พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๘๒)
พ.ศ. ๒๕๕๒
---------------------------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
เป็นปีที่ ๖๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าห้องสัมมนาและค่าห้องพักในการอบรมสัมมนาภายในประเทศให้แก่ลูกจ้าง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓(๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๘๒) พ.ศ. ๒๕๕๒"
มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วัดถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าห้องสัมมนาและค่าห้องพักในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง เป็นเวลาหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังลงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
หมายเหตุ: เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้บริการธุรกิจการท่องเที่ยวมากขึ้น สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้จัดให้มีการอบรมสัมมนาภายในประเทศให้แก่ลูกจ้างสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนาและค่าห้องพักในการอบรมดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ (ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๓๑ ก วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒)