พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๘๔)
พ.ศ. ๒๕๕๒
---------------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
เป็นปีที่ ๖๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์บางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓(๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๘๔) พ.ศ. ๒๕๕๒"
มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วัดถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด ๔ ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด ๕ และอากรแสตมป์ตามหมวด ๖ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะการโอนกิจการที่ได้กระทำในระหว่างวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
หมายเหตุ: เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันประเทศไทยประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบกิจการในประเทศไทยขาดสภาพคล่องทางการเงินหรือมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น อันส่งผลให้เกิดปัญหาในการดำเนินกิจการ ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบกิจการสามารถปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมควรยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด สำหรับการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน บางกรณี จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ (ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๓๑ ก วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒)