ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๑๘๑) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday August 4, 2009 15:45 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๑๘๑)

เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับ

ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์

-----------------------------------------

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๒ (๘)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๒๙) พ.ศ. ๒๕๓๔ และตามความในข้อ ๒ (๓๘) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๐๐ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในข้อ ๕ ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๕๕) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ และ ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“กรณีผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากตามข้อ ๒ จากทุกธนาคารรวมกัน มีจำนวนทั้งสิ้นเกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ตลอดปีภาษีนั้น ให้แจ้งแก่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าว เพื่อหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา ๕๐ (๒) และมาตรา ๕๒ แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยแต่ละแห่งได้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวมีจำนวนรวมกันทั้งสิ้นเกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ตลอดปีภาษีนั้นให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากนั้นหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา ๕๐ (๒) และมาตรา ๕๒ แห่งประมวลรัษฎากร ”

ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

วินัย วิทวัสการเวช

(นายวินัย วิทวัสการเวช)

อธิบดีกรมสรรพากร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ