เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๑๗๔)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบกำกับภาษีโดยตัวแทน
และกำหนดรายการในใบกำกับภาษี ตามมาตรา ๘๖/๕ (๔) แห่งประมวลรัษฎากร
-------------------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๖ วรรคสี่ และมาตรา ๘๖/๕ (๔) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔ และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๙๘ (พ.ศ.๒๕๓๘) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายสินค้าหรือการให้บริการอื่น ตามมาตรา ๘๖/๕ (๔) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกใบกำกับภาษีของการขายสินค้าหรือการให้บริการ ตามมาตรา ๘๖/๕ (๔) แห่งประมวลรัษฎากร ไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองใน (๓) ของข้อ ๑ ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๖๘) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบกำกับภาษีโดยตัวแทน และกำหนดรายการในใบกำกับภาษี ตามมาตรา ๘๖/๕ (๔) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๑๔๐) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบกำกับภาษีโดยตัวแทน และกำหนดรายการในใบกำกับภาษี ตามมาตรา ๘๖/๕ (๔) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
“กรณีตามวรรคหนึ่งผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้แจ้งต่อผู้อำนวยการสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่”
ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความใน (๔) ของข้อ ๒ ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๖๘) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบกำกับภาษีโดยตัวแทน และกำหนดรายการในใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๕ (๔) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๔) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนต้องยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษี โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามมาตรา ๘๖/๖ แห่งประมวลรัษฎากร ทุกกรณี เว้นแต่หลักเกณฑ์ ในส่วนที่ได้กำหนดไว้แล้วในประกาศฉบับนี้การยื่นคำขออนุมัติให้ยื่นต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบที่กำหนดผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่กรณีตามวรรคหนึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสถานประกอบการหลายแห่งให้ยื่นผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ และกรณีผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ให้ยื่นผ่านผู้อำนวยการสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่”
ข้อ ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองใน (๕) ของข้อ ๓ ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๖๘) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบกำกับภาษีโดยตัวแทน และกำหนดรายการในใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๕ (๔) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๑๔๐) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบกำกับภาษีโดยตัวแทน และกำหนดรายการในใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๕ (๔) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
“กรณีตามวรรคหนึ่งผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ส่งมอบต่อผู้อำนวยการสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่”
ข้อ ๔ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ที่ลงในประกาศนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒
วินัย วิทวัสการเวช
(นายวินัย วิทวัสการเวช)
อธิบดีกรมสรรพากร