ประกาศกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ ๕๔)
เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร
----------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๑๓ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศยกเลิกและแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ ๓๙) เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
ข้อ ๒ ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญดังต่อไปนี้ เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา ๑๖ แห่งประมวลรัษฎากร
(๑) สังกัดกรมสรรพากร นอกจากที่ระบุใน (๒) (๓) และ (๔) ในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
(๒) สังกัดสำนักงานสรรพากรภาค ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรภาคนั้น
(๓) สังกัดสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น เว้นแต่กรณีตรวจนับสินค้าและวัตถุดิบ ตรวจสอบยันใบกำกับภาษี และตรวจปฏิบัติการ ให้ใช้บังคับกับสถานประกอบการที่อยู่นอกเขตพื้นที่นั้นด้วย ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร หรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย
(๔) สังกัดสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขานั้น
การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่ง สำหรับกรณีการทำการประเมินภาษี การสั่งลดเบี้ยปรับเงินเพิ่มภาษี การไต่สวน สอบสวนหรือซักถามผู้เสียภาษีหรือผู้นำส่งภาษี หรือพยานบุคคล ให้กระทำได้เฉพาะเจ้าพนักงานซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหาร ประเภทอำนวยการ ประเภทวิชาการ และประเภททั่วไประดับชำนาญงานขึ้นไป แต่จะให้เจ้าพนักงานที่เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน เป็นผู้จดคำให้การก็ได้ แต่ไม่รวมถึงกรณีที่เจ้าพนักงานซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสรรพากรพื้นที่สาขา ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขานั้น
ในกรณีที่ผู้ใดได้รับหมายเรียก หรือหนังสือแจ้งความของเจ้าพนักงานตาม (๒) (๓) หรือ (๔) ดังกล่าวแล้ว ต่อมาได้ออกไปเสียจากเขตท้องที่ดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานนั้นดำเนินการตรวจสอบ และทำการประเมินหรือสั่งเรียกเก็บภาษีอากรได้จนเสร็จการ
กรณีผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นสามีภริยา ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือกรณีผู้เสียภาษีเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เลิกกิจการ ไม่ว่าจะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้วหรือไม่ หรือมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้เจ้าพนักงานประเมินตาม (๒) (๓) หรือ (๔) ดังกล่าว ซึ่งอยู่ในท้องที่อันเป็นที่อยู่อาศัยของสามี ที่ตั้งของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ที่ตั้งของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เลิกกิจการไม่ว่าจะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้วหรือไม่ หรือที่ตั้งของสถานประกอบการ ที่เป็นสำนักงานใหญ่มีอำนาจดำเนินการตามวรรคสองแก่ภริยา ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ผู้ชำระบัญชี หรือสถานประกอบการแห่งอื่นที่มิใช่สำนักงานใหญ่ได้ทุกแห่ง ถึงแม้จะอยู่ต่างท้องที่อันเป็นที่อยู่อาศัยของสามี ที่ตั้งของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ที่ตั้งของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เลิกกิจการไม่ว่าจะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้วหรือไม่ หรือที่ตั้งของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่
ข้อ ๓ ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญดังต่อไปนี้ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ นายตรวจอากรแสตมป์ตามความในมาตรา ๑๐๓ แห่งประมวลรัษฎากร
(๑) สังกัดกรมสรรพากร นอกจากที่ระบุใน (๒) (๓) หรือ (๔) ในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
(๒) สังกัดสำนักงานสรรพากรภาค ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรภาคนั้น
(๓) สังกัดสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น
(๔) สังกัดสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขานั้น
ข้อ ๔ ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญดังต่อไปนี้ เป็นเจ้าพนักงานรับแบบแสดงรายการตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
(๑) สังกัดกรมสรรพากร นอกจากที่ระบุใน (๒) (๓) และ (๔) ในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
(๒) สังกัดสำนักงานสรรพากรภาค ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรภาคนั้น
(๓) สังกัดสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น
(๔) สังกัดสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขานั้น
ข้อ ๕ เจ้าพนักงานประเมินตามข้อ ๒ พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ นายตรวจอากรแสตมป์ตามข้อ ๓ และเจ้าพนักงานรับแบบแสดงรายการ ตามข้อ ๔ ให้หมายความรวมถึงลูกจ้างประจำหรือลูกจ้างชั่วคราวสังกัดกรมสรรพากรซึ่งหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกรมสรรพากรมอบหมายให้ปฏิบัติงานในหน้าที่หรือตำแหน่งดังกล่าวด้วย เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบภาษีอากร ในกรณีที่อธิบดีกรมสรรพากรสั่งให้เจ้าพนักงานประเมิน พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ นายตรวจอากรแสตมป์ และเจ้าพนักงานรับแบบแสดงรายการตามข้อ ๒ ข้อ ๓ และข้อ ๔ ไปช่วยราชการหรือไปปฏิบัติราชการในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งให้เจ้าพนักงานดังกล่าวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒ ข้อ ๓ และข้อ ๔ ในท้องที่ที่ไปช่วยราชการหรือไปปฏิบัติราชการนั้นด้วย
ข้อ ๖ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒
กรณ์ จาติกวณิช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
(ร.จ. ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๓๐ ง วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๒)