ลำดับสูงสุดตั้งอยู่
"สถานประกอบการถาวร" หมายความว่า (๑) สถานประกอบธุรกิจหรือที่ถือว่าเป็นสถานประกอบธุรกิจซึ่งตั้งอยู่ในประเทศหนึ่ง และมีลักษณะเป็นสถานประกอบการถาวรตามความตกลงหรืออนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรที่มีผลใช้บังคับและปรับใช้ได้แก่กรณี ซึ่งตามความตกลงหรืออนุสัญญา ดังกล่าวได้กำหนดให้ประเทศนั้นมีสิทธิจัดเก็บภาษีจากกำไรที่พึงถือว่าเป็นของสถานประกอบการถาวรนั้นตามหลักเกณฑ์ที่คล้ายคลึงกับที่กำหนดไว้ในข้อบทที่ ๗ ของต้นแบบมาตรฐานสัญญาว่าด้วยการเว้น การเก็บภาษีซ้อน
(๒) สถานประกอบธุรกิจหรือที่ถือว่าเป็นสถานประกอบธุรกิจซึ่งประเทศหนึ่งได้จัดเก็บภาษีตามกฎหมายจากกำไรที่พึงถือว่าเป็นของสถานประกอบธุรกิจเช่นว่านั้น โดยคำนวณจากยอดสุทธิ ในลักษณะเดียวกันกับที่ได้จัดเก็บภาษีจากผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศของตน ในกรณีไม่มีความตกลงหรืออนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรที่สามารถปรับใช้ได้
(๓) สถานประกอบธุรกิจหรือที่ถือว่าเป็นสถานประกอบธุรกิจที่ตั้งอยู่ในประเทศหนึ่ง ซึ่งพึงถือได้ว่าเป็นสถานประกอบการถาวรตามต้นแบบมาตรฐานสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และประเทศดังกล่าวพึงมีสิทธิในการจัดเก็บภาษีจากกำไรที่พึงถือว่าเป็นของสถานประกอบการถาวรนั้น ตามข้อบทที่ ๗ ของต้นแบบมาตรฐานดังกล่าว ในกรณีที่ประเทศนั้นไม่มีระบบภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ
(๔) สถานประกอบธุรกิจหรือที่ถือว่าเป็นสถานประกอบธุรกิจที่ไม่เข้าลักษณะตาม (๑) ถึง (๓) ซึ่งกิจการของสถานประกอบธุรกิจหรือที่ถือว่าเป็นสถานประกอบธุรกิจนั้นได้ดำเนินการอยู่นอกประเทศ ที่นิติบุคคลผู้ประกอบธุรกิจนั้นตั้งอยู่ และประเทศที่นิติบุคคลผู้ประกอบธุรกิจตั้งอยู่นั้นได้ยกเว้นภาษีสำหรับกำไรที่พึงถือว่าเป็นของกิจการที่ได้ดำเนินการอยู่นอกประเทศเช่นว่านั้น
"ต้นแบบมาตรฐานสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน" หมายความว่า ต้นแบบมาตรฐานอนุสัญญาภาษีซ้อนที่จัดทำขึ้นโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ฉบับเผยแพร่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐
"กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ" หมายความว่า กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไร (Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting) ที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
"มาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ" หมายความว่า ต้นแบบหลักเกณฑ์มาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ (Global Anti-Base Erosion Model Rules) รวมถึงคำอธิบายและแนวปฏิบัติที่จัดทำขึ้นโดยกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศหรือจากการตกลงร่วมกันของกลุ่มภาคีสมาชิก
"ความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล" หมายความว่า ความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ ที่รัฐบาลไทยได้เข้าผูกพันเป็นคู่สัญญาหรือเป็นภาคี หรือที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยได้ทำไว้กับสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าของต่างประเทศ
"แบบรายงานข้อมูลตามมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ" หมายความว่า แบบมาตรฐานเพื่อใช้รายงานข้อมูลตามมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศซึ่งถูกพัฒนาขึ้นตามกรอบความร่วมมือเพื่ออนุวัติการมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ
"อัตราภาษีขั้นต่ำ" หมายความว่า อัตราภาษีร้อยละสิบห้า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" หมายความว่า เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศคู่สัญญาหรือของภาคีตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล
"เจ้าพนักงานประเมิน" หมายความว่า บุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากข้าราชการเพื่อทำหน้าที่ประเมินภาษีส่วนเพิ่มโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
"อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้ มาตรา ๕ การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มตามพระราชกำหนดนี้ให้เป็นหน้าที่และอำนาจ ของกรมสรรพากร
มาตรา ๖ ภาษีส่วนเพิ่มตามพระราชกำหนดนี้ไม่เป็นภาษีเงินได้ มาตรา ๗ ภาษีส่วนเพิ่มตามพระราชกำหนดนี้อยู่ในประเภทภาษีอากรประเมิน และให้ เจ้าพนักงานประเมินเป็นผู้ประเมินเกี่ยวกับภาษีส่วนเพิ่มตามพระราชกำหนดนี้
มาตรา ๘ ภาษีส่วนเพิ่มตามพระราชกำหนดนี้จะลดหรือยกเว้นโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาก็ได้ มาตรา ๙ กำหนดเวลาการยื่นรายงานหรือรายการก็ดี กำหนดเวลาการอุทธรณ์ก็ดี กำหนดเวลาการเสียภาษีส่วนเพิ่มตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้ก็ดี ถ้ามีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้ เมื่ออธิบดีพิจารณาเห็นเป็นการสมควร จะให้ขยายหรือให้เลื่อนกำหนดเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้
กำหนดเวลาต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้ เมื่อรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควร จะให้ขยายหรือให้เลื่อนกำหนดเวลานั้นออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้
มาตรา ๑๐ เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีส่วนเพิ่ม ให้อธิบดีมีอำนาจเข้าไปหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้าไปในสถานที่หรือยานพาหนะใดเพื่อทำ การตรวจค้น ยึด หรืออายัดบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับหรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับภาษีส่วนเพิ่ม ที่จะต้องเสียได้ทั่วราชอาณาจักร
การทำการตามวรรคหนึ่งต้องทำในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือ ในระหว่างเวลาทำการของผู้ประกอบกิจการนั้น
มาตรา ๑๑ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีส่วนเพิ่มมีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
ในการกำหนดตามวรรคหนึ่ง อธิบดีอาจกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีส่วนเพิ่มมีและใช้ เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากรแทนการกำหนดขึ้นใหม่ก็ได้
มาตรา ๑๒ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณและการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม อธิบดีมีอำนาจ สั่งให้นิติบุคคลจัดทำบัญชี หลักฐาน หรือรายงานใด ๆ ซึ่งเกี่ยวกับหรือซึ่งอธิบดีมีเหตุอันควรเชื่อว่า เกี่ยวกับการคำนวณและการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มตามพระราชกำหนดนี้ และให้มีอำนาจสั่งให้นิติบุคคล ดังกล่าวยื่นบัญชี หลักฐาน หรือรายงานนั้น หรือให้แจ้งข้อความใดภายในกำหนดเวลาที่อธิบดีกำหนด
คำสั่งตามวรรคหนึ่งจะให้ปฏิบัติก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่นิติบุคคลนั้นอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มตามพระราชกำหนดนี้ก็ได้
บัญชีตามวรรคหนึ่งอาจกำหนดให้ต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชีหรือบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีก็ได้
บุคคลซึ่งจะขอใบอนุญาตจากอธิบดีตามความในวรรคสาม ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี และเมื่อบุคคลใดได้รับใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว ถ้าฝ่าฝืนระเบียบที่อธิบดีกำหนด อธิบดีอาจพิจารณาสั่งถอนใบอนุญาตเสียก็ได้
มาตรา ๑๓ เว้นแต่ได้ระบุเป็นเงินตราไทยแล้ว บรรดาบัญชี หลักฐาน และเอกสาร ประกอบการลงบัญชีซึ่งเกี่ยวกับการคำนวณและการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มตามพระราชกำหนดนี้ให้ระบุเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ
การชำระภาษีส่วนเพิ่มตามพระราชกำหนดนี้ให้เสียเป็นเงินตราไทย ไม่ว่าจะใช้เงินตราสกุลใดในการลงบัญชีตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๑๔ ถ้าจำเป็นต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยเพื่อปฏิบัติการ ตามพระราชกำหนดนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
มาตรา ๑๕ บรรดาบัญชี เอกสาร และหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับการคำนวณและการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มตามพระราชกำหนดนี้ ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศ เจ้าพนักงานประเมินจะสั่งให้บุคคลใดที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการทำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานนั้นจัดการแปลเป็นภาษาไทยให้เสร็จภายในเวลาที่สมควรก็ได้
มาตรา ๑๖ บรรดาคำสั่งหรือหนังสืออื่นใดที่อธิบดีมีถึงบุคคลใดตามพระราชกำหนดนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือให้นำไปส่ง ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงาน ของบุคคลนั้น ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของบุคคลนั้น ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่ หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับนั้นก็ได้
ในกรณีที่ไม่สามารถส่งตามวิธีในวรรคหนึ่งได้ ให้ใช้วิธีปิดคำสั่งหรือหนังสืออื่นแล้วแต่กรณี ในที่ซึ่งเห็นได้ง่าย ณ ที่อยู่ หรือสำนักงานของบุคคลนั้น หรือบ้านที่บุคคลนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียน ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรครั้งสุดท้าย หรือโฆษณาข้อความย่อในหนังสือพิมพ์ที่จำหน่ายเป็นปกติในท้องที่นั้น หรือโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวงก็ได้
บรรดาคำสั่งหรือหนังสืออื่นใดที่อธิบดีส่งไปยังบุคคลใดตามพระราชกำหนดนี้อาจกระทำด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อได้ปฏิบัติตามวิธีที่กำหนดในวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสามแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันได้รับแล้ว มาตรา ๑๗ บรรดาข้อมูล แบบ รายงาน เอกสารหลักฐาน หรือหนังสืออื่นใด ที่ต้องมี จัดทำ หรือใช้ ตามที่บัญญัติในพระราชกำหนดนี้ และบรรดาเอกสารหลักฐานหรือหนังสือที่ผู้เสียภาษีหรือบุคคลใดต้องใช้ในการติดต่อกับกรมสรรพากร จะกระทำด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ เว้นแต่อธิบดีจะสั่งเป็นอย่างอื่น
การกระทำด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์และกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
มาตรา ๑๘ ในกรณีทั้งปวงซึ่งนิติบุคคลเป็นผู้มีหน้าที่ ให้กรรมการหรือผู้จัดการซึ่งมีอำนาจดำเนินการในนามของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ
ในกรณีทั้งปวงที่กลุ่มบุคคลซึ่งมีนิติสัมพันธ์กันเป็นผู้มีหน้าที่ ให้ผู้ซึ่งมีอำนาจดำเนินการ ในนามของกลุ่มบุคคลนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ
มาตรา ๑๙ เจ้าพนักงานผู้ใดโดยหน้าที่ราชการตามพระราชกำหนดนี้ได้รู้เรื่องกิจการของ ผู้เสียภาษีหรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ห้ามมิให้นำออกแจ้งแก่ผู้ใดหรือยังให้ทราบกันไปโดยวิธีใด เว้นแต่ จะมีอำนาจที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา ๒๐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจดังกล่าวมีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลตามพระราชกำหนดนี้กับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศคู่สัญญาหรือภาคีตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล
มาตรา ๒๑ ภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล เจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจของประเทศไทยหรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดังกล่าวมอบหมายมีอำนาจเปิดเผยข้อมูล ที่ได้รับตามพระราชกำหนดนี้หรือข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศคู่สัญญาหรือ ภาคีให้แก่เจ้าพนักงานประเมินตามพระราชกำหนดนี้ ตามประมวลรัษฎากร กฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ ปิโตรเลียม หรือกฎหมายภาษีอากรอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๒ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ อธิบดีมีอำนาจเปิดเผยชื่อผู้มีหน้าที่เสียภาษีส่วนเพิ่ม จำนวนภาษีส่วนเพิ่มที่ได้เสียไว้ และวันที่ที่ได้เสียภาษีส่วนเพิ่มนั้น แก่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๒๓ กรณีที่มีปัญหาในการตีความบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดนี้ให้ตีความ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ
หมวด ๒ การเก็บภาษีส่วนเพิ่ม มาตรา ๒๔ ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น "นิติบุคคลแม่ลำดับกลาง" หมายความว่า นิติบุคคลในเครือหนึ่งที่มีส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในนิติบุคคลในเครืออื่นที่เป็นสมาชิกของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติเดียวกัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุด นิติบุคคลแม่ที่บุคคลอื่นมีความเป็นเจ้าของบางส่วน สถานประกอบการถาวร หรือนิติบุคคลเพื่อการลงทุน
"นิติบุคคลแม่ที่บุคคลอื่นมีความเป็นเจ้าของบางส่วน" หมายความว่า นิติบุคคลในเครือ ที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(๑) มีส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในนิติบุคคลในเครืออื่น ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติเดียวกัน และ
(๒) มีบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่นิติบุคคลในเครือของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติเดียวกันมีส่วนได้เสีย ในความเป็นเจ้าของไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมมากกว่าร้อยละยี่สิบ
แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุด สถานประกอบการถาวร หรือนิติบุคคลเพื่อการลงทุน "นิติบุคคลเพื่อการลงทุน" หมายความว่า (๑) กองทุนเพื่อการลงทุนหรือเครื่องมือเพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (๒) นิติบุคคลที่
(ก) ส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าถูกถือโดยนิติบุคคลอื่น ที่มีลักษณะตาม (๑) โดยตรง หรือผ่านนิติบุคคลอื่นที่มีลักษณะเช่นว่านั้นเป็นทอด ๆ และ
(ข) ได้ดำเนินการทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ในการถือครองทรัพย์สินหรือลงทุน เพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลเพื่อการลงทุนตาม (๑) หรือ
(๓) นิติบุคคลที่มูลค่าในนิติบุคคลดังกล่าวไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบห้าถูกถือโดยนิติบุคคลอื่นที่มีลักษณะตาม (๑) และรายได้เกือบทั้งหมดของนิติบุคคลดังกล่าวนั้นเป็นเงินปันผลหรือส่วนเกินทุนหรือส่วนต่ำกว่าทุนจากส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของที่ไม่ถูกรวมในการคำนวณผลกำไรหรือผลขาดทุนตามมาตรา ๓๑
"ส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของ" หมายความว่า ส่วนได้เสียในทุนที่มีสิทธิในกำไรเงินทุน หรือทุนสำรองของนิติบุคคลหรือของสถานประกอบการถาวรที่นิติบุคคลหลักมีอยู่
"ส่วนได้เสียที่มีอำนาจควบคุม" หมายความว่า ส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของในนิติบุคคลหนึ่ง ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น
(๑) ถูกกำหนดให้นำรายการทรัพย์สิน หนี้สิน รายได้ รายจ่าย และกระแสเงินสดของ นิติบุคคลดังกล่าวมารวมกับรายการของตนด้วยวิธีรายการต่อรายการตามมาตรฐานการบัญชีที่ได้รับ การยอมรับ หรือ
(๒) พึงถูกกำหนดให้นำรายการเช่นว่านั้นมารวมกับรายการของตนด้วยวิธีรายการต่อรายการ หากผู้มีส่วนได้เสียนั้นได้จัดทำงบการเงินรวม
ทั้งนี้ ในกรณีของนิติบุคคลหลักและสถานประกอบการถาวร ให้ถือว่านิติบุคคลหลักมีส่วนได้เสีย ที่มีอำนาจควบคุมในสถานประกอบการถาวรของตน
"ระบบภาษีที่จัดเก็บเมื่อจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น" หมายความว่า ระบบภาษีเงินได้ นิติบุคคลที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทซึ่งจะต้องเสียภาษีเมื่อได้จ่ายกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น หรือเมื่อถือได้ว่า จ่ายกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น หรือเมื่อมีรายจ่ายบางรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ
(๒) จัดเก็บภาษีในอัตราที่เท่ากับหรือมากกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ และ (๓) ใช้บังคับก่อนวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ "มาตรฐานการบัญชีที่ได้รับการยอมรับ" หมายความว่า (๑) มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Reporting Standards) หรือ
(๒) หลักการบัญชีที่ได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไปในประเทศที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งต้องสอดคล้องกับมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ
"มาตรฐานการบัญชีที่ได้รับอนุญาต" หมายความว่า หลักการบัญชีที่ได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไป ในประเทศหนึ่งซึ่งได้รับการยอมรับจากหน่วยงานผู้มีอำนาจเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีของประเทศ ที่นิติบุคคลนั้นตั้งอยู่
"หน่วยงานผู้มีอำนาจเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชี" หมายความว่า หน่วยงานที่มีอำนาจ ตามกฎหมายของประเทศหนึ่งในการกำหนด จัดทำ หรือยอมรับมาตรฐานการบัญชีเพื่อวัตถุประสงค์ ในการรายงานข้อมูลทางการเงินสำหรับประเทศนั้น
"งบการเงินรวม" หมายความว่า (๑) งบการเงินที่จัดทำโดยนิติบุคคลหนึ่งตามมาตรฐานการบัญชีที่ได้รับการยอมรับซึ่งได้กำหนด ให้นำเสนอรายการทรัพย์สิน หนี้สิน รายได้ รายจ่าย และกระแสเงินสดของนิติบุคคลนั้น และ นิติบุคคลอื่น ๆ ที่นิติบุคคลนั้นมีส่วนได้เสียที่มีอำนาจควบคุม รวมเป็นหนึ่งหน่วยเศรษฐกิจ
(๒) งบการเงินที่จัดทำโดยนิติบุคคลหลักตามมาตรฐานการบัญชีที่ได้รับการยอมรับ ในกรณีของกลุ่มนิติบุคคลตาม (๒) ของบทนิยามคำว่า "กลุ่มนิติบุคคล" ตามมาตรา ๔
(๓) งบการเงินที่จัดทำโดยนิติบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) ตามมาตรฐานการบัญชีอื่นที่ไม่ใช่มาตรฐานการบัญชีที่ได้รับการยอมรับ แต่ได้ปรับปรุงตามมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษี ระหว่างประเทศแล้ว เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนของการนำเสนอข้อมูลที่มีนัยสำคัญ หรือ
(๔) งบการเงินที่พึงได้จัดทำขึ้นโดยนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดตามมาตรฐานการบัญชีที่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นมาตรฐานการบัญชีที่ได้รับการยอมรับหรือมาตรฐานการบัญชีอื่น แต่ได้ปรับปรุงตามมาตรการ ป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศแล้ว เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนของการนำเสนอข้อมูล ที่มีนัยสำคัญ หากนิติบุคคลนั้นได้ถูกกำหนดให้จัดทำงบการเงินเช่นว่านั้นในกรณีที่ไม่มีงบการเงิน ตาม (๑) ถึง (๓)
"ความคลาดเคลื่อนของการนำเสนอข้อมูลที่มีนัยสำคัญ" หมายความว่า ความคลาดเคลื่อน ที่เกิดจากการปรับใช้มาตรฐานการบัญชีหนึ่งที่ทำให้เกิดผลต่างโดยรวมมากกว่าจำนวนเงินตราไทย เทียบเท่าเจ็ดสิบห้าล้านยูโรในรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้รับจากการปรับใช้ มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Reporting Standards)
"ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย" หมายความว่า (๑) จำนวนภาษีที่ถูกบันทึกในงบการเงินของนิติบุคคลในเครือแต่ละราย
(ก) ที่คำนวณจากรายได้หรือกำไรของนิติบุคคลในเครือนั้น
(ข) ที่คำนวณจากรายได้หรือกำไรของนิติบุคคลในเครืออื่นที่นิติบุคคลในเครือนั้นมีส่วน ได้เสียในความเป็นเจ้าของ
(๒) จำนวนภาษีที่จัดเก็บภายใต้ระบบภาษีที่จัดเก็บเมื่อจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น (๓) จำนวนภาษีที่จัดเก็บแทนที่ภาษีเงินได้นิติบุคคล (๔) จำนวนภาษีที่จัดเก็บโดยอ้างอิงถึงกำไรสะสมและทุน รวมถึงภาษีที่จัดเก็บจาก หลายองค์ประกอบซึ่งขึ้นอยู่กับกำไรและทุน
จำนวนภาษีดังกล่าวไม่รวมถึงจำนวนภาษี ดังต่อไปนี้ (๑) จำนวนภาษีส่วนเพิ่มที่นิติบุคคลแม่ได้รับรู้ตามกฎการรวมเงินได้ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ (๒) จำนวนภาษีส่วนเพิ่มที่นิติบุคคลในเครือได้รับรู้ตามหลักการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์
(๓) จำนวนภาษีส่วนเพิ่มที่นิติบุคคลในเครือได้รับรู้หรือเกิดจากการปรับปรุงรายการตามกฎการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์
(๔) จำนวนภาษีเงินปันผลที่ขอคืนได้ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (๕) ภาษีที่บริษัทประกันภัยได้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับผลตอบแทนที่จ่ายให้แก่ผู้ถือกรมธรรม์ "กฎการรวมเงินได้ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์" หมายความว่า กฎหมายของประเทศหนึ่งที่มีลักษณะเดียวกันกับกฎการรวมเงินได้ (Income Inclusion Rule) ตามมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศและได้รับการรับรองโดยกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศว่าเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ
"ภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์" หมายความว่า การจัดเก็บภาษีขั้นต่ำ ที่กำหนดไว้ในกฎหมายของประเทศหนึ่งซึ่ง
(๑) ได้กำหนดเงินได้รวมสุทธิภายหลังจากการหักส่วนที่ยอมให้หักออกจากเงินได้รวมสุทธิสำหรับนิติบุคคลในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศดังกล่าวในลักษณะเดียวกันกับที่มาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศกำหนด
(๒) ได้เพิ่มภาระภาษีภายในประเทศที่คำนวณจากเงินได้รวมสุทธิภายหลังจากการหักส่วน ที่ยอมให้หักออกจากเงินได้รวมสุทธิตาม (๑) เพื่อให้เป็นไปตามอัตราภาษีขั้นต่ำ สำหรับประเทศนั้น และนิติบุคคลในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง
(๓) เป็นไปในแนวทางที่สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ และประเทศนั้นไม่ได้ให้ประโยชน์ใดที่เกี่ยวข้องกับมาตรการดังกล่าว และ
(๔) ได้รับการรับรองโดยกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศว่าเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ
"กฎการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์" หมายความว่า กฎหมาย ของประเทศหนึ่งที่มีลักษณะเดียวกันกับกฎการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือ (Undertaxed Payments Rule) ตามมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศและได้รับการรับรองโดยกรอบ ความร่วมมือระหว่างประเทศว่าเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษี ระหว่างประเทศ
มาตรา ๒๕ การพิจารณาประเทศที่เป็นที่ตั้งของนิติบุคคลรายหนึ่ง หรือสถานประกอบการถาวรแห่งหนึ่งนั้น ให้พิจารณาดังนี้
(๑) กรณีนิติบุคคลที่ไม่ใช่สถานประกอบการถาวร ให้พิจารณาดังนี้
(ก) หากนิติบุคคลดังกล่าวเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีตามกฎหมายของประเทศใด โดยการพิจารณาผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีนั้นเป็นการพิจารณาจากสถานจัดการ สถานที่จัดตั้ง หรือหลักเกณฑ์อื่น ที่ลักษณะคล้ายคลึงกัน ให้ถือว่านิติบุคคลนั้นตั้งอยู่ในประเทศนั้น
(ข) หากนิติบุคคลดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีตามกฎหมายของประเทศใดเลย ให้ถือว่านิติบุคคลนั้นตั้งอยู่ในประเทศที่นิติบุคคลนั้นถูกก่อตั้งขึ้น
ทั้งนี้ กรณีที่นิติบุคคลใดมีแหล่งที่ตั้งมากกว่าหนึ่งประเทศ ให้อธิบดีประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาประเทศที่ตั้งของนิติบุคคลดังกล่าว ซึ่งต้องสอดคล้องกับมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ
(๒) กรณีสถานประกอบการถาวร ให้พิจารณาดังนี้
(ก) หากเป็นสถานประกอบการถาวรตาม (๑) ของบทนิยามคำว่า "สถานประกอบการถาวร" ตามมาตรา ๔ ให้ถือว่าสถานประกอบการถาวรดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศที่พิจารณาว่า สถานประกอบธุรกิจนั้นเป็นสถานประกอบการถาวรและอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในประเทศดังกล่าว ตามความตกลงหรืออนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรที่มีผลใช้บังคับและปรับใช้ได้แก่กรณี
(ข) หากเป็นสถานประกอบการถาวรตาม (๒) ของบทนิยามคำว่า "สถานประกอบการถาวร" ตามมาตรา ๔ ให้ถือว่าสถานประกอบการถาวรดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศที่สถานประกอบการถาวรนั้นอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีจากยอดสุทธิเนื่องด้วยเหตุของการประกอบกิจการในประเทศนั้น
(ค) หากเป็นสถานประกอบการถาวรตาม (๓) ของบทนิยามคำว่า "สถานประกอบการถาวร" ตามมาตรา ๔ ให้ถือว่าสถานประกอบการถาวรดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศที่สถานประกอบการถาวรนั้น มีที่ตั้งอยู่
(ง) หากเป็นสถานประกอบการถาวรตาม (๔) ของบทนิยามคำว่า "สถานประกอบการถาวร" ตามมาตรา ๔ ให้ถือว่าสถานประกอบการถาวรดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศหนึ่งแยกเป็นเอกเทศจากประเทศอื่นที่นิติบุคคลในเครืออื่นตั้งอยู่
ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาแหล่งที่ตั้งของนิติบุคคล ที่มีลักษณะเฉพาะเป็นอื่นได้ แต่ต้องสอดคล้องกับมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ
ในกรณีที่นิติบุคคลใดได้เปลี่ยนแหล่งที่ตั้งระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีที่พิจารณาหน้าที่ การเสียภาษีส่วนเพิ่ม ให้ถือว่านิติบุคคลดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศที่นิติบุคคลนั้นตั้งอยู่ในวันเริ่มแรก ของรอบระยะเวลาบัญชีที่พิจารณาหน้าที่การเสียภาษีส่วนเพิ่ม
ส่วนที่ ๑ ผู้มีหน้าที่เสียภาษี มาตรา ๒๖ นิติบุคคลในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและเป็นสมาชิกของกลุ่มนิติบุคคล ข้ามชาติที่รายได้รวมทั้งหมดตามงบการเงินรวมของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้น มีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนเงินตราไทยเทียบเท่าเจ็ดร้อยห้าสิบล้านยูโรในอย่างน้อยสองรอบระยะเวลาบัญชี ในช่วงสี่รอบระยะเวลาบัญชีก่อนหน้ารอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบันที่พิจารณาหน้าที่การเสียภาษีส่วนเพิ่ม ให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มตามพระราชกำหนดนี้
กรณีรอบระยะเวลาบัญชีตามวรรคหนึ่งของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้นมีระยะเวลาที่ไม่ใช่สิบสองเดือน ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้ปรับปรุงเกณฑ์รายได้รวมขั้นต่ำตามวรรคหนึ่งตามสัดส่วน โดยให้สอดคล้องกับระยะเวลาของรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว
กรณีที่กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้นเกิดจากหรือได้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร การพิจารณาการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มตามวรรคหนึ่งของนิติบุคคลในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและ เป็นสมาชิกของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติดังกล่าวอาจกำหนดเป็นอื่นโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาก็ได้ แต่ต้องสอดคล้องกับมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ
มาตรา ๒๗ นิติบุคคลในเครือตามมาตรา ๒๖ ไม่ให้รวมถึงนิติบุคคลดังต่อไปนี้เฉพาะที่มีลักษณะตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
(๑) หน่วยงานของรัฐ (๒) องค์การระหว่างประเทศ (๓) องค์การไม่แสวงหากำไร (๔) กองทุนบำนาญ (๕) กองทุนเพื่อการลงทุนที่เป็นนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุด (๖) เครื่องมือเพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุด (๗) นิติบุคคลอื่นตามที่ได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติของนิติบุคคลตาม (๗) อาจแจ้งต่ออธิบดีเพื่อขอให้นิติบุคคลนั้นเป็นนิติบุคคลในเครือตามมาตรา ๒๖ ก็ได้ โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ระยะเวลา และรูปแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด
ส่วนที่ ๒ การคำนวณภาษีส่วนเพิ่ม
มาตรา ๒๘ ให้นิติบุคคลในเครือแต่ละรายของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติหนึ่งตามมาตรา ๒๖ มีหน้าที่เสียภาษีส่วนเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีส่วนเพิ่มสำหรับกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้นที่เกิดขึ้น ในประเทศที่จัดเก็บภาษีต่ำเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี
รอบระยะเวลาบัญชีตามวรรคหนึ่ง หมายถึง (๑) รอบระยะเวลาบัญชีของนิติบุคคลในเครือรายนั้นที่นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของ กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติใช้ในการจัดทำงบการเงินรวม หรือ
(๒) ปีปฏิทิน สำหรับกรณีนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดพึงจัดทำงบการเงินรวมตาม (๔) ของบทนิยามคำว่า "งบการเงินรวม" ตามมาตรา ๒๔
มาตรา ๒๙ การพิจารณาว่าประเทศใดเป็นประเทศที่จัดเก็บภาษีต่ำตามมาตรา ๒๘ ให้พิจารณาเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีสำหรับแต่ละกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้น
ประเทศที่จัดเก็บภาษีต่ำตามวรรคหนึ่งให้หมายความว่า ประเทศที่กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติหนึ่งซึ่งปรากฏข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้
(๑) มีเงินได้รวมสุทธิที่คำนวณได้ตามมาตรา ๓๐ ในรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง และ (๒) มีอัตราภาษีที่แท้จริงที่คำนวณได้ตามมาตรา ๓๒ ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นน้อยกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ
นิติบุคคลในเครือทั้งหมดที่ตั้งอยู่ในประเทศที่จัดเก็บภาษีต่ำดังกล่าวของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้น ให้ถือเป็นนิติบุคคลในเครือที่เสียภาษีต่ำสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
มาตรา ๓๐ เงินได้รวมสุทธิของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศหนึ่งสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง ให้เป็นจำนวนบวกที่คำนวณได้จากผลรวมของผลกำไรตามมาตรา ๓๑ ของนิติบุคคลในเครือดังกล่าวแต่ละรายที่มีผลกำไรเช่นว่านั้น สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หักด้วยผลรวมของผลขาดทุนตามมาตรา ๓๑ ของนิติบุคคลในเครือดังกล่าวแต่ละรายที่มีผลขาดทุน เช่นว่านั้น สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
มาตรา ๓๑ ผลกำไรหรือผลขาดทุนของนิติบุคคลในเครือรายหนึ่ง สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง ให้มีจำนวนเท่ากับกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามงบการเงินของนิติบุคคลในเครือรายดังกล่าว สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ที่ได้ปรับปรุงตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ในกฎกระทรวง ซึ่งต้องสอดคล้องกับมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ
กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามงบการเงินตามวรรคหนึ่งให้หมายความว่า กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของนิติบุคคลในเครือแต่ละรายที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้หรือพึงใช้จัดทำงบการเงินรวมของนิติบุคคล แม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ แต่ต้องเป็นจำนวนก่อนการตัดรายการระหว่างนิติบุคคล ในเครือของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติดังกล่าว ทั้งนี้ หากไม่สามารถกำหนดกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ เช่นว่านั้นได้อย่างสมเหตุสมผลในทางปฏิบัติ ให้หมายความถึงกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิที่นิติบุคคล ในเครือแต่ละรายอาจกำหนดได้ตามมาตรฐานการบัญชีที่ได้รับการยอมรับหรือมาตรฐานการบัญชีที่ได้รับอนุญาต โดยจะต้องปรากฏข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้
(๑) งบการเงินของนิติบุคคลในเครือแต่ละรายนั้นได้ปรับใช้มาตรฐานการบัญชีที่ได้รับการยอมรับหรือมาตรฐานการบัญชีที่ได้รับอนุญาตดังกล่าวในการจัดทำงบการเงิน
(๒) ข้อมูลในงบการเงินนั้นมีความน่าเชื่อถือ และ (๓) รายการรายได้ รายจ่าย หรือธุรกรรมใดที่มีผลแตกต่างถาวรมากกว่าจำนวนเงินตราไทยเทียบเท่าหนึ่งล้านยูโร อันเกิดขึ้นจากการปรับใช้มาตรฐานการบัญชีอื่นนอกเหนือจากมาตรฐานการบัญชีที่ปรับใช้ในการจัดทำงบการเงินรวมของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุด ที่ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติของมาตรฐานการบัญชีที่ปรับใช้ในการจัดทำงบการเงินรวมดังกล่าวแล้ว
มาตรา ๓๒ อัตราภาษีที่แท้จริงของแต่ละกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศหนึ่ง สำหรับแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณจากผลรวมของภาษีที่อยู่ในขอบข่ายภายหลังปรับปรุง ตามมาตรา ๓๓ ของนิติบุคคลในเครือแต่ละรายของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้น สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว หารด้วยเงินได้รวมสุทธิที่คำนวณได้ตามมาตรา ๓๐ ของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้นสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว
อัตราภาษีที่แท้จริงตามวรรคหนึ่งไม่ให้นำภาษีที่อยู่ในขอบข่ายภายหลังปรับปรุงและผลกำไรหรือขาดทุนตามมาตรา ๓๑ ของนิติบุคคลในเครือแต่ละรายที่มีลักษณะเป็นนิติบุคคลเพื่อการลงทุน มารวมในการคำนวณ
มาตรา ๓๓ ภาษีที่อยู่ในขอบข่ายภายหลังปรับปรุงของนิติบุคคลในเครือแต่ละราย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง ให้เป็นจำนวนเท่ากับภาษีที่อยู่ในขอบข่ายของนิติบุคคลในเครือแต่ละราย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นที่ได้ปรับปรุงตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องสอดคล้องกับมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ
มาตรา ๓๔ ภาษีส่วนเพิ่มสำหรับแต่ละกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่เกิดขึ้นในประเทศที่จัดเก็บภาษีต่ำประเทศหนึ่ง คำนวณได้โดยนำเงินได้รวมสุทธิตามมาตรา ๓๐ ของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้น ในประเทศดังกล่าว มาคำนวณตามอัตราภาษีส่วนเพิ่มของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้นในประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติอาจเลือกหักส่วนที่ยอมให้หักออกจากเงินได้รวมสุทธิตามที่กำหนดในมาตรา ๓๕ ออกจากเงินได้รวมสุทธิดังกล่าวก็ได้ โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ระยะเวลา และรูปแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด
อัตราภาษีส่วนเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้หมายความว่า ผลต่างที่เป็นบวกของอัตราภาษีขั้นต่ำ หักด้วยอัตราภาษีที่แท้จริงที่คำนวณได้ตามมาตรา ๓๒ ของแต่ละกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติในประเทศ ที่จัดเก็บภาษีต่ำประเทศหนึ่ง
มาตรา ๓๕ ส่วนที่ยอมให้หักออกจากเงินได้รวมสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่งของ แต่ละกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศหนึ่งประเทศใด ให้เป็นจำนวนเท่ากับผลรวมของจำนวน ดังต่อไปนี้
(๑) ร้อยละห้าของผลรวมค่าตอบแทนลูกจ้างของนิติบุคคลในเครือที่เสียภาษีต่ำทั้งหมด ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติเดียวกันที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้น สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว และ
(๒) ร้อยละห้าของผลรวมมูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตนของนิติบุคคลในเครือที่เสียภาษีต่ำทั้งหมด ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติเดียวกันที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้น สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณค่าตอบแทนลูกจ้างและมูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตน ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งต้องสอดคล้องกับมาตรการป้องกันการกัดกร่อน ฐานภาษีระหว่างประเทศ แต่ไม่รวมค่าตอบแทนลูกจ้างและมูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตนของนิติบุคคล ในเครือที่มีลักษณะเป็นนิติบุคคลเพื่อการลงทุนในการคำนวณดังกล่าว
รัฐมนตรีอาจประกาศเพิ่มอัตราร้อยละของค่าตอบแทนลูกจ้างและมูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตน ตามวรรคหนึ่งก็ได้ แต่ต้องสอดคล้องกับมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ
มาตรา ๓๖ กรณีที่นิติบุคคลในเครือของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติถูกกำหนดให้หรือได้รับอนุญาตให้ปรับปรุงรายการที่ใช้ในการคำนวณอัตราภาษีที่แท้จริงตามมาตรา ๓๒ และภาษีส่วนเพิ่ม ตามมาตรา ๓๔ ที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่ง สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่งหรือหลายรอบระยะเวลาบัญชี ที่ผ่านมาแล้วตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปรับปรุงอัตราภาษีที่แท้จริงที่กำหนด ในกฎกระทรวง ซึ่งต้องสอดคล้องกับมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ ถ้ามีจำนวนภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่เคยได้คำนวณไว้สำหรับ รอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาแล้วนั้น ให้ถือว่าจำนวนของภาษีส่วนเพิ่มที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้น ในประเทศดังกล่าวสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบันที่พิจารณาหน้าที่การเสียภาษีส่วนเพิ่ม และให้ นิติบุคคลในเครือแต่ละรายของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติตามมาตรา ๒๖ มีหน้าที่เสียภาษีส่วนเพิ่ม โดยคำนวณจากจำนวนของภาษีส่วนเพิ่มที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าประเทศนั้นเป็นประเทศ ที่จัดเก็บภาษีต่ำสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบันหรือไม่ก็ตาม
มาตรา ๓๗ แม้ว่ากลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศหนึ่งไม่มีเงินได้รวมสุทธิ ตามมาตรา ๓๐ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่งก็ตาม หากปรากฏว่าผลรวมของภาษีที่อยู่ในขอบข่ายภายหลังปรับปรุงตามมาตรา ๓๓ ของนิติบุคคลในเครือแต่ละรายของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่ตั้งอยู่ ในประเทศหนึ่งสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่งนั้นมีจำนวนน้อยกว่าศูนย์ และเป็นจำนวนน้อยกว่าจำนวนที่คาดว่าจะเป็นภาษีที่อยู่ในขอบข่ายภายหลังปรับปรุง ให้ถือว่าผลต่างของจำนวนที่คาดว่าจะเป็นภาษีที่อยู่ในขอบข่ายภายหลังปรับปรุงนั้น หักด้วยผลรวมของภาษีที่อยู่ในขอบข่ายภายหลังปรับปรุง ตามมาตรา ๓๓ เป็นภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นในประเทศดังกล่าวของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้นสำหรับ รอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว และให้นิติบุคคลในเครือแต่ละรายของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติมีหน้าที่ เสียภาษีส่วนเพิ่ม โดยคำนวณจากจำนวนภาษีส่วนเพิ่มดังกล่าว
จำนวนที่คาดว่าจะเป็นภาษีที่อยู่ในขอบข่ายภายหลังปรับปรุงตามวรรคหนึ่ง ให้หมายถึงจำนวนที่คำนวณได้จากเงินได้รวมสุทธิตามมาตรา ๓๐ หรือจำนวนลบที่คำนวณได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ในมาตรา ๓๐ ที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง คูณด้วยอัตราภาษีขั้นต่ำ
มาตรา ๓๘ หากกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติใดได้เสียภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศซึ่งเป็นไป ตามเกณฑ์ในประเทศที่กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้นตั้งอยู่แล้ว ให้นำจำนวนภาษีส่วนเพิ่มดังกล่าว มาหักออกจากภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นในประเทศนั้น ๆ ตามที่คำนวณได้ในมาตรา ๓๔ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗
มาตรา ๓๙ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มตามส่วนที่ ๓ ภาษีส่วนเพิ่มต่างประเทศ ส่วนที่ ๔ กิจการร่วมค้า ส่วนที่ ๕ กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติร่วมที่มีหลายนิติบุคคลแม่ และส่วนที่ ๖ ภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศไทย ให้ปันส่วนภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศแก่แต่ละนิติบุคคล ในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้น ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ปันส่วนภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นในประเทศดังกล่าวที่คำนวณได้ตามมาตรา ๓๔ หรือมาตรา ๓๖ ภายหลังหักภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ตามมาตรา ๓๘ แล้ว ให้แก่นิติบุคคลในเครือแต่ละรายของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติดังกล่าวที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นตามส่วน ที่พึงเป็นภาระของนิติบุคคลในเครือรายนั้น โดยให้คำนวณตามสัดส่วนของผลกำไรตามมาตรา ๓๑ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวของนิติบุคคลในเครือแต่ละรายนั้น ต่อผลกำไรตามมาตรา ๓๑ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวของนิติบุคคลในเครือดังกล่าวทั้งหมดนั้น
(๒) กรณีที่กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดจากการคำนวณใหม่ตามมาตรา ๓๖ แต่ในรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบันนั้นไม่มีเงินได้รวมสุทธิตามมาตรา ๓๐ ในประเทศดังกล่าว ให้ปันส่วนภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นนั้นภายหลังหักภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ ตามมาตรา ๓๘ แล้ว โดยให้คำนวณตามสัดส่วนของผลกำไรตามมาตรา ๓๑ ของนิติบุคคลในเครือ แต่ละรายนั้น สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาแล้วซึ่งได้ถูกคำนวณใหม่ ต่อผลกำไรตามมาตรา ๓๑ ของนิติบุคคลในเครือทั้งหมดสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาแล้วนั้น
(๓) กรณีที่กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นตามมาตรา ๓๗ ให้ปันส่วนภาษีส่วนเพิ่มดังกล่าวภายหลังหักภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ตามมาตรา ๓๘ แล้ว ให้แก่นิติบุคคลในเครือแต่ละรายที่มีภาษีที่อยู่ในขอบข่ายภายหลังการปรับปรุงในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นต่ำกว่าศูนย์ และต่ำกว่าจำนวนของผลกำไรหรือผลขาดทุนตามมาตรา ๓๑ ของนิติบุคคลในเครือรายนั้นสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีคูณด้วยอัตราภาษีขั้นต่ำโดยการปันส่วนนั้นให้คำนวณตามสัดส่วนของ
(ก) จำนวนของผลกำไรหรือผลขาดทุนตามมาตรา ๓๑ ของนิติบุคคลในเครือแต่ละรายซึ่งคูณด้วยอัตราภาษีขั้นต่ำแล้ว และหักด้วยภาษีที่อยู่ในขอบข่ายภายหลังการปรับปรุงของนิติบุคคล ในเครือแต่ละรายนั้น ต่อ
(ข) ผลรวมของจำนวนตาม (ก) ของนิติบุคคลในเครือทั้งหมด มาตรา ๔๐ ให้ถือว่านิติบุคคลในเครือที่ได้รับการปันส่วนภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นในประเทศ ที่นิติบุคคลนั้นตั้งอยู่ตามมาตรา ๓๙ จากภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นตามมาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๓๗ นั้นเป็นนิติบุคคลในเครือที่เสียภาษีต่ำ
มาตรา ๔๑ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาภาษีส่วนเพิ่มตามส่วนนี้ อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเฉพาะสำหรับนิติบุคคลที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(๑) นิติบุคคลในเครือที่นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดเป็นเจ้าของส่วนน้อย (๒) นิติบุคคลผู้ไร้ที่ตั้งทางภาษี (๓) นิติบุคคลเพื่อการลงทุน
ส่วนที่ ๓ ภาษีส่วนเพิ่มต่างประเทศ มาตรา ๔๒ ให้นิติบุคคลในเครือของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติตามมาตรา ๒๖ แต่ละราย ที่มีส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของในนิติบุคคลในเครือที่เสียภาษีต่ำไม่ว่าส่วนได้เสียนั้นจะมีอยู่ตลอด รอบระยะเวลาบัญชีหรือไม่และมีลักษณะตามวรรคสอง เสียภาษีส่วนเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง เป็นจำนวนเท่ากับผลลัพธ์ของส่วนของภาษีส่วนเพิ่มที่พึงเป็นภาระของนิติบุคคลในเครือที่เสียภาษีต่ำแต่ละราย ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศตามมาตรา ๓๙ ที่นิติบุคคลในเครือนั้นมีส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของ คูณด้วยสัดส่วนของผลกำไรตามมาตรา ๓๑ ของนิติบุคคลในเครือที่เสียภาษีต่ำรายนั้นที่พึงเป็นของนิติบุคคล ในเครือดังกล่าวสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ต่อผลกำไรตามมาตรา ๓๑ ทั้งหมดของนิติบุคคล ในเครือที่เสียภาษีต่ำรายนั้นสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว
นิติบุคคลในเครือแต่ละรายที่ต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มจากส่วนของภาษีส่วนเพิ่มที่พึงเป็นภาระ ของนิติบุคคลในเครือที่เสียภาษีต่ำที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศนั้น ได้แก่ นิติบุคคลในเครือที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุด (๒) เป็นนิติบุคคลแม่ลำดับกลาง และปรากฏว่า
(ก) นิติบุคคลในเครือที่มีลักษณะตาม (๑) ของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติเดียวกัน ไม่ถูกจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มตามกฎการรวมเงินได้ที่เป็นไปตามเกณฑ์ในประเทศที่นิติบุคคลในเครือ ตาม (๑) ตั้งอยู่ และ
(ข) นิติบุคคลแม่ลำดับกลางอื่นที่มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจควบคุมไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ในนิติบุคคลแม่ลำดับกลางนี้ไม่ถูกจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มตามกฎการรวมเงินได้ที่เป็นไปตามเกณฑ์ ในประเทศที่นิติบุคคลในเครือดังกล่าวตั้งอยู่
(๓) เป็นนิติบุคคลแม่ที่บุคคลอื่นมีความเป็นเจ้าของบางส่วน และปรากฏว่า
(ก) ไม่มีนิติบุคคลในเครืออื่นที่มีลักษณะเป็นนิติบุคคลแม่ที่บุคคลอื่นมีความเป็นเจ้าของบางส่วน ที่มีส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของทั้งหมดไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือ
(ข) มีนิติบุคคลในเครืออื่นที่มีลักษณะเป็นนิติบุคคลแม่ที่บุคคลอื่นมีความเป็นเจ้าของบางส่วน ที่มีส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของทั้งหมดไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม แต่นิติบุคคลในเครืออื่นนั้นไม่ถูกจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มตามกฎการรวมเงินได้ที่เป็นไปตามเกณฑ์ในประเทศที่นิติบุคคลในเครืออื่นนั้นตั้งอยู่
มาตรา ๔๓ หากนิติบุคคลในเครือแต่ละรายที่ต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มตามมาตรา ๔๒ มีส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของในนิติบุคคลในเครือที่เสียภาษีต่ำรายหนึ่งโดยอ้อมผ่านนิติบุคคลในเครืออื่นซึ่งมีลักษณะตาม (๒) หรือ (๓) ของมาตรา ๔๒ ให้นิติบุคคลในเครือแต่ละรายนั้นหักภาษีส่วนเพิ่ม ที่นิติบุคคลในเครืออื่นนั้นอยู่ในบังคับต้องเสียภายใต้กฎการรวมเงินได้ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ ออกจากภาษีส่วนเพิ่มที่ต้องเสียตามมาตรา ๔๒ นั้นได้ตามส่วนของผลลัพธ์ตามวรรคหนึ่งของมาตรา ๔๒ ที่นิติบุคคลในเครืออื่นนั้นอยู่ในบังคับต้องเสีย
มาตรา ๔๔ ให้นิติบุคคลในเครือของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติตามมาตรา ๒๖ แต่ละราย ที่ไม่มีลักษณะเป็นนิติบุคคลเพื่อการลงทุน เสียภาษีส่วนเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่งจากภาษี ส่วนเพิ่มคงเหลือที่ประเทศไทยได้รับการปันส่วน
ภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือที่ประเทศไทยได้รับการปันส่วนให้เป็นจำนวนเท่ากับจำนวนของภาษี ส่วนเพิ่มคงเหลือทั้งหมดในทุกประเทศของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติหนึ่งคูณด้วยผลรวมของสัดส่วนร้อยละ ดังต่อไปนี้
(๑) กึ่งหนึ่งของสัดส่วนร้อยละของจำนวนลูกจ้างในประเทศไทยต่อจำนวนลูกจ้างทั้งหมด ในประเทศที่ปรับใช้กฎการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ และ
(๒) กึ่งหนึ่งของสัดส่วนร้อยละของมูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตนในประเทศไทยต่อมูลค่าสินทรัพย์ ที่มีตัวตนทั้งหมดในประเทศที่ปรับใช้กฎการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์
จำนวนภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือทั้งหมดในทุกประเทศของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติตามวรรคสอง ให้เป็นจำนวนเท่ากับผลรวมของภาษีส่วนเพิ่มที่พึงเป็นภาระของนิติบุคคลในเครือที่เสียภาษีต่ำแต่ละรายตามมาตรา ๓๙ ภายหลังการปรับปรุง ดังต่อไปนี้
(๑) หากส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของทั้งหมดที่นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดมีอยู่ในนิติบุคคล ในเครือที่เสียภาษีต่ำรายใดได้ถือครองไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อมผ่านนิติบุคคลแม่ลำดับกลาง ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มตามกฎการรวมเงินได้ที่เป็นไปตามเกณฑ์ในประเทศที่นิติบุคคลแม่นั้นตั้งอยู่แล้ว ให้ปรับลดจำนวนภาษีส่วนเพิ่มที่พึงเป็นภาระของนิติบุคคลในเครือที่เสียภาษีต่ำรายนั้น ตามมาตรา ๓๙ ลงเป็นศูนย์ และ
(๒) หากจำนวนภาษีส่วนเพิ่มที่พึงเป็นภาระของนิติบุคคลในเครือที่เสียภาษีต่ำรายใดไม่ได้ถูกปรับลดลงตาม (๑) และจำนวนดังกล่าวนั้นได้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มตามกฎการรวมเงินได้ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์แล้ว ให้ปรับลดจำนวนภาษีส่วนเพิ่มที่พึงเป็นภาระของนิติบุคคลในเครือที่เสียภาษีต่ำ รายดังกล่าวตามมาตรา ๓๙ ลงด้วยจำนวนภาษีส่วนเพิ่มที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มตามกฎ การรวมเงินได้ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ดังกล่าว
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาจำนวนลูกจ้างและมูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตนตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งต้องสอดคล้องกับมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ
มาตรา ๔๕ กรณีที่มีนิติบุคคลในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยหลายรายซึ่งเป็นสมาชิก ของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติเดียวกันต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มตามมาตรา ๔๔ ให้ปันส่วนภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือที่ประเทศไทยได้รับการปันส่วนมานั้นแก่นิติบุคคลในเครือแต่ละรายตามสัดส่วนของผลกำไร ตามมาตรา ๓๑ ของนิติบุคคลในเครือรายนั้น สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว ต่อผลกำไร ตามมาตรา ๓๑ ของนิติบุคคลในเครือดังกล่าวทั้งหมด สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เว้นแต่ในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวไม่มีนิติบุคคลในเครือรายใดมีผลกำไรตามมาตรา ๓๑ ให้ปันส่วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีที่นิติบุคคลในเครือทั้งหมดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยได้ตกลงร่วมกันเป็นหนังสือให้นิติบุคคลในเครือรายหนึ่งหรือหลายรายรับภาระ ภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือที่ประเทศไทยได้รับการปันส่วนมานั้น หากได้ตกลงเช่นว่านั้นแล้ว ให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้นแจ้งต่อกรมสรรพากรภายในสิบห้าเดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้น และให้ถือว่าภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือ ที่ประเทศไทยได้รับการปันส่วนมานั้นทั้งจำนวนหรือตามส่วนที่ได้ตกลงร่วมกันรับภาระนั้น เป็นภาษีส่วนเพิ่ม ที่นิติบุคคลในเครือผู้ตกลงรับภาระนั้นต้องเสีย แต่ถ้านิติบุคคลในเครือผู้ตกลงรับภาระนั้นมีภาษีส่วนเพิ่ม ค้างชำระ ให้นิติบุคคลในเครือทั้งหมดนั้นต้องรับผิดร่วมกับนิติบุคคลในเครือผู้ตกลงรับภาระที่มีภาษีส่วนเพิ่ม ค้างชำระนั้นด้วย
ส่วนที่ ๔ กิจการร่วมค้า มาตรา ๔๖ ในส่วนนี้ "กิจการร่วมค้า" หมายความว่า นิติบุคคลที่ผลประกอบการทางการเงินได้ถูกรายงานภายใต้วิธีส่วนได้เสียในงบการเงินรวมของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่มีลักษณะ ตามมาตรา ๒๖ และนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดนั้นได้มีส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อมในนิติบุคคลดังกล่าวไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบ แต่ไม่รวมถึง
(๑) นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่อยู่ในบังคับของมาตรการป้องกัน การกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ
(๒) นิติบุคคลที่มีลักษณะตาม (๑) ถึง (๖) ของมาตรา ๒๗ (๓) นิติบุคคลที่ส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของถูกถือโดยกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติหนึ่งโดยตรงผ่านนิติบุคคลที่มีลักษณะตาม (๑) ถึง (๖) ของมาตรา ๒๗ และนิติบุคคลดังกล่าวนั้นมีลักษณะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(ก) ดำเนินการทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในการถือครองทรัพย์สินหรือลงทุนเพื่อประโยชน์ของนักลงทุนของตน
(ข) ดำเนินกิจกรรมที่สนับสนุนกิจกรรมที่ดำเนินการโดยนิติบุคคลที่มีลักษณะตามมาตรา ๒๗ หรือ
(ค) รายได้เกือบทั้งหมดของตนเป็นเงินปันผลหรือส่วนเกินทุนหรือต่ำกว่าทุนของส่วน ของผู้เป็นเจ้าของที่ไม่ถูกนำไปรวมในการคำนวณผลกำไรหรือขาดทุนตามมาตรา ๓๑
(๔) นิติบุคคลที่ถูกถือครองโดยกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติซึ่งประกอบด้วยนิติบุคคลที่มีลักษณะตามมาตรา ๒๗ เท่านั้น หรือ
(๕) กิจการร่วมค้าลูก "กิจการร่วมค้าลูก" หมายความว่า นิติบุคคลที่รายการทรัพย์สิน หนี้สิน รายได้ รายจ่าย และกระแสเงินสดของตนถูกรวมเข้าในรายการเช่นว่านั้นของกิจการร่วมค้าตามมาตรฐานการบัญชี ที่ได้รับการยอมรับหรือพึงถูกรวมรายการ หากกิจการร่วมค้าได้ถูกกำหนดให้รวมรายการเช่นว่านั้น ตามมาตรฐานการบัญชีที่ได้รับการยอมรับ
สถานประกอบการถาวรที่มีนิติบุคคลหลักเป็นกิจการร่วมค้าหรือกิจการร่วมค้าลูก ให้ถือว่าสถานประกอบการถาวรนั้นเป็นกิจการร่วมค้าลูกแยกต่างหากจากนิติบุคคลดังกล่าว และสถานประกอบการถาวรอื่นของนิติบุคคลดังกล่าว
"กลุ่มกิจการร่วมค้า" หมายความว่า กิจการร่วมค้าและกิจการร่วมค้าลูกของกิจการร่วมค้านั้น มาตรา ๔๗ ให้นำส่วนที่ ๒ การคำนวณภาษีส่วนเพิ่ม มาใช้บังคับแก่การคำนวณภาษีส่วนเพิ่ม ของกิจการร่วมค้าและกลุ่มกิจการร่วมค้าด้วยโดยอนุโลม
เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีส่วนเพิ่มของกลุ่มกิจการร่วมค้า ให้ถือว่ากิจการร่วมค้า และกิจการร่วมค้าลูกของกิจการร่วมค้าดังกล่าวเป็นนิติบุคคลในเครือของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติหนึ่ง และให้ถือว่ากิจการร่วมค้านั้นเป็นนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติดังกล่าว
มาตรา ๔๘ ให้นิติบุคคลในเครือของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติตามมาตรา ๒๖ แต่ละราย ที่มีส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของในกิจการร่วมค้าหรือกิจการร่วมค้าลูกที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ ที่มีภาษีส่วนเพิ่มเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง เสียภาษีส่วนเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เป็นจำนวนเท่ากับผลลัพธ์ของส่วนของภาษีส่วนเพิ่มที่พึงเป็นภาระของกิจการร่วมค้าหรือกิจการร่วมค้าลูก แต่ละรายที่นิติบุคคลในเครือนั้นมีส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของไม่ว่าส่วนได้เสียนั้นจะมีอยู่ตลอด รอบระยะเวลาบัญชีหรือไม่ คูณด้วยสัดส่วนของผลกำไรตามมาตรา ๓๑ ของกิจการร่วมค้าหรือกิจการ ร่วมค้าลูกดังกล่าวที่พึงเป็นของนิติบุคคลในเครือนั้นสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว ต่อผลกำไรเช่นว่านั้น ทั้งหมดของกิจการร่วมค้าหรือกิจการร่วมค้าลูกดังกล่าวสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ให้นำมาตรา ๔๒ วรรคสอง และมาตรา ๔๓ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๔๙ จำนวนภาษีส่วนเพิ่มทั้งหมดของกิจการร่วมค้าหรือของกลุ่มกิจการร่วมค้าภายหลังหักด้วยจำนวนภาษีส่วนเพิ่มของกิจการร่วมค้าหรือของกลุ่มกิจการร่วมค้าดังกล่าวที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มภายใต้กฎการรวมเงินได้ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ ให้ถือเป็นส่วนเพิ่มของจำนวนภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือทั้งหมดในทุกประเทศของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้นตามมาตรา ๔๔
ภาษีส่วนเพิ่มทั้งหมดของกิจการร่วมค้าหรือของกลุ่มกิจการร่วมค้าตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ผลรวมของจำนวนภาษีส่วนเพิ่มที่คำนวณได้ดังต่อไปนี้ จากกิจการร่วมค้าหรือจากทุกนิติบุคคล ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มกิจการร่วมค้าที่นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติหนึ่งมีส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของ ไม่ว่าส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของนั้นจะมีอยู่ตลอดรอบระยะเวลาบัญชีหรือไม่
(๑) ส่วนของภาษีส่วนเพิ่มที่พึงเป็นภาระของกิจการร่วมค้าหรือกิจการร่วมค้าลูกแต่ละราย คูณด้วย
(๒) สัดส่วนของผลกำไรตามมาตรา ๓๑ ของกิจการร่วมค้าหรือกิจการร่วมค้าลูกดังกล่าว ที่พึงเป็นของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดนั้นสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวต่อผลกำไรเช่นว่านั้นทั้งหมดของกิจการร่วมค้าหรือกิจการร่วมค้าลูกดังกล่าวสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
ส่วนที่ ๕ กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติร่วมที่มีหลายนิติบุคคลแม่ มาตรา ๕๐ ในส่วนนี้ "กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติร่วมที่มีหลายนิติบุคคลแม่" หมายความว่า กลุ่มนิติบุคคลตั้งแต่ สองกลุ่มนิติบุคคลขึ้นไปที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(๑) นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของแต่ละกลุ่มนิติบุคคลนั้นได้ทำข้อตกลงโครงสร้างองค์กร แบบรวมความเป็นเจ้าของเข้าด้วยกัน หรือข้อตกลงดำเนินธุรกิจร่วมกัน ระหว่างกัน และ
(๒) นิติบุคคลรายหนึ่งหรือสถานประกอบการถาวรแห่งหนึ่งของกลุ่มนิติบุคคลที่ได้มีข้อตกลงระหว่างกันนั้นตั้งอยู่ในประเทศอื่นซึ่งไม่ใช่ประเทศที่นิติบุคคลรายอื่นของกลุ่มนิติบุคคลนั้นตั้งอยู่
"ข้อตกลงโครงสร้างองค์กรแบบรวมความเป็นเจ้าของเข้าด้วยกัน" หมายความว่า ข้อตกลง ระหว่างนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลที่แยกจากกันตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไป ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
(๑) จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของในนิติบุคคลแม่ ลำดับสูงสุดแต่ละรายของแต่ละกลุ่มนิติบุคคลเหล่านั้นได้ถูกประสานเข้ากันผ่านทางรูปแบบของความเป็นเจ้าของ หรือข้อจำกัดการโอนซึ่งส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของนั้น หรือด้วยข้อกำหนดหรือเงื่อนไขอื่นใด เสมือนว่าเป็นส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของของนิติบุคคลเดียวกัน และส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของเหล่านั้น จะไม่สามารถโอนหรือซื้อขายได้โดยอิสระแยกต่างหากจากกัน และถ้าส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของนั้นได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ราคาซื้อขายจะถูกกำหนดเป็นราคาเดียวกันสำหรับส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของที่ได้ถูกประสานเข้ากัน และ
(๒) นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดรายหนึ่งรายใดของกลุ่มนิติบุคคลที่มีข้อตกลงระหว่างกันได้จัดทำงบการเงินรวมโดยได้รวมรายการทรัพย์สิน หนี้สิน รายได้ รายจ่าย และกระแสเงินสดของนิติบุคคลทั้งหมดของกลุ่มนิติบุคคลเหล่านั้นเข้าด้วยกันเพื่อนำเสนอเสมือนเป็นหนึ่งหน่วยเศรษฐกิจ และงบการเงินรวมนั้นได้ถูกกำหนดโดยกฎหมายให้มีการตรวจสอบโดยผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีซึ่งเป็นอิสระ
"ข้อตกลงดำเนินธุรกิจร่วมกัน" หมายความว่า ข้อตกลงระหว่างนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุด ของกลุ่มนิติบุคคลที่แยกจากกันตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไป ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
(๑) นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดเหล่านั้นได้ตกลงที่จะประสานธุรกิจของทั้งสองนิติบุคคล เข้าด้วยกันเพื่อที่จะดำเนินการเสมือนเป็นหนึ่งหน่วยเศรษฐกิจโดยที่ทั้งสองนิติบุคคลดังกล่าวนั้นยังคง มีความเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน
(๒) นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดแต่ละรายจะจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นตามอัตราคงที่ ที่ได้กำหนดตามข้อตกลง
(๓) ส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของในนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดแต่ละรายที่ได้เข้าทำข้อตกลง กันนั้น ถ้าได้มีการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ราคาซื้อขาย การซื้อขาย หรือการโอนหลักทรัพย์ จะดำเนินการโดยอิสระจากกันและในตลาดหลักทรัพย์ที่แตกต่างกัน และ
(๔) นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดเหล่านั้นได้จัดทำงบการเงินรวมโดยได้รวมรายการทรัพย์สิน หนี้สิน รายได้ รายจ่าย และกระแสเงินสดของนิติบุคคลทั้งหมดของกลุ่มนิติบุคคลเหล่านั้นเข้าด้วยกันเพื่อนำเสนอเสมือนเป็นหนึ่งหน่วยเศรษฐกิจ และงบการเงินรวมนั้นได้ถูกกำหนดโดยกฎหมาย ให้มีการตรวจสอบโดยผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีซึ่งเป็นอิสระ
มาตรา ๕๑ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดนี้ (๑) ให้ถือว่านิติบุคคลและนิติบุคคลในเครือของกลุ่มนิติบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของ กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติร่วมที่มีหลายนิติบุคคลแม่เป็นกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติเดียวกัน
(๒) ให้ถือว่านิติบุคคลแต่ละรายของกลุ่มนิติบุคคลเหล่านั้นเป็นนิติบุคคลในเครือเดียวกัน หากกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติร่วมที่มีหลายนิติบุคคลแม่นั้นได้รวมทรัพย์สิน หนี้สิน รายได้ รายจ่าย และกระแสเงินสดของนิติบุคคลดังกล่าวในงบการเงินรวมของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติร่วมที่มีหลาย นิติบุคคลแม่ดังกล่าวแบบรายการต่อรายการ หรือกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติร่วมที่มีหลายนิติบุคคลแม่นั้นได้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจควบคุมในนิติบุคคลนั้น เว้นแต่นิติบุคคลดังกล่าวนั้นเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๒๗
(๓) ให้ถือว่างบการเงินรวมตาม (๒) ของบทนิยามคำว่า "ข้อตกลงโครงสร้างองค์กร แบบรวมความเป็นเจ้าของเข้าด้วยกัน" หรือตาม (๔) ของบทนิยามคำว่า "ข้อตกลงดำเนินธุรกิจร่วมกัน" ตามมาตรา ๕๐ เป็นงบการเงินรวมของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติร่วมที่มีหลายนิติบุคคลแม่ และ
(๔) ให้ถือว่านิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดแต่ละรายของกลุ่มนิติบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของ กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติร่วมที่มีหลายนิติบุคคลแม่นั้นเป็นนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุด
ส่วนที่ ๖ ภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศไทย มาตรา ๕๒ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศไทย การคำนวณ อัตราภาษีที่แท้จริงและภาษีส่วนเพิ่มสำหรับกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ กิจการร่วมค้า หรือกลุ่มกิจการร่วมค้า ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในส่วนที่ ๒ การคำนวณภาษีส่วนเพิ่ม ส่วนที่ ๔ กิจการร่วมค้า และส่วนที่ ๕ กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติร่วมที่มี หลายนิติบุคคลแม่ เว้นแต่จะกำหนดเป็นการเฉพาะในกฎกระทรวง
ในกรณีที่ประเทศไทยมีภาษีส่วนเพิ่มเกิดขึ้น ให้นิติบุคคลในเครือ กิจการร่วมค้า หรือกิจการ ร่วมค้าลูกแต่ละรายที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยนั้นเสียภาษีส่วนเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นจำนวนเท่ากับภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งนิติบุคคลนั้นได้รับปันส่วนมาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ในมาตรา ๓๙
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีนิติบุคคลในเครือทั้งหมดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ หรือนิติบุคคลทั้งหมดของกลุ่มกิจการร่วมค้าที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยได้ตกลงร่วมกันเป็นหนังสือ ให้นิติบุคคลรายหนึ่งหรือหลายรายของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติหรือกลุ่มกิจการร่วมค้า รับภาระภาษีส่วนเพิ่ม ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หากได้ตกลงเช่นว่านั้นแล้ว ให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติหรือกลุ่มกิจการร่วมค้านั้นแจ้งต่อกรมสรรพากรภายในสิบห้าเดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีของนิติบุคคลแม่ ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติหรือกลุ่มกิจการร่วมค้านั้น และให้ถือว่าภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้น ในประเทศไทยทั้งจำนวนหรือตามส่วนที่ได้ตกลงร่วมกันรับภาระนั้นเป็นภาษีส่วนเพิ่มที่นิติบุคคลผู้ตกลงรับภาระนั้นต้องเสีย แต่ถ้านิติบุคคลผู้ตกลงรับภาระนั้นมีภาษีส่วนเพิ่มค้างชำระ ให้นิติบุคคลในเครือทั้งหมดหรือนิติบุคคลทั้งหมดของกลุ่มกิจการร่วมค้านั้น ต้องรับผิดร่วมกับนิติบุคคลผู้ตกลงรับภาระ ที่มีภาษีส่วนเพิ่มค้างชำระนั้นด้วย
หมวด ๓ การยื่นรายงานหรือรายการ การชำระภาษีส่วนเพิ่ม และการขอคืนภาษีส่วนเพิ่ม มาตรา ๕๓ ให้นิติบุคคลในเครือของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติแต่ละรายตามมาตรา ๒๖ และกิจการร่วมค้าหรือกิจการร่วมค้าลูก ยื่นรายงานตามมาตรา ๕๔ และมาตรา ๕๕ และยื่นรายการตามมาตรา ๕๗ ตามแบบและวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๕๔ ให้นิติบุคคลในเครือของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติแต่ละรายตามมาตรา ๒๖ ยื่นข้อมูลดังต่อไปนี้ต่อกรมสรรพากรภายในสิบห้าเดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีของ นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้น
(๑) ข้อมูลเกี่ยวกับนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่ตนเป็นสมาชิก และประเทศที่นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดนั้นตั้งอยู่
(๒) ข้อมูลเกี่ยวกับนิติบุคคลในเครือผู้มีหน้าที่ยื่นแบบรายงานข้อมูลตามมาตรการป้องกัน การกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่ตนเป็นสมาชิก และประเทศ ที่นิติบุคคลในเครือดังกล่าวตั้งอยู่
(๓) ข้อมูลอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่นิติบุคคลในเครือที่ได้มอบหมายให้นิติบุคคลในเครืออื่น ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติเดียวกันและตั้งอยู่ในประเทศไทยยื่นข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ต่อกรมสรรพากรและการยื่นข้อมูลดังกล่าวนั้นได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว ทั้งนี้ ให้นิติบุคคลในเครือ ที่ได้รับมอบหมายนั้นแจ้งชื่อของนิติบุคคลในเครือผู้มอบหมายพร้อมทั้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ของนิติบุคคลในเครือดังกล่าวต่อกรมสรรพากรพร้อมกับการยื่นข้อมูลของนิติบุคคลในเครือที่ได้รับมอบหมายนั้น
มาตรา ๕๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๕๖ ให้นิติบุคคลในเครือของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ แต่ละรายตามมาตรา ๒๖ ยื่นแบบรายงานข้อมูลตามมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษี ระหว่างประเทศต่อกรมสรรพากรภายในสิบห้าเดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้น
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่นิติบุคคลในเครือที่ได้มอบหมายให้นิติบุคคลในเครืออื่นที่เป็นสมาชิกของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติเดียวกันและตั้งอยู่ในประเทศไทยยื่นแบบรายงานข้อมูลตามวรรคหนึ่งต่อกรมสรรพากรและการยื่นแบบรายงานดังกล่าวนั้นได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว ทั้งนี้ ให้นิติบุคคลในเครือที่ได้รับมอบหมายนั้นแจ้งชื่อของนิติบุคคลในเครือผู้มอบหมาย พร้อมทั้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ของนิติบุคคลในเครือดังกล่าวต่อกรมสรรพากรพร้อมกับการยื่นแบบรายงานข้อมูลของนิติบุคคลในเครือ ที่ได้รับมอบหมายนั้น
มาตรา ๕๖ ให้นิติบุคคลในเครือของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ได้รับยกเว้นหน้าที่การยื่นแบบรายงานข้อมูลตามมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศตามมาตรา ๕๕ หากปรากฏข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้
(๑) นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่ตนเป็นสมาชิกหรือนิติบุคคลในเครือที่ได้รับมอบหมายจากนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดได้ยื่นแบบรายงานข้อมูลตามมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศในประเทศที่นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดหรือนิติบุคคลในเครือที่ได้รับมอบหมายนั้นตั้งอยู่แล้ว และ
(๒) ประเทศที่นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดหรือนิติบุคคลในเครือที่ได้รับมอบหมายนั้นตั้งอยู่ มีความตกลงระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยซึ่งมีผลใช้บังคับ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่พิจารณาหน้าที่การเสียภาษีส่วนเพิ่มแล้ว
ความตกลงระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามวรรคหนึ่งหมายความว่า ความตกลงทวิภาคี หรือพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติเกี่ยวกับข้อมูลตามแบบรายงานข้อมูลตามมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ
มาตรา ๕๗ ให้นิติบุคคลในเครือของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติแต่ละรายตามมาตรา ๒๖ ที่มีภาษีส่วนเพิ่มต้องชำระ ยื่นแบบแสดงรายการต่อกรมสรรพากรภายในสิบห้าเดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้น พร้อมทั้งเสียภาษีส่วนเพิ่ม
ให้กิจการร่วมค้าหรือกิจการร่วมค้าลูกที่มีภาษีส่วนเพิ่มต้องเสียตามมาตรา ๕๒ ยื่นแบบ แสดงรายการต่อกรมสรรพากรภายในสิบห้าเดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีของ กิจการร่วมค้านั้นหรือของกิจการร่วมค้าที่ถือว่าเป็นนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มกิจการร่วมค้านั้นพร้อมทั้งเสียภาษีส่วนเพิ่ม
นิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีส่วนเพิ่มอาจขอผ่อนชำระภาษีส่วนเพิ่มภายในสามปีก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
การเสียภาษีส่วนเพิ่มตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ให้ถือว่าเป็นอันสมบูรณ์ เมื่อนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีนั้นได้ยื่นชำระภาษีส่วนเพิ่มและได้รับใบเสร็จรับเงินตามจำนวนเงิน จากกรมสรรพากร
มาตรา ๕๘ กำหนดเวลาการแจ้งข้อมูลตามมาตรา ๔๕ และมาตรา ๕๒ กำหนดเวลา การยื่นรายงานตามมาตรา ๕๔ และมาตรา ๕๕ และกำหนดเวลาการยื่นรายการตามมาตรา ๕๗ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีแรกที่กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติของนิติบุคคลในเครือหรือที่กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ ที่มีส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของในกิจการร่วมค้าหรือกิจการร่วมค้าลูกอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มตามพระราชกำหนดนี้ ให้ขยายเป็นเวลาสิบแปดเดือนนับแต่วันที่กำหนดไว้ในมาตราดังกล่าว
มาตรา ๕๙ การขอคืนภาษีส่วนเพิ่มที่เสียไว้แล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียหรือ ที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลา ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อวัตถุประสงค์ของการชำระภาษีส่วนเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ตามแบบและวิธีการที่อธิบดีกำหนด
หมวด ๔ อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน มาตรา ๖๐ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษี โดยให้มีอำนาจประเมินภาษีส่วนเพิ่มได้ภายในกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ
มาตรา ๖๑ ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่ากลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ ของนิติบุคคลในเครือใดแสดงข้อมูลตามแบบรายงานข้อมูลตามมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศที่ได้ยื่นไว้ ไม่ว่าจะได้ยื่นไว้ที่ประเทศใด ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่ครบถ้วน หรือกิจการร่วมค้าหรือกิจการร่วมค้าลูกใดได้แสดงรายการตามแบบแสดงรายการไว้ไม่ถูกต้องตามความจริง หรือไม่ครบถ้วน ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกนิติบุคคลในเครือ กิจการร่วมค้า หรือกิจการร่วมค้าลูกนั้นมาไต่สวนและออกหมายเรียกพยาน กับสั่งให้นิติบุคคลในเครือ กิจการร่วมค้า กิจการร่วมค้าลูก หรือพยานนั้นนำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันส่งหมาย ทั้งนี้ การออกหมายเรียกดังกล่าว จะต้องกระทำภายในกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้
(๑) ภายในห้าปีนับแต่วันที่กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติของนิติบุคคลในเครือนั้นได้ยื่นแบบรายงานข้อมูลตามมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ สำหรับกรณีนิติบุคคลในเครือ และพยานที่เกี่ยวข้อง
(๒) ภายในห้าปีนับแต่วันที่กิจการร่วมค้าหรือกิจการร่วมค้าลูกได้ยื่นแบบแสดงรายการ สำหรับกรณีกิจการร่วมค้า กิจการร่วมค้าลูก และพยานที่เกี่ยวข้อง
กำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง หากปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า นิติบุคคลในเครือ กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติของนิติบุคคลในเครือ กิจการร่วมค้า หรือกิจการร่วมค้าลูกนั้นมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีส่วนเพิ่ม อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายเวลา การออกหมายเรียกดังกล่าวเกินห้าปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินเจ็ดปีนับแต่วันที่กำหนดไว้ใน (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี แต่กรณีการขยายเวลาเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษี ให้ขยายได้ไม่เกินกำหนดเวลา ตามที่มีสิทธิขอคืนภาษี
มาตรา ๖๒ เมื่อได้จัดการตามมาตรา ๖๑ และทราบข้อความแล้ว เจ้าพนักงานประเมิน มีอำนาจแก้ไขจำนวนเงินที่ต้องชำระที่ได้แสดงไว้เดิมตามแบบรายงานข้อมูลตามมาตรการป้องกัน การกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ หรือแบบแสดงรายการได้โดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏ และแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระอีกไปยังผู้ต้องเสียภาษีส่วนเพิ่ม ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้
มาตรา ๖๓ ถ้าผู้ต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มไม่ปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา ๖๑ หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถาม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เจ้าพนักงานประเมิน มีอำนาจประเมินเงินภาษีส่วนเพิ่มตามที่รู้เห็นว่าถูกต้องและแจ้งจำนวนเงินซึ่งต้องชำระไปยัง ผู้ต้องเสียภาษีส่วนเพิ่ม และให้ผู้นั้นชำระภาษีส่วนเพิ่มพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ในกรณีนี้ห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน
มาตรา ๖๔ นิติบุคคลในเครือใดที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ ของนิติบุคคลในเครือใดที่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายงานข้อมูลตามมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศแต่ไม่ยื่น หรือกิจการร่วมค้าหรือกิจการร่วมค้าลูกใดมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการแต่ไม่ยื่น ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกนิติบุคคลในเครือ กิจการร่วมค้า หรือ กิจการร่วมค้าลูกนั้นมาไต่สวนและออกหมายเรียกพยาน กับสั่งให้นิติบุคคลในเครือ กิจการร่วมค้า กิจการร่วมค้าลูก หรือพยานนั้น นำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้อง ให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันส่งหมาย
มาตรา ๖๕ เมื่อได้จัดการตามมาตรา ๖๔ และทราบข้อความแล้ว เจ้าพนักงานประเมิน มีอำนาจประเมินเงินภาษีส่วนเพิ่มและแจ้งจำนวนภาษีส่วนเพิ่มที่ต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษีส่วนเพิ่ม และให้ผู้นั้นชำระภาษีส่วนเพิ่มพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้
มาตรา ๖๖ ถ้าผู้ได้รับหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินไม่ปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งตามมาตรา ๖๔ หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เจ้าพนักงานประเมิน มีอำนาจประเมินเงินภาษีส่วนเพิ่มตามที่รู้เห็นว่าถูกต้องและแจ้งจำนวนภาษีส่วนเพิ่มไปยังผู้ต้องเสียภาษีส่วนเพิ่ม และให้ผู้นั้นชำระภาษีส่วนเพิ่มพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ได้รับหนังสือแจ้ง ในกรณีนี้ห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน
มาตรา ๖๗ เพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีส่วนเพิ่มตามมาตรา ๕๙ เจ้าพนักงานประเมิน อาจส่งหนังสือแจ้งความแก่ผู้มีสิทธิขอคืนหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสาร หรือหลักฐานอันจำเป็นเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร
มาตรา ๖๘ ภาษีส่วนเพิ่มซึ่งต้องเสียตามพระราชกำหนดนี้ เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว ถ้ามิได้เสียให้ถือเป็นภาษีค้าง และเพื่อให้ได้รับชำระภาษีค้าง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและ ขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีนั้นได้ทั่วราชอาณาจักร โดยมิต้องขอให้ศาล ออกหมายยึดหรือสั่ง อำนาจดังกล่าวอธิบดีจะมอบให้รองอธิบดีหรือสรรพากรภาคสำหรับการดำเนินการภายในเขตท้องที่ก็ได้
วิธีการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยอนุโลม ส่วนวิธีการอายัดให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวให้หักค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในการยึดและขายทอดตลาด และเงินภาษีค้าง ถ้ามีเงินเหลือให้คืนแก่เจ้าของทรัพย์สิน
มาตรา ๖๙ เมื่อได้มีคำสั่งยึดหรืออายัดตามมาตรา ๖๘ แล้ว ห้ามผู้ใดทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดดังกล่าว
มาตรา ๗๐ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา ๖๘ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตราดังกล่าวมีอำนาจ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ออกหมายเรียกผู้ต้องรับผิดชำระภาษีค้างและบุคคลใด ๆ ที่มีเหตุสมควรเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีค้างมาให้ถ้อยคำ
(๒) สั่งบุคคลตาม (๑) ให้นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นอันจำเป็นแก่การจัดเก็บภาษีค้าง มาตรวจสอบ
(๓) ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานสรรพากรทำการตรวจค้นหรือยึดบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นของบุคคลตาม (๑)
การดำเนินการตาม (๑) หรือ (๒) ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันที่ ได้รับหมายเรียกหรือคำสั่ง การออกคำสั่งและทำการตาม (๓) ต้องเป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
หมวด ๕ การอุทธรณ์ มาตรา ๗๑ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีส่วนเพิ่มผู้ใดไม่เห็นด้วยกับผลการประเมินภาษีส่วนเพิ่ม ของเจ้าพนักงานประเมิน ถ้าเป็นกรณีที่จะอุทธรณ์ได้ ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษีส่วนเพิ่ม ทั้งนี้ ตามแบบที่อธิบดีกำหนด
คณะกรรมการอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วย อธิบดีหรือผู้แทนเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนกรมสรรพสามิต ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นกรรมการ
ให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการสังกัดกรมสรรพากรเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการอุทธรณ์เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณา ของคณะกรรมการอุทธรณ์ก็ได้
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ทำเป็นหนังสือ และแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบโดยไม่ชักช้า ผู้อุทธรณ์ผู้ใดไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ให้มีสิทธิฟ้องต่อศาลภาษีอากรได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์
มาตรา ๗๒ การประชุมคณะกรรมการอุทธรณ์ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธาน ในที่ประชุม มติของคณะกรรมการให้ถือเสียงข้างมากของกรรมการ กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งใน การลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๗๓ กรณีผู้อุทธรณ์ได้ใช้สิทธิร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศคู่สัญญา ตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ เพื่อขอให้ดำเนินการระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับภาษีส่วนเพิ่มกับประเทศคู่สัญญาอื่น และเจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจดังกล่าวได้พิจารณารับคำร้องเพื่อดำเนินการหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศคู่สัญญาแล้ว ผู้อุทธรณ์อาจแจ้งเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์เพื่อขอให้พักการพิจารณาไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะปรากฏผลการหารือร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจนั้นก็ได้
ในกรณีที่คณะกรรมการอุทธรณ์ได้รับหนังสือแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้พักการพิจารณาไว้เป็น การชั่วคราวจนกว่าจะปรากฏผลการหารือร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดังกล่าว เว้นแต่จะมีเหตุ ตามที่อธิบดีประกาศกำหนดให้พิจารณาอุทธรณ์ต่อไปได้
หากผลการหารือร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจนั้นเป็นเช่นใด ให้คณะกรรมการอุทธรณ์ พิจารณาอุทธรณ์ให้สอดคล้องกับผลการหารือดังกล่าว และหากผลการหารือนั้นเป็นผลให้ประเทศไทย อาจจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มได้เพิ่มขึ้น ให้คณะกรรมการอุทธรณ์สั่งให้ผู้อุทธรณ์ชำระภาษีส่วนเพิ่ม ตามผลการหารือร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดังกล่าว
มาตรา ๗๔ การอุทธรณ์ หรือการใช้สิทธิร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศคู่สัญญาตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ เพื่อขอให้ดำเนินการระงับข้อพิพาทนั้น ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีส่วนเพิ่ม และหากไม่เสียภาษี ส่วนเพิ่มภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ให้ถือเป็นภาษีค้างตามมาตรา ๖๘ เว้นแต่กรณีที่ผู้อุทธรณ์ หรือผู้ซึ่งใช้สิทธิเช่นว่านั้นได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือรอผลการหารือร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ หรือรอคำพิพากษา ให้ผู้นั้นมีหน้าที่ชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือได้รับแจ้งผลการหารือร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเป็นหนังสือ จากกรมสรรพากร หรือได้รับทราบคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสียภาษีเพิ่มขึ้น ผู้อุทธรณ์จะต้องชำระภายในระยะเวลา ที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง
มาตรา ๗๕ เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้ประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ มีอำนาจออกหมายเรียกผู้อุทธรณ์มาไต่สวนหรือออกหมายเรียกพยาน กับสั่งให้ผู้อุทธรณ์หรือพยานนั้น นำสมุดบัญชีหรือพยานหลักฐานอันจำเป็นมาแสดงเพื่อประกอบการพิจารณาและวินิจฉัยก็ได้ แต่ต้อง ให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันส่งหมาย
มาตรา ๗๖ ผู้อุทธรณ์ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งตามมาตรา ๗๕ หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถาม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อไป
หมวด ๖ เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม มาตรา ๗๗ ในการประเมินตามมาตรา ๖๒ หรือมาตรา ๖๓ ผู้ต้องเสียภาษีส่วนเพิ่ม ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนเงินภาษีส่วนเพิ่มที่ต้องเสีย
ในการประเมินตามมาตรา ๖๕ หรือมาตรา ๖๖ ผู้ต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มต้องรับผิด เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนเงินภาษีส่วนเพิ่มที่ต้องเสีย
เบี้ยปรับตามวรรคหนึ่งและวรรคสองอาจงดหรือลดลงได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี
มาตรา ๗๘ บุคคลใดไม่เสียภาษีส่วนเพิ่มภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามพระราชกำหนดนี้ ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งจุดห้าต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีส่วนเพิ่มที่ต้องเสีย โดยไม่รวมเบี้ยปรับ
ในกรณีอธิบดีอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาชำระภาษีส่วนเพิ่มและได้มีการชำระภายในกำหนดเวลาที่ขยายให้นั้น เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ลดลงเหลือร้อยละศูนย์จุดเจ็ดห้าต่อเดือน หรือเศษของเดือน
การคำนวณเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่น แบบแสดงรายการจนถึงวันที่ได้ชำระภาษีส่วนเพิ่ม แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีส่วนเพิ่ม ที่ต้องเสีย ไม่ว่าภาษีส่วนเพิ่มที่ต้องเสียนั้นจะเกิดจากการประเมิน หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาล
มาตรา ๗๙ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามพระราชกำหนดนี้ให้ถือเป็นเงินภาษีส่วนเพิ่ม
หมวด ๗ บทกำหนดโทษ
มาตรา ๘๐ ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลอันเนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ หรือเนื่องจาก การเปิดเผยข้อมูลตามมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๒ แล้วนำไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่และอำนาจตามพระราชกำหนดนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๘๑ ผู้ใดขัดขวางเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๘๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา ๑๒ หรือยื่นบัญชี หลักฐาน หรือรายงาน หรือแจ้งข้อความตามมาตรา ๑๒ โดยแสดงข้อมูลหรือแจ้งข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๘๓ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา ๑๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา ๘๔ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๔ มาตรา ๕๕ หรือมาตรา ๕๗ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
มาตรา ๘๕ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามตามมาตรา ๖๑ หรือมาตรา ๖๔ หรือของผู้มีอำนาจตามมาตรา ๗๐ หรือ ของประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ตามมาตรา ๗๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับ ไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๘๖ ผู้ใดโดยเจตนาไม่ยื่นรายงานหรือรายการที่ต้องยื่นตามพระราชกำหนดนี้ หรือแจ้งหรือยื่นไม่ถูกต้องอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีส่วนเพิ่มขาดไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๘๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท ในกรณีผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล หากกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ ผู้แทนของนิติบุคคล หรือผู้เข้าร่วมนิติสัมพันธ์นั้นได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ ผู้แทนของนิติบุคคล หรือผู้เข้าร่วมนิติสัมพันธ์ดังกล่าว ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งด้วย
มาตรา ๘๘ ผู้ใด
(๑) โดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีส่วนเพิ่มตามพระราชกำหนดนี้
(๒) โดยความเท็จ โดยเจตนาละเลย โดยฉ้อโกงหรือใช้อุบายโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีส่วนเพิ่มตามพระราชกำหนดนี้ หรือ
(๓) แนะนำหรือสนับสนุนให้บุคคลอื่นใดกระทำการตาม (๑) หรือ (๒) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามล้านห้าแสนบาท มาตรา ๘๙ บรรดาความผิดตามพระราชกำหนดนี้ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียวหรือมีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่ความผิดตามมาตรา ๘๐ ให้ดำเนินการเปรียบเทียบในความผิดดังต่อไปนี้
(๑) ความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ให้อธิบดีมีอำนาจเปรียบเทียบโดยกำหนดค่าปรับแต่สถานเดียว
(๒) ความผิดที่มีโทษปรับหรือโทษจำคุกเกินหกเดือนแต่ไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกเกินหกเดือนแต่ไม่เกินหนึ่งปี ให้คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยอธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมการปกครอง และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว มีอำนาจเปรียบเทียบโดยกำหนดค่าปรับแต่สถานเดียว
เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ดำเนินคดีต่อไป ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
แพทองธาร ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี ที่มา: http://www.rd.go.th